Site icon Thumbsup

Co-Working Space พื้นที่ที่ต้องเป็นมากกว่าที่ทำงาน คุยกับ กวิน ว่องกุศลกิจ แห่ง Glowfish

“พื้นที่ทำงานต้องไม่เพียงตอบโจทย์ Quality of Work แต่ต้องตอบโจทย์ Quality of Life ด้วย” คุณกวิน ว่องกุศลกิจ เผยถึงเป้าหมายของ Glowfish ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ (Co-Working Space) ที่เปิดมาแล้วกว่า 8 ปี

การเปลี่ยนจากห้องสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ มาสู่พื้นที่ทำงานที่ได้รับการออกแบบทันสมัย เพียบพร้อมไปด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และสิ่งอำนวยสะดวกที่ครบครัน กลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมจากทั้งเจ้าของธุรกิจและพนักงานออฟฟิศรุ่นใหม่อย่างมาก

แต่จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หลายองค์กรมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และจะกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ของการทำงานต่อจากนี้ 

เช่นเดียวกันกับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ผมได้นัดพูดคุยกับคุณกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด และผู้ก่อตั้ง โกลว์ฟิช ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน

การปรับตัวครั้งใหญ่ของธุรกิจให้เช่าออฟฟิศ

อย่างที่เราทราบกันดีว่าหลายธุรกิจได้รับผลกระทบมีรายได้น้อยลง จนถึงขั้นไม่มีรายได้ เนื่องจากมาตรการคุ้มเข้มของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้สถานที่หลายแห่งต้องปิดบริการชั่วคราว ทำให้เจ้าของกิจการต้องเจรจาลดค่าเช่าเพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ

คุณกวินเล่าว่า “เราปรับก่อนที่เขาจะมาขอให้ปรับอีกนะครับ เราเข้าไปคุยกับลูกค้าโดยแบ่งเป็นแต่ละกรณีว่า เขาอยู่ในอุตสาหกรรมไหน ได้รับผลกระทบรึเปล่า โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เราจะลดค่าเช่าให้ค่อนข้างเยอะ จนอาจไม่คิดค่าเช่าเลย หรือลูกค้าที่ทำธุรกิจฟิตเนส ในช่วงที่ไม่สามารถเปิดบริการเนื่องจากมาตรการของรัฐ เราก็ไม่คิดค่าเช่าเลย เพราะฉะนั้นข้อดีคือเราปรับตัวเร็ว ทำให้ลูกค้าอยู่ได้และไม่ต้องออกไปเลยแม้แต่เจ้าเดียว”

“ในขณะที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ แต่ก็มีธุรกิจที่ได้รับผลบวกจากโควิดเช่นกัน อาทิ ธุรกิจออนไลน์คอนเทนต์ ธุรกิจโลจิสติก ซึ่งมีการเติบโตพร้อมกับขยับขยายพื้นที่เช่าออฟฟิศอีกด้วย สำหรับธุรกิจที่ลำบากก็มีบางส่วนที่ลดพื้นที่แต่ไม่ถึงขั้นต้องย้ายออกไป”

“แม้ช่วงแรกต้องปรับตัวกันเยอะ รายได้ลดไปบ้าง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าถ้าเขาอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้”

รายได้หลักลด ต้องเสริมช่องทางใหม่

ช่วงนั้นเรียกว่าทำทุกวิถีทางเลย เพราะเราไม่ได้มีแค่ลูกค้าที่เช่าออฟฟิศอย่างเดียว เรามีส่วนที่เป็นร้านอาหาร ฟิตเนส พื้นที่จัดคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจัดงานสัมมนาและคอนเสิร์ตกว่า 300 ครั้งต่อปี และเป็นหนึ่งในจุดแข็งของเรา

