Site icon Thumbsup

สายฟินเทคยังมาแรง บทสัมภาษณ์ หมู-ณัฐวุฒิ สตาร์ทอัพรุ่นเก๋ามั่นใจอีก 2-3 ปีไทยจะมียูนิคอร์นแน่นอน

ก่อนหน้านี้ ทาง Thumbsup ได้สัมภาษณ์ คุณกระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล เจ้าพ่อแห่งวงการสตาร์ทอัพไทยไป (อ่านที่นี่) และทีมงานก็ได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับวงการสตาร์ทอัพกับสตาร์ทอัพยุคบุกเบิกอย่าง Ookbee คุณหมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ที่เรียกว่าเป็นคู่หูนักปั้นของคุณกระทิง ว่าเขาเห็นด้วยกับแนวความคิดของคุณกระทิงหรือไม่

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์

 

“ผมก็คิดคล้ายๆ กระทิงนะ ว่า ยูนิคอร์นแรกของไทยคงหนีไม่พ้นอีคอมเมิร์ซกับฟินเทค เพราะภาพมันชัดมาก จากที่เห็นการระดมทุนครั้งล่าสุด แต่จะขึ้นเป็นยูนิคอร์นได้นั้นคงต้องรออีก 2-3 ปีนะ”

 

คุณณัฐวุฒิ เอ่ยกับทีมงาน Thumbsup เมื่อสอบถามว่าไทยจะมียูนิคอร์นตัวแรกในปีนี้หรือไม่ และเมื่อถามต่อไปถึงภาพของวงการสตาร์ทอัพในปัจจุบันเหมือนหรือต่างจากในอดีตไปอย่างไรบ้าง ณัฐวุฒิ ก็ขยายภาพให้เราเห็นว่า “ความตื่นเต้น” ในวันนี้มันหายไปแล้ว

ฉายภาพยุคเริ่มของสตาร์ทอัพ

หากนับเวลาย้อนกลับไปในยุคแรกที่หลายคนเริ่มปั้นวงการสตาร์ทอัพนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2012 จึงมาถึงวันนี้ก็ 7 ปีแล้ว (อ่านเพิ่มเติม) จากวันที่ ซึ่งต้องยอมรับว่าวงการนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากยุคแรกที่การเกิดของสตาร์ทอัพจะมาจากการขวนขวายของตนเองล้วนๆ ทั้งเครื่องมือ การสนับสนุน เงินทุน เพราะในอดีตคนไม่ได้เข้าใจภาพของสตาร์ทอัพมากเท่ากับยุคนี้ ที่คำว่า “สตาร์ทอัพ” ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป เพราะทุกอย่างที่ในอดีตไม่มีวันนี้กลับมีให้เห็นเยอะมาก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินทุน ที่เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจมีโอกาสให้ไขว่คว้าหลายช่องทาง ทำให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่สามารถระดมทุนได้ทั้งจากช่องทางของภาครัฐ เอกชนและสถาบันการเงิน เพื่อให้มีโอกาสในการสานต่อความฝันให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงได้

นอกจากนี้ ในยุคก่อน กว่าผู้บริโภคจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ต้องใช้เวลาถึง 72 เดือน ต่อมาในปี 2012 ใช้เวลาไม่ถึง 24 เดือน แต่ปัจจุบันใช้เวลาไม่ถึงเดือน เห็นได้จากคนที่ปรับตัวเข้าสู่ยุคโมบายเฟิร์สก็สามารถเริ่มต้นใช้งานโซเชียลมีเดียอย่าง LINE, FACEBOOK และ YOUTUBE กันได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ สตาร์ทอัพของไทยยังมีโอกาสขยายบริการไปสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้นและหลายบริษัทสามารถไปเติบโตในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว หากนับตัวเลขการลงทุนที่สตาร์ทอัพไทย เมื่อปี 2012 กว่าจะได้รับเงินทุนถึง 75 ล้านบาทนั้น ต้องนับรวม 3 บริษัท แต่ในขณะนี้ เพียงแค่สตาร์ทอัพที่มีโอกาสเติบโตก็สามารถระดมทุนได้ถึง 6 ล้านเหรียญสหรัฐในซีรี่ย์เอแล้ว

 

ถึงมาแรงแต่ยูนิคอร์นก็ยังไม่เกิด

แม้การเติบโตในวงการสตาร์ทอัพจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้มีใครที่จะขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นได้ในปีนี้

“ก็ต้องรอจังหวะนะ คือตัวเลขต้องค่อยๆ ไล่ขึ้นไป ตอนนี้ที่มีอยู่ก็หลัก 100-200 ล้านเหรียญ อีก 2-3 ปีก็น่าจะขึ้นเป็นยูนิคอร์นได้ ซึ่งที่มองไว้ว่าน่าจะมีโอกาสก็มีหลายราย เช่น Pomelo, Omise, A-commerce, Wongnai หรือ Ookbee เอง ถ้ายังมีการระดมทุนเป็นขั้นลำดับไปเรื่อยๆ ทั้ง 5 ตัวนี้ก็มีโอกาสแตะขั้นยูนิคอร์นทั้งนั้น อยู่ที่ว่าใครจะได้ก่อนหรือหลัง”

