Site icon Thumbsup

Ericsson มั่นใจในไทยจะเกิด 5G ในอีก 2 ปีและธุรกิจขนาดใหญ่จะใช้งานมากที่สุด

ทาง Ericsson ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ธุรกิจโทรคมนาคม ความคืบหน้าเกี่ยวกับ 5G และการเติบโตของการขยายโครงข่าย Cellular IoT เพื่อประเมิณความพร้อมในการให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์และการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ผ่านเครือข่าย พบว่า มีการเติบโตของจำนวนมือถือมากขึ้นถึง 3.5 พันล้านชิ้นภายในอีก 5 ปีเท่านั้น

ทาง Ericsson คาดว่าในปีนี้จำนวน Cellular IoT จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดือนพฤศจิกายนปี 2560 และจะโตอย่างต่อเนื่องไปถึง 35,000 ล้านชิ้นภายในปี 2566 จากปัจจัยที่ประเทศจีนวางแผนนำมาใช้งานเป็นจำนวนมาก สำหรับการให้บริการแบบ Massive IoT ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยเทคโนโลยี NB-IoT และ Cat-M1 จะเป็นตัวผลักดันสำหรับการเติบโตนี้ ซึ่งจะสร้างโอกาสแก่ผู้ให้บริการในการพัฒนาประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้า 

ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายรายทั่วโลก ได้ริเริ่มให้บริการธุรกิจ IoT ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ LTE (หรือ 4G) ไปแล้วกว่า 60 ตัวอย่าง โดยการนำ IoT ไปใช้งาน เช่น การจัดการระบบขนส่งและควบคุมขบวนยานพาหนะในอเมริกาเหนือ ส่วนจีนใช้ในการสร้างเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City และการเกษตร เป็นต้น

5G เชิงพาณิชย์พร้อมให้บริการภายในปีนี้

Ericsson คาดการณ์ว่า 5G จะเริ่มต้นที่ภูมิภาคอเมริกาเหนือเป็นอันดับต้น เนื่องจากผู้ให้บริการรายสำคัญในสหรัฐอเมริกาได้มีการวางแผนนำ 5G มาใช้ตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 โดยภายในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัครใช้งาน 5G สูงถึง 50% ของผู้ใช้งานทั้งหมดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ รองลงมาคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 34% และภูมิภาคยุโรปตะวันตกอยู่ที่ 21%

Ericsson คาดการณ์ว่าปี 2563 การใช้งาน 5G จะเริ่มมีความสำคัญเป็นอย่างมากทั่วโลก และภายในปี 2566 จะมีผู้ใช้งานบนโครงข่าย 5G ถึง 1,000 ล้านราย เพื่อที่จะยกระดับการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เทียบเท่ากับ 12% ของผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดจะอยู่บนโครงข่าย 5G

ในปี 2566 ปริมาณการใช้ข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า เป็นจำนวนถึง 107 เอ็กซะไบต์ (EB) ต่อเดือนหรือเทียบเท่ากับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดทั่วโลก ดูวีดีโอสตรีมมิ่งพร้อมกันเป็นเวลา 10  ชั่วโมงติดต่อกัน นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ข้อมูลทั่วโลกผ่านเครือข่าย 5G จะมีมากถึงถึง 20% ซึ่งมากกว่าการใช้ 4G/3G/2G ในวันนี้ รวมกันถึง 1.5 เท่า     

5G จะถูกนำมาใช้ในเขตเมืองมีความหนาแน่นของประชากรสูงก่อนเฉกเช่นเดียวกับ 2G, 3G และ 4G ทั้งนี้เนื่องจากต้องการสร้างบริการอินเตอร์ความเร็วสูงทั้งแบบเคลื่อนที่และประจำที่ยกระดับการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและ Fixed Wireless Access หลังจากนั้นก็จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค และสาธารณสุข เป็นต้น

เฟรดดริก เจดดริงค์ รองประธานบริหารและหัวหน้างานฝ่ายธุรกิจเครือข่าย กล่าวว่าปี 2561 จะเป็นปีที่สำคัญที่จะมีการให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ รวมทั้งจะมีการนำ Cellular IoT มาใช้งานจำนวนมหาศาล เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคประชาชนทั่วไปและภาคอุตสาหกรรมต่าง การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคโทรคมนาคมและและหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐร่วมมือกันในเรื่องของคลื่นความถี่ มาตรฐาน และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าอุปกรณ์ที่สามารถรองรับเทคโนโลยี 5G รุ่นแรกจะพร้อมใช้งานตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2561 เป็นต้นไป โดยสมาร์ทโฟนเครื่องแรกที่จะรองรับเทคโนโลยี 5G ในย่านความถี่ ช่วง 3.5 GHz จะเปิดตัวประมาณต้นปีหน้า ขณะที่สมาร์ทโฟนที่จะรองรับคลื่นความถี่ในย่านที่สูงขึ้นจะถูกเปิดตัวประมาณกลางปี 2562

อัพเดทสถานการณ์ในประเทศไทย

นาดีน อัลเลน ประธาน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยี LTE (หรือ 4G) จะเป็นเทคโนโลยีหลักที่สำคัญในประเทศไทยไปจนถึงปี 2566 โดยสัดส่วนปริมาณการใช้งานเทคโนโลยี LTE หรือ 4G และ 5G รวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 76% ของการใช้งานทั้งหมดในประเทศไทย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งมีสัดส่วนการสมัครใช้งานของ LTE หรือ 4G อยู่เพียง 36% เท่านั้น

“เราคาดการณ์ว่า 5G จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างปี 2563 ถึง 2565 และมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการ โดยในประเทศไทยเราประเมินว่าเทคโนโลยี 5G จะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการได้สูงขึ้นถึง 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้น 22% ของรายได้ที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2569โดยอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และความปลอดภัยด้านสาธารณะ จะมีผู้ให้บริการที่สามารถสร้างรายได้จาก 5G ได้มากที่สุด”

การสมัครใช้งานข้อมูล

จากผลสำรวจบ่งชี้ว่ารูปแบบการใช้งานข้อมูลแบบทั่วไปและการใช้งานแบบระยะยาวของแพ็คเกจใหญ่จะดึงดูดความสนใจและเพิ่มสัดส่วนการใช้งานของลูกค้าได้ดี อีริคสันได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจาก App Annie พบว่าช่วงระยะเวลาหนึ่งปี (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ถึงเมษายน 2561) สัดส่วนของผู้สมัครใช้งานแพ็คเกจสูงกว่า 5 กิกกะไบต์ (GB) ต่อเดือน เติบโตขึ้นถึง 46 ถึง 58 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนคืออัตราการเติบโตของการใช้ข้อมูลของผู้บริโภค การเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟน และแพ็คเกจข้อมูลที่น่าสนใจจากผู้ให้บริการ

การใช้งานแอพพลิเคชั่น

การใช้ข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยการบริโภคข้อมูลประเภทวิดีโอและโซเซียลมีเดียเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ อีริคสันได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจาก App Annie พบว่าช่วงระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ถึงเมษายน 2561 คนไทยใช้ Facebook ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ประมาณ 58% ในขณะที่ผู้สมัครใช้งาน Instagram เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 1 ปี

อ่านรายงาน Ericsson Mobility Report เพิ่มเติมได้ ที่นี่