บริการที่เราเสริมขึ้นมาคือ Live-Streaming, Online Virtual Conference, Virtual Office ซึ่งเราทำได้ดีและเป็นเจ้าแรกๆ ที่ปรับงานในรูปแบบ Virtual เนื่องจากเรามีสิ่งอำนวจความสะดวกครบ ไม่ว่าจะเป็นระบบเสียง ระบบภาพ และพื้นที่ที่ลูกค้าสามารถนำอุปกรณ์มาเสริมเพิ่มเติมได้

นอกจากนี้ ในช่วงที่รัฐเริ่มผ่อนปรนมาตรการคุณกวินได้เล่าถึงทีมงานว่า “เราได้ทดลองโปรเจ็คใหม่ๆ เยอะมาก แล้วไม่ใช่ทุกโปรเจ็คที่จะสำเร็จ แต่การที่ได้ลองทำคือการฝึกทีมของเราไปด้วย โปรเจ็คหนึ่งที่สำเร็จพอสมควรคือการเอาพื้นที่มาจัดเป็น Rotating Event โดยให้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ตลาดคนรักกล้องฟิล์ม ตลาดเสื้อผ้า การรวมศิลปินใหม่ๆ มาจัดงานร่วมกัน”

“พอได้ลองแล้วมันได้รับผลตอบรับดีเกินคาด ทำให้เรามีชุมชนใหม่หมุนเวียนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่ทำงานอย่างเดียว เพราะเวลาคนทำงานก็ต้องมีปัจจัยอื่นที่เราไม่คาดคิดด้วย เช่น การนำเอาร้านตัดผมและร้านทำเล็บมารวมอยู่ในที่เดียวกันก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มพนักงานผู้หญิงอย่างมาก”

กลยุทธ์ในการเป็นออฟฟิศในฝัน

ออฟฟิศในฝันต้องถามว่าเป็นฝันของใคร ถ้าในฝันของเจ้าของกิจการ คือเราต้องยืดหยุ่นให้เขา ช่วยเขาให้มากที่สุด บางทีลูกค้าเจ้าใหญ่ๆ ให้เราทำออฟฟิศใหม่ทั้งหมดแล้วเช่าเป็นรายปีก็มี เราก็ยอมเพราะเรามี Track Record ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาแล้วไม่ออกแน่นอน  

ส่วนในฝันของพนักงาน สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการสร้างชุมชนที่ดี โดยทำให้สถานที่ทำงานเป็นที่ที่น่าอยู่สำหรับพนักงาน ยิ่งในยุคของวัยมิลเลนเนียล บริษัทจะยิ่งรักษาพนักงานได้ยากขึ้น ออฟฟิศจึงต้องมีสิ่งที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเขาให้ได้

เราทำกิจกรรม Breakfast club, Nap Room ออกแบบห้องประชุมที่สามารถนั่งทานข้าวได้ รวมไปถึงคลาสออกกำลังกาย ในช่วงแรกเรายังสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญจริงๆ รึป่าว เพราะไม่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่พอเกิดโควิดทำให้เรารู้เลยว่าสิ่งที่เราทำมันสำคัญ เพราะลูกค้าใหม่ที่เข้ามาเขาบอกว่าเลือกเราเนื่องจากมีบางอย่างที่ออฟฟิศทั่วไปไม่มี

เมื่อคนคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน อนาคตของธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซคืออะไร

อย่างแรก ถ้าจะตัดสินใจอะไรก็ตาม หรือการไปเจอลูกค้า ที่บ้านหรือคาเฟ่ก็ไม่ Professional เท่ากับที่ออฟฟิศ แต่บางทีคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้อยากออฟฟิศที่ดูเป็นทางการขนาดนั้น เพราะฉะนั้นโคเวิร์กกิ้งสเปซจึงเป็นที่ที่ Professional พอที่จะเป็นออฟฟิศ แต่ว่าก็ต้องไม่ Professional พอที่คนอยากจะไป นั่นทำให้เราได้เปรียบค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับออฟฟิศทั่วไป

