Site icon Thumbsup

ชาวเกย์น้อยใจ Google เหตุซ่อนลูกเล่นสำหรับเกย์

เราอาจจะคุ้นเคยกับการที่ Google จะสร้าง “doodles” หรือโลโก้ที่ปรับเปลี่ยนไปตามโอกาสหรืองานเทศกาลต่างๆ กันดีอยู่แล้ว อย่างที่คนไทยชอบกันก็มีรำลึกถึงนักดนตรีเลื่องชื่ออย่าง Les Paul ซึ่ง Doodles ก็จะเปลี่ยนเป็นรูปกีตาร์ และล่าสุดที่เป็นข่าวขึ้นมาก็คือ Doodles สำหรับ Gay Pride Month หรือเดือนของชาวรักร่วมเพศ ซึ่งกำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงเกย์ว่าน่าผิดหวัง

ในรายงานข่าวชิ้นนี้ระบุว่า Google ไม่ได้สร้าง Doodles เพื่อเป็นเกียรติของชาวรักร่วมเพศในหน้าแรกแบบที่เราเห็นกันเป็นปกติแต่อย่างใด แต่ในเดือนมิถุนายนนี้ Google จะทำเพียงรูปสายรุ้งเล็กๆ ปรากฏอยู่ตรงข้างๆ Search bar เมื่อเราค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับเกย์ เช่น? “gay,” “lesbian,” “homosexuality,” “LGBT,” “marriage equality,” “bisexual” และ “transgender”

ทางด้าน Google ไม่ได้ออกมาพูดอะไร แต่บอกไว้ในอีเมลที่ส่งออกไปหาผู้ใช้เพียงว่า “ในช่วงเดือนมิถุนายน Google ร่วมฉลองกับเกย์ เลสเบี้ยน และผู้แปลงเพศ โดยจะปรากฏรูปสายรุ้งที่ Search bar? ที่ Google เราจะร่วมฉลองวันหยุดเทศกาลต่างๆ และเหตุการณ์พิเศษๆ ซึ่งคุณอาจจะนึกภาพตามได้อยู่แล้วว่ามันยากสำหรับเราที่จะเลือกร่วมฉลองเหตุการณ์หรือเทศกาลไหนบนเว็บไซต์ของเรา เพราะมันเยอะเหลือเกิน”

แต่คำถามก็คือทำไมต้องปรากฏแค่เพียงเวลามีคนค้นหาคำที่เกี่ยวข้องเท่านั้น? ทำไมไม่โชว์ในหน้าแรกไปเลย

นักวิจารณ์ออกมากล่าวว่า Google ทำแบบนี้เพราะต้องการที่จะหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์จากกลุ่มต่อต้านเกย์ ซึ่งคงไม่ค่อยมาค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับเกย์มากนัก โดย Nicholas Jackson แห่ง The Atlantics (ซึ่งส่วนตัวเป็นเกย์เช่นกัน) ได้วิจารณ์ Google ว่า “น่าผิดหวัง” ที่ Google ไม่ร่วมฉลองกับชาวเกย์อย่างเต็มที่ด้วยการเฉลิมฉลองด้วย Doodles ตัวเต็มๆ แต่ในขณะเดียวกัน ด้านนิตยสาร Instinct ซึ่งเป็นนิตยสารเกย์ชื่อดังในสหรัฐฯ ก็ระบุว่าสิ่งที่ Google ทำนั้นน่ายกย่องอยู่แล้ว

สำหรับผม ลองค้นหาคำว่า “เกย์” ใน Google.co.th ก็ไม่มีรูปสายรุ้งปรากฏ ตรงนี้อาจเป็นเพราะทาง Google ในแต่ละประเทศก็มีเทศกาลต่างๆ กันไป และส่วนตัว ผมมองว่ามันก็เป็นดราม่าเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าชาวรักร่วมเพศในประเทศไทยคิดเหมือนที่นักวิจารณ์ออกมาพูดเช่นนี้หรือเปล่า หรือว่ามันเหมาะสมดีแล้ว แล้วคุณที่อาจจะไม่ได้สนใจเรื่อง Gay Pride ล่ะ คิดอย่างไรกับเรื่องนี้? แชร์กับเราได้ครับ

ที่มา: CNN