Site icon Thumbsup

อย่ากลัว Gen Z: ต้องบริหารพวกเขาด้วยหลัก 3P

ช่วงกรุงเทพฯ วุ่นวายมีเหตุบอมบ์ปริศนาหลายจุด ผมเผอิญนัดกินข้าวกับพี่สาวที่นับถือ เป็นนัดที่จัดแจงกันไว้ก่อนหน้าหลายสัปดาห์ถึงใจหนึ่งจะอยากเทใจจะขาดแต่พอเห็นข้อความจากพี่สาวคนสวยแล้วก็ต้องกัดฟันตามไปที่นัดหมาย

กินข้าวแล้วพี่มีเรื่องปรึกษาด้วย…

แปลกมาก… ปกติพี่เอ (ขอใช้นามสมมตินะครับ) ไม่เคยบ่นเรื่องอะไรเลย แกเป็น HR ที่ทั้งใจดี มีเหตุผลและมีความอดทนสูงมากเท่าที่ผมเคยรู้จัก การมีเรื่องปรึกษาของพี่เอเลยสำคัญและควรต้องออกไปพบอย่างยิ่ง

พอถึงร้านจ้วงอาหารเข้าปากพอหายหิว พี่เอก็เริ่มเล่าปัญหาของแกให้ฟังสรุปคร่าวๆ ว่าเป็นเรื่องเด็กใหม่ที่แกเพิ่งรับเข้ามา น้องเพิ่งจบมหาลัยมาสดๆ ร้อนๆ อายุแค่ 22-23 ปีนับเป็น Gen Z แกเล่าว่าตอนสัมภาษณ์น้องดูเป็นคนคิดบวก ทัศนคติดี ไฟแรง พร้อมสู้งานหนัก แต่เอาเข้าจริงพอเข้ามาได้กลับเอื่อยเฉื่อย ทำงานช้า ชอบทะเลาะกับคนในทีม สุดท้ายผลงานไม่ได้คุณภาพ พาให้ผู้บริหารเพ่งเล็งจะไม่ให้น้องผ่านโปรฯ อยู่รอมร่อ ประเด็นคือตั้งแต่ปีที่แล้วแกสังเกตเห็นว่าพนักงานใหม่ที่รับเข้ามามักมีปัญหาทำนองนี้ หลายคนโดนขยายเวลาโปรฯ ขณะที่บางคนก็ต้องหางานใหม่ ร้อนถึง HR อย่างพี่เอต้องมาปวดหัวเรื่องนี้อีก

           “พี่ไม่เข้าใจว่าทำไมน้องๆ หมดไฟ ดูจากข้อสอบ ดูผลงานตอนเรียนก็เห็นว่าน้องทำได้ แต่ทำไมพอทำงานจริงดันแป๊กแบบนี้ ชักถอดใจไม่อยากรับเด็ก Gen Z แล้วสิ”

           “ผมว่าบางทีบริษัทอาจไม่ได้บริหารเด็ก Gen Z ด้วยหลัก 3P หรือเปล่าครับ”

…3P คืออะไร?

คุณๆ คงเคยได้ยิน 4P หรือ product (สินค้า), price (ราคาสินค้า), place (ช่องทางจำหน่ายสินค้า) และ promotion (รายการส่งเสริมการขาย) ที่เป็นสูตรการตลาดอมตะใช่ไหมล่ะครับ แต่สำหรับวงการ HR 2019 Florence Richard ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลผู้คว่ำหวอดในวงการ HR มากว่า 20 ปีบอกว่าเราต้องรู้จักสูตร 3P เพื่อทำความเข้าใจ Gen Z (คนที่เกิดระหว่างปี 1996-2012) ให้มากกว่านี้ จะมีอะไรบ้างลองไปดูกันครับ

1. People

สิ่งแรกๆ ที่ Gen Z ให้ความสำคัญคือ เพื่อนร่วมงานและหัวหน้า พูดง่ายๆ ว่า Gen Z อยากรู้ว่าถ้าเข้ามาทำงานจริงพวกเขาจะปรับตัวเข้ากับรุ่นพี่ได้หรือเปล่า ไม่ต้องแปลกใจถ้า Gen Z จะไม่ถามคุณถึงเนื้องาน ไม่ลังเลว่าจะทำงานไหวไหม แต่ขอคุณเดินดูแผนกหลังจบการสัมภาษณ์ เขาให้ความสำคัญกับ “สังคม” ที่ตัวเองจะเจอมากครับ

ฟังดูอาจไม่ถูกใจ Gen อื่นๆ แต่อยากให้เข้าใจว่า “งาน” ในพจนานุกรมของ GenZ นั้นไม่ได้หมายถึง ความอยู่รอด การต้องเลี้ยงพ่อแม่พี่น้องอีกหลายสิบชีวิตอีกต่อไป เพราะ Gen Z เกิดมาในยุคที่ครอบครัวสร้างทุกอย่างไว้หมด อาจไม่ได้ร่ำรวยแต่พ่อแม่พี่น้องก็พึ่งพาตัวเองได้ ดังนั้นการทำงานของ Gen Z จึงไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นแต่ทำเพื่อตัวเอง ถ้าทำแล้วไม่สบายใจ ทำแล้วกดดัน ก็ไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งให้พวกเขาอยู่ต่อมากนัก

