Site icon Thumbsup

มุมมอง Digital Magazine จาก @Thinkafe จะโตหรือเป็นได้แค่ “บอนไซ”

วันนี้ผมได้มีโอกาสคุยกับชายผู้หนึ่งที่ถือได้ว่าคร่ำหวอดในวงการดิจิตอล โดยเฉพาะกับเทคโนโลยีหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ กับสื่อแนวใหม่อย่างดิจิตอลแมกกาซีน ที่วันนี้เราอาจจะได้เห็นหลายต่อหลายบริษัท หรือสิ่งพิมพ์ที่เดิมอยู่ในรูปของ Hard Copy เปลี่ยนแปลงตัวเองมาอยู่บนอุปกรณ์พกพามากมาย

ชายผู้นี้มีนามว่าคุณอภิชัย เรืองศิริปิยกุล หรือ @Thinkafe ที่เชื่อว่าหลายคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้ น่าจะคุ้นชื่อคุ้นหู หรืออย่างน้อยผลงานของเขาผู้นี้ ก็น่าจะเคยผ่านสายตาใครหลายๆ ท่านไปบ้าง ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นดิจิตอลแมกกาซีนหัวใหญ่อย่าง LIPS หรือ BAZAAR ก็ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของชายผู้นี้ทั้งสิ้น ซึ่งวันนี้เราได้มีโอกาสคุยเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ มุมมอง และอนาคตของสื่อแนวใหม่ตัวนี้ ว่าจะมีโอกาสเติบโตมากน้อยแค่ไหนกันบ้าง…

@tuirung: คำถามแรกที่ส่วนตัวเองก็อยากทราบมานานแล้ว ว่าจริงๆ แล้วแมกกาซีนในรูปแบบที่เสมือน PDF แปะลงไปในแอพฯ แบบนี้เราเรียกมันว่า ดิจิตอลแมกกาซีนได้หรือไม่ครับ…

@Thinkafe:?จริงๆ แล้ว PDF Magazine นี้ก็คือ eMagazine ครับ ยังไม่ใช่ดิจิตอลแมกกาซีนเพียงแต่มันย้ายที่อยู่ จากการอ่านบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ มาอ่านที่หน้าจอ iPad หรืออุปกรณ์พวกแท๊บเล็ตเท่านั้นเองครับ ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องเสียเวลาทำให้เป็น App (อาจจะบน iOS Application) ก็ได้ เพราะเราสามารถเปิดอ่านได้จากแอพฯ บน iOS ที่ชื่อว่า iBook ได้อยู่แล้วครับ

ภาพ @Thinkafe จากการสอนที่ NESDEV

ส่วนดิจิตอลแมกกาซีนนั้นจะมีความเป็น interactive โต้ตอบกับผู้ใช้งานมากกว่า ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้ประสบการณ์ใหม่ในการอ่านมากกว่า การอ่านจากหนังสือทั่วไป และที่สำคัญ Digital Magazine ยังสามารถเก็บสถิติ (ข้อมูลทางการตลาด) การอ่านของผู้ใช้ได้อีกด้วย ซึ่งจุดนี้ ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกัน และข้อมูลนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาเนื้อหา (Content)? และนำมาสนับสนุนข้อมูลทางการตลาดได้อีกด้วย

@tuirung:?การทำดิจิตอลแมกกาซีนเล่มนึงออกมายากไหมครับ แล้วต้นทุนมันสูงไหมครับ?

@Thinkafe:?คำถามนี้ ผมขอบีบลงไปที่การพัฒนา Application ไม่เกี่ยวกับ Content นะครับ ในการพัฒนาดิจิตอลแมกกาซีนหนึ่งเล่ม ในปัจจุบันนี้ มีการพัฒนาไปมากกว่าปีก่อนมากนัก เพราะเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยส่วนตัว ผมจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามมุมมองของผมแล้วกันครับ ผมขอไม่รวมนับการทำ eMagazine ที่ทำจาก PDF นะครับ โดยแบ่งออกดังนี้

    1. ประเภท Solution: ประเภทนี้เหมาะกับสำนักพิมพ์ที่มีนิตยสาร จำนวนมาก เพราะเป็นระบบที่สมบูรณ์แบบ มีการจัดการแบบ Editorial Workflow มีการจัดการการทำงานได้รวดเร็ว โดย Solution ที่ว่านี้ก็คือซอฟท์แวร์อย่าง Adobe Digital Publishing Suit และ Woodwing? โดยทั้งสองตัว มีการตั้งต้นงานจากโปรแกรม Adobe Indesign? โดยต้นทุนในการพัฒนาจะอยู่ที่ หกหลักต้นๆ ต่อเล่มครับ หรือถ้าอยากดูราคาของ Adobe Digital Publishing Suite สามารถดูได้ที่ http://www.adobe.com/products/digitalpublishingsuite/pricing/ ครับ
    2. ประเภท Hard Coding: ประเภทนี้เหมาะกับทำเป็นเล่มๆ ส่วนบุคคล ครับ เพราะแต่ละเล่มจัดออกมาด้วยการเขียน Code ล้วนๆ ครับ โดยปัจจุบันมีการพัฒนา โดยใช้ Objective-C และ HTML5 ตลอดจัดการพัฒนาด้วย Flash Platform อย่าง Adobe Flash Professional CS5.5 และ Flash Builder ราคาจะอยู่ที่ห้าหลักต้นๆ ค่อนไปกลางๆ ขึ้นไปครับ ขึ้นกับความยากง่าย เพราะนักพัฒนาจะทำตามคำสั่ง หรือความต้องการของลูกค้า การทำงานจะไม่เร็วเท่าประเภท Solution ที่มีระบบรองรับอยู่แล้ว

@tuirung:?อะไรเป็นสาเหตุที่ดิจิตอลแมกกาซีนไม่เป็นที่แพร่หลายในบ้านเราครับ อุปสรรคที่ทำมันไม่เกิด แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่?

@Thinkafe:?จริงๆ ผมว่าสำหรับผู้อ่านนั้น ถือว่าตอบรับเป็นอย่างดีนะครับ ใครๆ ก็ชอบ แต่ที่เราไม่เห็นดิจิตอลแมกกาซีนออกมา หรือออกมาแล้วก็หายไปนั้น อาจเป็นเพราะทาง Publisher เอง มองว่ามันเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และอีกอย่างเขาอาจจะมองว่า Content ของเขาอย่างไรก็ขายได้ เพราะมีคนตามอ่านอยู่แล้ว เลยคิดประหยัด ด้วยการจัด eMagazine หรือ PDF Magazine ใส่เข้าไปในแอพฯ แทน

ซึ่งโดยส่วนตัว ตอนนี้ผมคิดว่า Publisher หลายๆ ค่าย กำลังดูและศึกษาคำว่า ?Digital Publishing? กันอยู่ ถ้าเขาพร้อมยอมรับ และปรับตัว ผมว่าเราคงจะได้เห็นดิจิตอลแมกกาซีนที่มีการสร้างประสบการณ์อ่านใหม่ๆ ให้กับผู้อ่าน ซึ่งผมขอชื่นชม และปรบมือให้กับ mars Magazine ที่มี Hard copy อยู่แล้ว แล้วจัด Digital Magazine แจกฟรีให้แฟนๆ ได้อ่าน และอีกสองหัว อย่าง Andaman 365 และ Beartai Hitext ที่เป็นดิจิตอลแมกกาซีน ทั้งที่ไม่มี Hard Copy มาก่อน นี้แสดงถึงความเข้าใจของคำว่า Digital Publishing อย่างแท้จริง

@tuirung:?มองทิศทางตลาดในบ้านเราอย่างไรบ้าง?

@Thinkafe:?มองอย่างไรนั้นหรือครับ ผมมองว่า ตลาดบ้านเรายังเปิดกว้างมาก เพราะตอนนี้ Publisher รายใหญ่ๆ ยังอยู่กับ eMagazine เสียมากกว่าในตอนนี้ นี่คงเป็นช่องให้? สำหรับ Publisher หรือ NonPublisher แจ้งเกิดได้ง่ายขึ้น ดูอย่าง Beartai Hitext หรือ Andaman 365 ที่ไม่ใช่ Publisher ยังเข้ามาได้อย่างสวยงาม คนตอบรับก็ล้นหลาม ผมว่าคนที่มี iPad ก็ต้องมี Beartai Hitext และ Andaman 365 app อยู่ข้างใน ไม่เชื่อตอนนี้คุณลองของดู iPad คนข้างๆ ได้เลย

เสริมอีกนิดครับ ผมอยากให้มองดิจิตอลแมกกาซีนนั้นเป็นเป็นสื่อยุคใหม่ เป็นช่องทางใหม่จากที่มีอยู่เดิมๆ ในการสร้างรายได้ เมื่อมันใหม่ก็ควรที่จะมีรูปแบบในการหารายได้แบบใหม่ไปด้วยครับ

