Site icon Thumbsup

Foursquare ลุยเก็บข้อมูลร้านค้าจากการ check-in

11SS_LS_Social_Foursquare_CheckinHere_500x175

ถือเป็นก้าวสำคัญของ Foursquare ที่วางแผนอัพเกรดตัวเองจากการเป็นแอพโซเชียลมีเดียทั่ว ๆ ไป ให้เป็นแหล่งข้อมูลธุรกิจ ด้วยการเปิดตัวความสามารถใหม่ที่มาพร้อมกับแอพเวอร์ชันล่าสุด

Foursquare ประกาศเปิดตัวแอพพลิเคชันเวอร์ชันอัพเดทใหม่บน Android และ iOS จุดเด่นของแอพเวอร์ชันนี้คือการเปิดให้ผู้ใช้ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมข้อมูลของร้านค้าหรือบริการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ Foursquare สามารถเป็นแหล่งเก็บข้อมูลธุรกิจในท้องถิ่นได้อย่างละเอียด ด้วยการถามคำถามเล็กน้อยเพื่อให้ชาว check-in ได้ร่วมตอบ

เมื่อผู้ใช้ทำการ check-in ร้านค้ากับ Foursquare เวอร์ชันใหม่ จะปรากฎคำถามที่เกี่ยวกับร้านค้านั้น เช่น ร้านนี้รับบัตรเครดิตหรือไม่ หรือร้านมีให้บริการโต๊ะนอกอาคารหรือเปล่า

ทั้งหมดนี้ Foursquare พยายามป้องกันไม่ให้รูปแบบการเก็บข้อมูลแบบนี้เสี่ยงต่อภาพลักษณ์ของ Foursquare ว่าดูวุ่นวายมากเกินไป ด้วยการกำหนดให้ปรากฏคำถามแสดงขึ้นมาเป็นบางครั้งเท่านั้น โดยจะพิจารณาร่วมกับพฤติกรรมของผู้ใช้ เช่นความถี่ในการ check-in หรือรูปแบบการใช้งานอื่นๆ แล้วนำข้อมูลตรงนี้มาคำนวณความถี่ในการแสดงคำถาม เนื่องจาก Foursquare เชื่อว่าจำนวนการ check-in จะสามารถสะท้อนถึงความอยากมีส่วนร่วมได้

อย่างไรก็ตาม ความนิยมของ Foursquare ถูกมองว่ากำลังอยู่ในช่วงขาลง เพราะความนิยมในการ check-in หรือการแข่งกันเป็น Mayor ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย โดยจะเห็นได้จากตัวเลขที่ทางบริษัทออกมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่ามีการ check-in เกิดขึ้น 5 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่ต่างกันกับ 1 ปีก่อนหน้านี้เลย

นักวิเคราะห์เชื่อว่า หนึ่งในภารกิจที่ Foursquare จำเป็นต้องทำในขณะนี้ คือการออกแคมเปญที่น่าสนใจเพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กระแสการ check-in กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ Foursquare มีการร่วมมือกับบริการเพลงออนไลน์ Deezer และผู้ผลิตอุปกรณ์อย่าง Samsung ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าเป็นที่น่าพอใจ โดยรายได้ของ Foursquare เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 15 – 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การปรับตัวของ Foursquare สะท้อนว่าการสร้างรายได้จากการอิงกระแสของผู้ใช้อย่างเดียวเป็นวิธีที่เริ่มไม่ได้ผลแล้วในปัจจุบัน เราจึงเห็นว่าทุกวันนี้แอพ social network ต่างก็หาทางปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง และเพิ่มความหลากหลายของบริการ เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้ ผู้พัฒนาในบ้านเราก็ควรนำแนวทางนี้ไปปรับใช้กับงานของตัวเองกันดู

ที่มา: Techcrunch