อย่างที่สอง งานในลักษณะออนไลน์สามารถทำงานได้ดี แต่งานที่ต้องทำงานกับคนจำนวนมาก ยกตัวอย่างการทำอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องดีลกับผู้รับเหมา ดีไซเนอร์ กราฟิก วิดีโอ ซึ่งบางงานมันต้องมาเจอกันแบบกายภาพ เพื่อให้โปรเจ็คเดินหน้าได้

สถานการณ์โควิดทำให้คนคุ้นชินกับการทำงานที่บ้าน ดังนั้นความรู้สึกที่จะอยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศก็จะยิ่งน้อยลง เพราะฉะนั้นกลยุทธ์คือเราต้องเป็นออฟฟิศที่มีสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงกับการอยู่บ้านหรือร้านกาแฟสวยๆ ที่เขาอยากไป เพื่อให้เขาอยากเดินทางมาทำงาน สิ่งเหล่านี้คือจุดที่ได้เปรียบของโคเวิร์กกิ้งสเปซ

ปี 2020 สาหัสแต่ก็ฟันฝ่ามาได้

ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่หนักสุดสำหรับโกลว์ฟิช  แต่ว่าทีมของเราโตและเก่งขึ้น ดังนั้นสถานการณ์ที่เจอจึงไม่ได้ลำบากมาก แต่จะไปหนักที่ฝั่งลูกค้ามากกว่า ซึ่งเราก็ต้องปรับตัวตาม ถ้าเทียบกับตอนเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ถือว่าหนักกว่านี้ พอมีทีมงานดี เจอกับสถานการณ์อะไรก็ฝ่าฟันไปได้ด้วยกัน

คนในทีมเน้นทักษะอะไรเป็นหลักในช่วงวิกฤตแบบนี้

Collaboration, Creative และ Critical Thinking เพราะอะไรหลายอย่างมันเปลี่ยนไปเยอะ จะทำงานในรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้ เลยต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา 

“เดี๋ยวนี้ผมตามน้องๆ ในทีมไม่ค่อยทันแล้ว ในสภาวะที่คนรุ่นใหม่รู้จักตลาดมากกว่า ผมก็มีหน้าที่สนับสนุนเพื่อให้เขาทำงานได้สำเร็จ” คุณกวิน กล่าวเสริม

อุปสรรคและโอกาสของโคเวิร์กกิ้งสเปซ

“ผมคิดว่าคนไม่อยากทำงานออฟฟิศทั่วไปคงมากขึ้น ขณะที่โคเวิร์กกิ้งสเปซมีความต้องการมากขึ้น จากการที่พนักงานต้องการจุดลงตัวของไลฟ์สไตล์การทำงานมากขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้บริษัทใหญ่ๆ เลือกโคเวิร์กกิ้งสเปซมากขึ้น ในส่วนของสัดส่วนลูกค้าก็เปลี่ยนไปด้วย จากที่เป็น SMEs เจ้าเล็กๆ ปัจจุบันก็มีเจ้าใหญ่ๆ มากขึ้น”

“แต่นั่นหมายความว่าคู่แข่งก็จะมากขึ้น ปัจจัยที่น่ากลัวยิ่งกว่าโควิดสำหรับอุตสาหกรรมนี้คือ ประเทศไทยมีพื้นที่รีเทลเยอะ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า เมื่อคนหันไปช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ร้านค้าก็ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ห้างก็อาจจะปรับไปขายออนไลน์ และเปลี่ยนพื้นที่มาเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซหรือไม่ก็ร้านอาหาร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโควิด แต่โควิดมาทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเร็วขึ้นไปอีก”

“ดังนั้น เราก็ต้องแข่งขันกันมากขึ้น ต้องหาจุดที่ไม่เหมือนใคร และเรายืนยันว่าการสร้างชุมชนที่ดี เหมือนเป็นเพื่อนบ้านที่ดี จะทำให้โคเวิร์กกิ้งสเปซของเราน่าอยู่ ความครบครันที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทั้งที่ทำงาน ร้านอาหาร และฟิตเนส จะทำให้พนักงานอยากอยู่กับเรามากขึ้น” คุณกวิน กล่าวทิ้งท้าย