@tuirung:?คิดว่านิตยสารแนวไหน น่าจะโดนกลุ่มตลาดบ้านเรามาที่สุดในช่วงนี้บ้างครับ

@Thinkafe:?โดยส่วนตัวผมคิดว่าในช่วงนี้แนว Digital Life น่าจะโดนนะครับ เพราะผู้ใช้งานที่มี Gadget ส่วนใหญ่ ก็ดำรงชีวิตแบบ Digital Life ส่วนจะทำเนื้อหา (content) ออกมาแบบไหนนั้น ผมคิดว่า ขึ้นกับการตีความของคำว่า? ?Digital Life? ของแต่ละคนครับ และผมคิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักที่จะอ่าน Digital Magazine ของเราเป็นกลุ่มแรกๆ ครับ เพราะใกล้ชิดเขามาก

รองลงมา ผมว่าน่าจะเป็นกลุ่ม ท่องเที่ยว และบันเทิงนะครับ เพราะโดยธรรมชาติของคนเรายังชอบความสนุกสนานอยู่ น่าจะเป็นอีกแนวที่น่าจับตามองครับ

@tuirung:?แล้วลองแนะนำโมเดลธุรกิจของคนที่จะทำแมกกาซีนในรูปแบบดิจิตอลซักหัวหนึ่งได้ไหมครับ

@Thinkafe:?(หัวเราะ) ผมเองคงไม่ใช่นักการตลาดอะไรนะครับ จึงไม่สามารถบอกโมเดลดีๆ ได้ แต่สามารถที่จะนำเสนอ โมเดลที่เขาใช้ๆ กันอยู่ว่าตอนนี้เขาทำกันอย่างไรดีกว่าครับ…

ในต่างประเทศ เขาหารายได้จากดิจิตอล โดยมีรายได้จากการขาย ซึ่งเขาขายกันอย่างสนุกสนาน เป็นกอบเป็นกำ ราคาต่อเล่มตกอยู่ที่ $2.99 – $5.99 (ราว 120-180 บาท) และยังมีรายได้จากผู้สนับสนุน (Sponsor) แถมมาอีกด้วย ส่วนผู้ใช้งานในบ้านเรานั้น ดูจะชอบของฟรีเป็นหลัก ทำให้ผู้ผลิตหลายราย มีการหารายได้จากผู้สนับสนุน (Sponsor) และอื่นๆ ที่ไม่ใช่การขายดิจิตอลแมกกาซีน เพื่อให้มีรายได้เข้ามา ส่วนดิจิตอลแมกกาซีนมักจะแจกฟรี แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า ถ้าเนื้อหา (Content) ที่ทำใหม่ ไม่ซ้ำกับ Hard Copy ที่ขาย อย่างไรเสียก็ขายได้ แต่บ้านเรายังไม่ค่อยเห็นมากนัก

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าดิจิตอลแมกกาซีนคือสื่อแนวใหม่ การหารายได้นั้น จากที่ผมกล่าวไป ซึ่งเป็นส่วนของปัจจุบันนั้น ในอนาคตคงต้องทำการบ้านกันพอสมควรกับการหารายได้ที่แตกต่างไป ที่ไม่ได้อยู่บนความคุ้นเคยเดิมๆ อันนี้คงต้องเป็นการบ้านไปให้คิดต่อครับ

@tuirung:?ได้ยินว่ากำลังจะทำแพลตฟอร์มของตัวเอง ที่เหมือนหน้าร้านขายหนังสือเลย เป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้เราฟังบ้างได้ไหมครับ

@Thinkafe:?ทำการบ้านมาดีจริงๆ ช่วงนี้ที่เงียบๆ ไปนั้น เพราะไปพัฒนาระบบดิจิตอลแมกกาซีน และทำหนังสือที่ใช้เทคโนโลยีอย่าง AR หรือ Augmented Reality ครับ แต่ตัวที่ถามนี้น่าจะเป็นดิจิตอลแมกกาซีนใช่ไหมครับ?

