Site icon Thumbsup

เปิดภาพรวมแอปพลิเคชันแชท 2017 พบนิยมวิดีโอแชทเพิ่มสูง

จากการประมวลตัวเลขการใช้งานแอปพลิเคชันสำหรับแชทอย่าง Facebook Messenger, WhatsApp, Telegram ไปจนถึงแอปพลิเคชันน้องใหม่อย่าง Direct ของ Instagram ในปี 2017 พบว่าหลัก ๆ คือการได้เห็นเทรนด์การแชทผ่านวิดีโอเพิ่มสูงขึ้นถึง 17,000 ล้านครั้งในปี 2017 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงเท่าตัว


โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบน Facebook Messenger ที่ออกมาเผยว่าในแต่ละวันมีการแชทบน Messenger เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านครั้ง ส่วนการส่งอิโมจินั้นสูงถึง 500,000 ล้านครั้งต่อปี และภาพ GIF 18,000 ล้านครั้งต่อปี ส่วนวันที่มีกิจกรรมเกิดขึ้นบนแอปพลิเคชันแชทตัวนี้มากที่สุดคือวันปีใหม่ วันแม่ และวันวาเลนไทน์

นอกจากนั้นยังพบว่า การแชทแบบกลุ่มก็ได้รับความนิยมบน Messenger เช่นกัน โดยในแต่ละวันพบว่ามีการสร้างกลุ่มเกิดขึ้นเฉลี่ย 2.5 ล้านกลุ่ม ซึ่งตัวเลของผู้ใช้งานในกลุ่มโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 คน

โดยปัจจุบัน Facebook Messenger มีผู้ใช้งาน 1.3 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งการเปิดเผยพฤติกรรมของผู้ใช้งานของ Messenger นี้ช่วยให้นักการตลาดได้เข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคมากขึ้น และมองเห็นว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง

โดยนอกจาก Messenger แล้ว Facebook ยังมี WhatsApp อีกตัวที่มีผู้ใช้งานหลักพันล้านเช่นกัน ซึ่งผู้ใช้งานหลักของ WhatsApp อยู่ที่ตลาดยุโรปและอินเดีย รวมถึงเอเชียบางประเทศเช่น มาเลเซีย เป็นต้น

นอกจากนั้น แอปพลิเคชันแชทที่มีการเข้ารหัสอย่าง Telegram ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปัจจุบันอยู่ที่ 180 ล้านคนแล้ว ผู้ใช้งานกลุ่มหลักก็คือประเทศอิหร่าน ซึ่งรายงานของบลูมเบิร์กอ้างว่า เป็นเพราะผู้ใช้งานต้องการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐบาล

ส่วนที่น่าสนใจอย่างมากก็คือการเติบโตของ Instagram และการเตรียมแยกแอปพลิเคชันแชทออกมาอีกตัวหนึ่งในชื่อ Direct ซึ่งถือเป็นการเส้นทางเดียวกับที่บริษัทแม่เคยทำมาแล้วกับการแยก Messenger ออกจาก Facebook

โดยในตอนนี้ แอปพลิเคชันแชทที่แยกออกมาจาก Instagram อย่าง Direct นั้นเริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดแล้วใน 6 ประเทศ ได้แก่ อุรุกวัย, ชิลี, ตุรกี, อิตาลี, โปรตุเกส และอิสราเอล

การแยกส่วนแชทออกมาตั้งเป็นแอปพลิเคชันใหม่นี้อาจเป็นการดำเนินตามแนวทางของซีอีโอ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า อยากให้แต่ละแอปพลิเคชันโฟกัสไปที่จุดเด่นของตัวเองเพียงจุดเดียวให้ดีที่สุด ซึ่งอาจเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากแนวคิดของนักพัฒนาแอปพลิเคชันในบ้านเราหลายรายทีเดียว โดยเฉพาะประเด็นที่อยากให้แอปพลิเคชันของตัวเองเป็นแหล่งรวมของความสามารถต่าง ๆ เอาไว้ให้มากที่สุด

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Newsroom
MobileMarketer