ข้อดีของ Gen Z คือพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ชอบทำงานเป็นทีมมากครับ เพราะระบบการศึกษาแบบใหม่ที่พวกเขาร่ำเรียนมาเน้นให้พรีเซนต์งาน กล้าพูดกล้าเถียง กล้าแสดงออกกันมากขึ้น เวลามีกิจกรรมอะไรสังเกตว่า Gen Z จะเล่นใหญ่จัดเต็มกันตลอด แต่ถ้าจะรวมทีมให้ Gen Z ต้องระวังให้ดีเพราะเทคโนโลยีทำให้ช่องว่างระหว่างวัยถ่างกว้างมาก Gen อื่นมักไม่เข้าใจความคิดของ Gen Z และชอบทำตัวเป็นผู้รู้คอยสอนให้พวกเขาทำตาม ซึ่ง Gen Z ไม่ชอบให้คนมาสอนเพราะคิดว่าความรู้ทั้งหมดเสิร์จได้จากอินเตอร์เนต

แล้วจะทำยังไงถ้าคุณต้องร่วมทีมกับ Gen Z? ผมแนะนำว่าเริ่มจากการมอบหมายงานให้ก่อน ถ้าผลงานดีก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ดีคุณค่อยเอาผลงานนั้นมาชี้ให้เห็นจุดผิดพลาด เมื่อพวกเขาเห็นว่าความรู้ในอินเตอร์เนตไม่พอสำหรับการทำงานเดี๋ยวพวกเขาก็มาหาคุณเองแหละ

2. Progress

เชื่อไหมว่า Gen Z เป็นช่วงวัยที่แคร์ความก้าวหน้าสูงมากแถมยังยอมทำงานหนักสุดๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดีที่สุดและเร็วที่สุด …แต่โน้ตไว้ตัวโตๆ เลยว่าความก้าวหน้าที่เรากำลังพูดถึงนี้ไม่ใช่ความก้าวหน้าของ “บริษัท” แต่เป็นความก้าวหน้าของ “ตัวเอง” นะครับ

แม้เราจะบอกว่า Gen Z เกิดมาในยุคที่ทุกอย่างถูกสร้างไว้หมดแล้ว แต่ยุคของ Gen Z ก็เป็นช่วงที่สังคมเผชิญวิกฤตมากที่สุดเท่าที่สังคมมนุษย์เคยเจอมา ทั้งเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน การล่มสลายของบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย สงครามการค้าอันบ้าระห่ำ พวกเขาเห็นตัวอย่างของคนรุ่นปู่รุ่นพ่อที่ทุ่มเททุกอย่างให้บริษัทเพียงเพื่อสุดท้ายมาถูกเลย์ออฟตอนแก่ ไม่แปลกหรอกที่ Gen Z จะไม่ศรัทธาในระบบองค์กรและไม่ฝันหวานว่าองค์กรจะเลี้ยงตัวไปจนตาย สิ่งที่อยู่ในหัวพวกเขาคือ องค์กรนี้จะช่วยพัฒนาฉันได้แค่ไหน

องค์กรที่จะเหนี่ยวรั้ง Gen Z ให้อยู่กับบริษัทได้นานๆ จึงต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาเรียนรู้ จัดอบรมบ่อยๆ มีการแชร์ความรู้ระหว่างทีม นอกจากนั้นอาจให้พวกเขาย้ายตำแหน่งบ้างเพื่อไปเรียนรู้การทำงานแบบใหม่ๆ และตัวหัวหน้าเองก็ต้องคอยอัพเกรดตัวเองอยู่เสมอ ทำให้ Gen Z รู้สึกว่ามีอะไรที่สามารถเรียนรู้จากหัวหน้าได้ไม่สิ้นสุด

3. Product

ด้วยข้อมูลและความรู้ที่มีอยู่มากมายรอบตัวทำให้ Gen Z ชอบทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่คุณไม่คาดฝัน แถมพวกเขาก็ทำได้ด้วยสิเพราะแค่เปิดคลิปบน YouTube ก็รู้แล้วว่าจะทำยังไง

โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ยากมากของบริษัทเพราะด้านหนึ่งทุกบริษัทก็อยากได้นวัตกรรม อยากได้สินค้า อยากได้บริการใหม่ๆ ที่ช่วยให้ตลาดตื่นเต้นหรือทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ แต่อีกด้านคุณก็ไม่รู้เลยว่าไอเดียที่ Gen Z เสนอมาคืออะไรเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตมาจากข้อมูลในโลกดิจิทัลที่พวกเขาคุ้นเคย หัวหน้าหลายคนเลยสับสนว่าควรจะห้ามหรือสนับสนุนดี

ผมแนะนำว่าสิ่งที่คุณควรทำคือ “ถาม” หากคุณไม่เข้าใจไอเดียของพวกเขาก็อย่าอายที่จะถามครับ ถามทุกซอกทุกมุม ถามจากประสบการณ์ และถามให้พวกเขาเคลียร์ความคิดให้ชัดเจน เพราะแม้ข้อดีของ Gen Z คือการสร้างสรรค์แต่หลายครั้งพวกเขาก็พลีพลามและมองข้ามรายละเอียดหรือความเป็นไปได้ต่างๆ ดังนั้นการถามนอกจากจะทำให้คุณประเมินความเป็นไปได้ของไอเดียนั้นออก มันยังช่วยอุดช่องว่างของไอเดีย และเป็นการแนะนำ Gen Z ทางอ้อมอีกด้วย แถมสุดท้ายถ้าถูกถามจนเห็นชัดว่าไอเดียนั้นไปไม่รอด Gen Z ก็จะล้มเลิกสิ่งนั้นไปเอง

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าทั้งหมดที่เราเขียนมาเป็นเพียงการมองแบบเหมารวม (Stereotype) ของน้องใหม่ Gen Z ซึ่งแต่ล่ะคนก็อาจแตกต่างกันไปอีกมากมาย ดังนั้น HR ที่ดีควรสังเกตน้อง ๆ เป็นรายคนและขอคุยด้วยอย่างเปิดอกจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดครับ