Site icon Thumbsup

“ตัน” เผยเบื้องหลังการใช้ Facebook รับสมัครสุดยอดพนักงาน

วันนี้มีโอกาสได้อ่านหนังสือ “วิถีไม่ตัน” ของ “ตัน ภาสกรนที” หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกดีครับ อ่านๆ ไปแล้วผมรู้สึกได้ถึงรูปแบบการนำเสนอแบบง่ายๆ สบายๆ แบบที่เคยสัมผัสได้กับ “Brand พลิกคน คนพลิก Brand” ของ ธนา เธียรอัจฉริยะ ยังไงยังงั้น แต่ที่อ่านๆ ไปแล้วชอบก็คือความฉลาดของเขาในการใช้ Social Media อย่าง Facebook ให้เป็นประโยชน์ในการรับสมัครสุดยอดพนักงานของบริษัท “ไม่ตัน”

เรื่องนี้บางคนอาจจะรู้แล้วเพราะดังระเบิดระเบ้อทั่วเมือง แต่ถ้าคุณไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของ “ตัน” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา? ก็น่าจะพิจารณาลองอ่านดูครับ ผมนำมาเรียบเรียงอีกที เพราะในอินเทอร์เน็ตเท่าที่ดูก็ไม่ค่อยมีพูดถึงเรื่องนี้แบบเจาะลึกนัก

ในหนังสือเล่มนี้ตรงบทที่ 8 ชื่อตอนว่า “หุ้นส่วน” “ตัน” ได้เล่าถึงช่วง 6 เดือนแรกที่เขามาตั้งหลักสร้างบริษัทใหม่ ซึ่งตอนนั้นเขาจำเป็นจะต้องหาทีมงานมาร่วมหัวจมท้ายกับบริษัท “ไม่ตัน” ของเขา เขาจึงจับเอากระแสที่คนไทยชอบเล่น Facebook อยู่แล้วมาทำแคมเปญที่ชื่อว่า “The 9 Challengers”

The 9 Challenger เปิดให้คนส่งคลิปวิดีโอพรีเซนต์ตัวเองส่งไปที่? http://www.facebook.com/tanmaitan โดยใครที่ส่งเข้าไป “ตัน” และทีมงานจะดูคลิปทั้งหมดและคัดเลือกมาเป็นพนักงานของบริษัทใหม่ของเขา ซึ่งท้ายสุดพอประชาสัมพันธ์ออกไป ก็มีคนสนใจส่งคลิปไปหาเขากว่า 1,600 คลิป จากนั้นสกรีนเหลือ 30 คนร่วมเก็บตัวทำเวิร์คช็อป และท้ายสุดเลือกเหลือเพียง 9 คน ที่เด่นจริงๆ

“ตัน” เผยในหนังสือว่า ช่วงนั้นนั่งดูคลิปที่คนส่งกันเข้ามาทุกวันยันตีสองตีสาม และตัวเขาเองก็ออกเดินสายประชาสัมพันธ์โครงการนี้จนได้ทีมงานสุดเก่งออกมา งานนี้ได้ 2 เด้งเลยครับคือ ได้ทั้งคนเก่ง และประชาสัมพันธ์บริษัทใหม่ไปในเวลาเดียวกัน

โครงการ The 9 Challenger นี้มีสื่อมวลชนวิเคราะห์กันว่าเป็นนวัตกรรมในด้านการคัดเลือกคนกันเลยทีเดียว แม้ว่ามีลักษณะคล้ายรายการ The Apprentice เกมโชว์ของ เศรษฐี “โดนัล ทรัมพ์” ที่เปิดรับสมัครหนุ่มสาวทั่วประเทศส่งคลิปวิดีโอพรีเซนต์ตัวเองเพื่อสร้างจุดสนใจให้ทีมงานของทรัมพ์เลือกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรายการ The Apprentice แต่ “ตัน” เพิ่มเติมรายละเอียดอื่นๆ จนกระทั่งได้สุดยอดพนักงานมาในที่สุด

เราเรียนรู้อะไรจากตัน?
ถ้าเราดูดีๆ การส่งคลิปผ่าน Facebook? ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร คนรุ่นใหม่ชอบแสดงออกผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่ “ตัน” หยิบเอากระแสความสนใจของวัยรุ่นที่มีให้กับ Facebook มาเป็นกลยุทธ์ในการสื่อสารระหว่างคนกลุ่มเป้าหมายกับตัวเอง ผมเลยขอแอบสรุปอย่างง่ายๆ ว่าสิ่งที่เราเรียนรู้จากเขาก็คือ Facebook เป็น “Participatory Media” หรือ “สื่อที่ก่อให้เกิดความร่วมมือได้ง่าย”? มันเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและโน้มน้าวใจคนจำนวนมากได้ในเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะมีก็คือเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการที่จะโน้มน้าวให้คนจำนวนมากทำตามคุณ

มาใช้ Facebook ทำอะไรนอกจากการหวังยอดคลิก Like กันเถอะ