Site icon Thumbsup

Google ตัดสินใจขาย Motorola ให้ Lenovo แต่ยังคงเก็บสิทธิบัตรไว้เต็มมือ

 google-ceo-larry-page-with-lenovo-ceo-after-motorola-sale

Larry Page (CEO ของ Google) กับ Yang Yuanqing (CEO ของ Lenovo)

ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากๆ กับการที่ Motorola ได้อยู่ใต้ชายคาของ Google หลังจากที่ถูกซื้อกิจการมาในปี 2012 ด้วยมูลค่ากว่า 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 412,500 ล้านบาท) เพราะล่าสุด Google ตัดสินใจขาย Motorola ในราคาถูกให้กับ Lenovo ไปเรียบร้อยแล้ว

Google ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดของการขายกิจการ Motorola Mobility ให้กับ Lenovo ว่า มูลค่าของการขายครั้งนี้อยู่ที่เพียง 2,910 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 96,000 ล้านบาท โดย Google จะยังคงเก็บสิทธิบัตรส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการซื้อกิจการ Motorola ก่อนหน้านี้ไว้ซึ่งเดิมทีนั้น Motorola มาพร้อมกับสิทธิบัตรถึง 17,000 รายการ

ในช่วงปีเศษๆ ที่ Motorola อยู่ภายใต้บ้าน Google นั้น Moto X น่าจะถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจโดดเด่นที่สุด แต่ในส่วนของผลประกอบการนั้น ตัวเลขยังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2013 บริษัทมีรายได้ 1,180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 39,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 1,780 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 58,700 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปี 2012

ในรายละเอียดของการขายกิจการ Motorola ในครั้งนี้ Larry Page ผู้สวมบทบาท CEO ของ Google ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในสภาวะการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนที่ดุเดือดนี้ Motorola จะได้รับการดูแลที่ดีกว่าเมื่ออยู่ภายใต้ชายคาของ Lenovo ที่เป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในธุรกิจสมาร์ทโฟนและเป็นผู้ผลิต PC รายใหญ่ที่สุดของโลก และจะเปิดโอกาสให้ Google ได้ทุ่มเททรัพยากรให้กับ Android ได้อย่างเต็มที่ โดยในส่วนของสิทธิบัตรจำนวนมากที่ Google ยังคงเก็บไว้นั้นจะถูกใช้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของ Android นอกจากนั้นในส่วนธุรกิจกล่องเคเบิ้ลที่มาพร้อมกับ Motorola ก็จะถูกแบ่งขายแยกในราคา 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 82,500 ล้านบาท

ความเห็นผู้แปล

ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ Google จะให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิบัตรเป็นพิเศษและกำลังปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดนี้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของ Hardware ที่ไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตของ Google เท่าที่ควรก็ถูกขายทิ้ง นอกจากนั้นในช่วงไล่เลี่ยกัน Google ก็เพิ่งเซ็นสัญญากับ Samsung ในการเป็นพันธมิตรที่จะสามารถแบ่งปันการใช้สิทธิบัตรของทั้ง 2 บริษัทร่วมกันเป็นเวลาถึง 10 ปี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว Google ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิบัตรมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในการปกป้อง Android ที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามสิทธิบัตรกับคู่แข่งอยู่อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าแม้คราวนี้การขาย Motorola ทิ้งในราคาถูกจะดูขาดทุนในแง่ของตัวเลข แต่ด้วยจำนวนสิทธิบัตรที่ Google ยังถืออยู่ รวมทั้ง know-how จากการได้บริหารทีมงานที่ผลิต hardware ด้วยตัวเอง น่าจะถือเป็นการสร้างทั้งฐานของสิทธิบัตรและองค์ความรู้ให้กับทีมงานได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่ง Google เองคงมองว่าน่าจะคุ้มกับเม็ดเงินที่ลงทุนไปแล้ว แต่คงต้องติดตามต่อว่า Motorola ที่ต้องระหกระเหินไปอยู่ในบ้านใหม่นั้นจะมีชะตากรรมอย่างไรต่อไป

ที่มา: Business Insider