Site icon Thumbsup

เรื่องเล่าความเจ็บปวดใจ(จากลูกค้า)… กระแสล่าสุดบนโลก Facebook Page ไทย

wall1

ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา เราจะเห็น content ประเภทเสียดแทงใจกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยเฉพาะนายจ้างที่ชื่อว่าลูกค้าและลูกจ้าที่ชื่อว่าบริษัทต่างๆ เพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนมากบนหน้า News Feed ไม่ว่าจะเป็นจากการแชร์หรือการกด Like ซึ่งก็ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากและอย่างรวดเร็ว เลยไม่ช้าที่จะขอหยิบเรื่องนี้เอามาพูดถึงสักนิดครับ ว่าทำไมเพจพวกนี้มันถึงฮิตติด News Feed ขนาดนี้

หากใครได้ติดตามเพจ Facebook ที่เกี่ยวกับการตีแผ่ความจริง(ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง) อยู่เรื่อยๆ ก็อาจจะเคยเห็นเพจนึงที่เป็นการตีแผ่เรื่องจริงในอีกด้านด้วยสไตล์ที่ไม่เหมือนใครอย่างเพจ Contrast มาแล้ว ซึ่งก็มีกลุ่มคนที่ติดตามประมาณ 1.4 แสนแฟน ณ ขณะที่เขียนอยู่นี้ แต่ในตอนนี้เริ่มมีการแตกไลน์ออกมาเป็นประเภทตามสาขาอาชีพต่างๆ ออกมาอย่างชัดเจน

ลูกค้าผู้น่ารัก (thumbsup เคยสัมภาษณ์ไปแล้ว), คนอะไรเป็นแฟนหมี , ปรัชญาครีเอถีบ, ปรัชญากราฟิกฯ, ปรัชญาเออี, เรื่องจริงผ่าน Wall และล่าสุดที่ฮิตมากในขณะที่เขียนอยู่นี้ก็คงเป็น ลูกค้าคือบร๊ะเจ้า ชื่อเหล่านี้คือตัวอย่างเพจที่ได้รับความนิยมในช่วงนี้

ด้วยความนิยมของเพจประเภทนี้ ทำให้พอจะจับรูปแบบลักษณะของคอนเทนต์ที่มีความคล้ายคลึงกันหลายจุด ลองดูกันครับว่ามันเกิดจากอะไรบ้าง

เล่าเรื่องด้วย Ugly Truth

แต่ละวงการนั้นมีเรื่องที่เรียกได้ว่า ตลกร้าย หรือ Ugly Truth มาเล่าสู่กันฟังได้เสมอ ดังนั้นเนื้อหาแทบทุกเพจที่ฮิตในตอนนี้นั่นก็คือการดึงเอาสิ่งที่มีเกิดขึ้นจริงมาเล่า ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับตัวแอดมินเองหรือเป็นเพื่อนของแอดมิน เอามาเล่าให้คนในเพจสนใจ ทุกเรื่องที่แชร์ออกไปก็คือการตีแผ่สิ่งที่เกิดขึ้นที่อ่านแล้วเจ็บจี๊ดในใจ และสามารถเชื่อได้ว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงและแทงใจคนอ่านได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในวงการที่จะต้องพูดคุยกับลูกค้านี่ มีเรื่องและเคสต่างๆ ออกมาร้อยแปดประการจริงๆ เลยกลายเป็น Key สำหรับเล่าเรื่องไปโดยปริยาย

ลักษณะการออกแบบเฉพาะตัว

ทุกเพจที่กล่างถึงจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเป็นแนว Template คือเปลี่ยนแต่ข้อความ หรือจะเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ขึ้นมาเลยเป็นผลงาน ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละอย่างก็แตกต่างกันไป สำหรับ Template ข้อดีก็คือจะเน้นตัวข้อความที่เปลี่ยนไปอย่างเดียว ส่วนพื้นหลังก็ไม่ต้องมีการเปลี่ยน ซึ่งจะสามารถสร้างผลงานได้เร็ว ส่วนถ้าต้องสร้างสรรค์เองอย่างเช่นเพจ คนอะไรเป็นแฟนหมี ก็ต้องใช้เวลาสร้างใหม่ทั้งหมดด้วยการวาด ซึ่งอาจจะเสียเวลาแต่ก็จะเป็น Signature ให้กับเจ้าของเพจและดูมีเอกลักษณ์ขึ้นทันที (ถึงแม้จะมีคนเอาไปเป็นแบบอย่าง แต่ก็ไม่สามารถทำลายลายเซ็นของเจ้าของคนแรกได้อยู่ดี)

Short but Sweet

ด้วยรูปแบบของการเล่าเรื่องบนโลกโซเชียลมีเดียที่คนนั้นมีสมาธิสั้นและจดจ่อกับสิ่งที่สนใจได้น้อยลง (ซึ่งฟังดูก็แย่นะครับ) การเล่าเรื่องของทุกเพจที่ว่ามาจะมีลักษณะสั้น กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ต้องอธิบายอะไรต่อ เพราะมันสามารถจบได้ด้วยภาพที่เล่าเรื่องมาให้เรียบร้อยแล้ว หรือจบในตัวเอง

User Generate Content

พอถึงจังหวะหนึ่งหลังจากที่ปั้นเนื้อหามาสักพักแล้ว น่าจะมีจุดที่เจ้าของเพจตัดในไอเดียหรือเรื่องเล่าหมดสต็อก ดังนั้นลูกเพจที่เรามีอยู่จะกลายเป็นเครื่องมือสร้าง Content แทนที่เราจะสร้างอยู่คนเดียว ดังที่เราจะได้เห็นการให้เครดิตแนวคิดของคนที่ส่งมาให้เพจมาทำเป็น Content อยู่เรื่อยๆ

——————————————–

สิ่งที่เป็นตัวสะท้อนได้ในเนื้อหาของเพจหากเราจะไม่มองด้านการแฉ คือการที่เราต้องเข้าใจทั้งทางฝั่งบริษัทรับทำและตัวลูกค้าว่าจะหาจุดที่จะทำให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าต่างคนต่างมีความต้องการและขีดความสามารถที่จะทำได้ ทั้งคู่ย่อมต้องรับรู้และฟังเหตุผลซึ่งกันและกันด้วย

และสำหรับหลักการที่พูดถึงไปทั้งหมดนี้ เราสามารถนำมาปรับใช้กับเพจแบรนด์หรือธุรกิจของตัวเองได้ เพราะเอกลักษณ์ของเพจย่อมเป็นลายเซ็นเป็นของตัวเอง รวมทั้งสารที่ต้องการจะสื่อไปให้คนที่ติดตามอยู่แล้วและคนที่เราจะดึงเข้ามาเป็นแฟนมาเพื่อมารับสารที่เราต้องการได้ครับ

สิ่งสำคัญคือ เราต้องหาตัวเองให้เจอว่าเราต้องการจะสื่อสารอะไร และจะเลือกสื่อสารออกมาในรูปแบบไหนครับ 🙂