Digital Magazine shop ที่กำลังพัฒนาอยู่นี้ (จริงๆ ชื่อมันยังไม่ได้ตั้ง) ยังคงเน้นในส่วนของการ interactive และ multimedia Content ในตัวของหนังสือ ส่วน Shelf นั้นเป็นหน้าร้านที่ผู้อ่านสามารถซื้อ หรือดาวน์โหลดไปอ่านฟรีได้ แล้วแต่ฉบับครับ จริงๆ ก็เหมือนกับร้านขายหนังสือที่ใครๆ ก็สามารถนำหนังสือมาขายได้ หรือมาซื้อไปอ่านได้ ไปจนถึง เปิดให้ Publisher ติดต่อขอเช่า Shelf เพื่อไปเป็น Shelf ของตนเองได้

@tuirung:?มีกำหนดหรือยังครับ ว่าเราจะได้มีโอกาสเห็นได้เมื่อไหร่

@Thinkafe:?ขณะนี้ในส่วนของ Stand Alone App นี้เสร็จแล้ว สามารถบริการได้ แต่ในส่วนของ Shelf ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาครับ คาดว่าน่าจะเป็นไตรมาสแรกของปีหน้านะครับ เพราะติดปัญหาบางอย่างที่ไม่เป็นที่น่าพอใจครับ เลยต้องแก้ไขกันก่อน

@tuirung:?เป็นคนพัฒนาเรื่องเหล่านี้อยู่ มีดิจิตอลแมกกาซีนในดวงใจไหมครับ ที่เป็นแรงบันดาลใจอะไรทำนองนั้น แล้วอะไรคือเหตุผลที่ชอบครับ?

@Thinkafe:?มีครับ ชื่อว่า “Our Choice” ครับ ที่ชอบเพราะเทคนิดต่างๆ ที่ใช้ในเล่ม โดยเขาพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในเนื้อหา เล่นสนุกกับความสามารถของ Device รวมกันกับเนื้อหาได้อย่างลงตัว และยังทำให้ผู้อ่านคล้อยตามไปกับเนื้อหาได้อีกด้วย เรียกว่าทุกอย่างที่ใส่เข้าไปใน Our Choice ผ่านกระบวนการคิดมาแล้วทั้งสิ้น

@tuirung:?มีอะไรจะฝากถึงคนที่กำลังสนใจเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจหรือเรื่องราวเกี่ยวกับดิจิตอลแมกกาซีนไหมครับ?

@Thinkafe:?ครับ? สำหรับคนที่คิดจะทำนั้น ก็คงจะต้องมองให้ลึก คิดให้กว้าง กับวงการนี้ เพราะนอกจากเนื้อหา (Content) จะต้องดีแล้วนั้น ความเป็น interactive และความสนุกของผู้อ่าน ที่ได้ใช้ความสามารถของ? Tablet อย่าง iPad? ได้คุ้มค่า ถ้าในส่วนของ Publisher ที่มีเนื้อหา (Content) อยู่แล้ว ลองดูว่าเราจะปรับให้เนื้อหาของเราเป็น interactive ได้อย่างไร จะสร้าง Content ใหม่ๆ หรือจะปรับปรุงของเก่า เนื้อหานั้นเหมาะกับการทำ interactive? หรือไม่ ก็ควรคิดให้ดี อย่าคิดแค่ทำเพื่อให้มีเหมือนคนอื่นๆ เท่านั้น หรือทำเพราะได้ยินว่าคนนั้นก็ทำ คนนี่ก็ทำ แล้วก็อยากทำบ้าง แล้วก็เลยทำออกมาอย่างที่เห็นๆ ครับ แต่ผมก็ยังคิดว่านี่คงเป็นการเริ่มต้น และหลายๆ คนก็กำลังคิดจะทำออกมาให้ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะด้วยตนเองคิด หรือการถูกบีบจากเจ้าของหัวหนังสือที่ให้ลิขสิทธิ์มา โดยเฉพาะนิตยสารหัวนอก ที่ถูกเปรียบเทียบกับของต่างประเทศอย่างมากในเวลานี้

ส่วนบุคคลทั่วไป ที่อยากจะมี อยากจะทำ ผมคิดว่า ควรเริ่มทำเป็น Digital Book ก่อนก็ได้ครับ เป็นเล่มๆ ไม่ต้องมี Shelf จัดทำ Content ที่อยู่ใกล้ๆ ตัวก่อน แต่ถ้าบอกว่าไม่ถนัดด้าน Objective-C ในปัจจุบันเทคโนโลยีอย่าง Flash Platform อย่าง Adobe Flash Professional CS5.5 ก็สามารถที่จะพัฒนา Digital Book? ที่เป็น Interactive Book บน iOS และ Android ได้ง่ายๆ แล้วครับ…

จบไปแล้วครับกับการได้มีโอกาสคุยกับนักพัฒนา ไว้คราวหน้าหากมีโอกาส เราจะพาไปคุยกับคุณอภิชัยในเรื่องของเทคโนโลยี Augmented Reality กันบ้าง สำหรับวันนี้ต้องลากันไปก่อนนะครับ สวัสดีครับ…