แต่ถ้าถามว่าใครโตไว หรือจะมีโอกาสที่สตาร์ทอัพหน้าใหม่เกิดขึ้นมาและขึ้นเป็นยูนิคอร์นแบบรวดเร็วใน 1-2 ปีนั้น ไม่น่าจะมี เพราะถ้าเป็นแบบนั้น จะมีความเสี่ยงในระยะยาว เพราะเราในฐานะนักลงทุนก็ไม่อยากให้เกิดสตาร์ทอัพที่โตเร็วแบบนั้น แต่อยากให้เป็นการเติบโตแบบแข็งแรงมากกว่า เพราะเงินในภาพรวมของวงการสตาร์ทอัพยังดีอยู่ แต่อยากให้สตาร์ทอัพเอง มองเรื่องการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนมากกว่า เข้ามาปั้นแอพและขายต่อให้จบไป

ในหลายประเทศจะมีให้เห็นเรื่อง Exit ไป ก็มีทั้งโดนซื้อไปทำตลาดต่อหรือหายจากตลาดไปเลย ซึ่งมันก็น่าเสียดายถ้าเป็นแบบนั้น ฉะนั้น หากอยากเป็นสตาร์ทอัพแบบยั่งยืนก็ต้องมองแผนในอนาคตให้ชัด วางแผนให้ดีว่าจะเดินไปในแนวทางไหน เพราะสตาร์ทอัพจะเกิดได้ดี วิสัยทัศน์ของผู้นำก็ต้องชัดเจนด้วย

มีน้องๆ ที่เป็นสตาร์ทอัพแล้วทาง 500tuktuks เข้าไปลงทุนหลายรายจะเห็นว่า ทุกรายที่ประสบความสำเร็จและเดินหน้าต่อได้ คือ ผู้ก่อตั้งมีความทุ่มเทและตั้งใจที่จะปั้นให้เกิดจริงๆ คือไม่อยากให้มองแค่ว่าได้เงินมาแล้วจบ แต่อยากให้มองว่าจะต่อยอดยังไง เติบโตยังไง ธุรกิจจะแข็งแรงได้อยู่ที่ความเข้าใจกันของคนในทีมด้วย

 

การศึกษาก็มาแรง แต่เน้นกระจายในหลายธุรกิจ

แม้ว่ากระแสสตาร์ทอัพด้านการศึกษาจะมาแรง และคนให้ความสนใจกันเยอะ แต่ก็ยังไม่เห็นธุรกิจใหญ่จะเข้าไปลงทุนมากนัก อย่างเมื่อก่อนที่เราเคยลงทุนใน TaamKru อันนั้นในไทยก็ไม่เด่นมากเท่ากับในต่างประเทศนะ อาจเพราะเม็ดเงินในอุตสาหกรรมการศึกษากับต่างประเทศมันดีกว่า

แต่ตอนนี้ก็เห็นหลายแอพที่น่าสนใจและเราเข้าไปลงทุนอย่าง Skillane ก็เป็นหลักสูตรเรียนออนไลน์ ที่คนมีเวลาว่างสนใจเข้าไปลงทะเบียนเรียนกัน หรืออย่าง Inskru ก็น่าสนใจ เขาเป็นแพลตฟอร์มให้ครูเข้าไปแชร์วิธีการสอนกัน ก็มีการปรับตัวและนำเครื่องมือสนุกไปใช้สอนหนังสือรูปแบบต่างๆ ก็ถือว่ามีโอกาสที่ดี

 

มองให้ต่าง โอกาสจะมาเอง

ภาพการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่สิ่งที่เราพยายามทำคือมองหาสตาร์ทอัพที่มีโอกาสเติบโต ก็เจาะไปในหลายๆ กลุ่มธุรกิจไม่ได้เฉพาะว่าจะเป็นไปในแง่ไหน แต่สตาร์ทอัพหน้าใหม่มักจะเกิดขึ้นในรูปแบบธุรกิจเดิมๆ หรือจับตลาดที่มีอยู่แล้วแบบเดิม ไม่ค่อยฉีกสักเท่าไหร่ ทำให้เหมือนไป Copy สตาร์ทอัพในต่างประเทศมาและเปลี่ยนภาษา

“เฉพาะกลุ่มมากไปก็เป็นที่สนใจน้อย แต่ถ้าแมสมากไปการแข่งขันก็สูง จึงอยากให้มองโอกาสที่คนจะเข้าถึงได้มาก ตีโจทย์ให้หลากหลาย เดี๋ยวจะรู้เองว่าโอกาสของตัวเองจะเดินไปในทางไหน”

หรือจับตลาดแค่ E-Commerce, FAshion, Payment ซึ่งตลาดเหล่านี้มันใหญ่โอกาสมันเยอะก็จริง แต่พอมันซ้ำกันมากๆ ก็เลยมีโอกาสเกิดได้ยาก ซึ่งคนที่อยากเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพอยากให้มองภาพและโอกาสให้กว้างกว่านี้ อย่ามองแค่ว่าตลาดเดิมๆ มันใหญ่แล้ว เจ้าตลาดก็มีแล้วจะเข้าไปเล่นแบบเดิมทำไม เพราะโอกาสเกิดมันยากจริงๆ จึงอยากให้คิดให้ไกลและวางแผนที่เราจะสามารถเดินไปถึง การที่คุณจะก้าวเข้าสู่การเป็นยูนิคอร์นในวงการนี้ก็จะไม่ยากอีกต่อไป