Site icon Thumbsup

นินทาไม่ใช่เรื่องเล็ก! HR ควรจัดการอย่างไรกับลูกจ้างสายเม้าท์

สำนวนไทยเรามีคำว่า “นินทากาเลเหมือนเทน้ำ” เชิงว่าปลงซะเถอะ ใครๆ ในโลกล้วนถูกนินทา แต่หากคุณเป็น HR ที่ต้องทำงานร่วมกับคนนับร้อยนับพัน รู้ไว้เลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กแน่นอนครับ

ไม่มีใครอยากให้เกิดการนินทาขึ้นในบริษัท แต่การรับมือกับมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะคุณสมบัติพิเศษคือ “จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน” กล่าวคือเราไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มนินทา ใครรู้ข่าวไปแล้วบ้าง และมันส่งผลยังไงกับพวกเขา นอกจากนั้นนิยามของคำว่านินทาก็ซับซ้อนขึ้นไปอีก อย่างเช่นถ้า สมศรีพูดถึงสมชายว่าเขากำลังคบกับพนักงานหญิงในบริษัท มานะพูดลับหลังว่าหัวหน้าไม่ได้เรื่อง สั่งงานอะไรไม่โอเคสักอย่าง หรือ ศรีสมานแอบซุบซิบว่าเพื่อนพนักงานแอบไปทำจมูกใหม่มา เราจะเรียกเรื่องพวกนี้ว่านินทาได้หรือเปล่า?

ถ้าย้อนกลับมาตั้งหลัก คิดดูดีๆ อีกครั้ง เราอาจจะเห็นได้ว่าการนินทาในที่ทำงานมีทั้งดีและไม่ดี ด้านหนึ่งการนินทาเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างพนักงานอย่างไม่เป็นทางการ เช่น เมื่อบริษัทจะโปรโมตหรือโยกย้ายตำแหน่งใคร ส่วนใหญ่คนในบริษัทก็ซุบซิบจนรู้กันไปทั่วนานแล้ว การซุบซิบแบบนี้เลยช่วยให้พนักงานเตรียมใจและหาวิธีรับมือก่อนจะเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริงๆ แต่การนินทาหลายครั้งก็เป็นภัยต่อบริษัทจริงๆ เช่น การนินทาเรื่องเมียน้อยเมียหลวง การด่าเจ้านายลับหลังแบบรุนแรง การกุเรื่องให้คนอื่นเสียหาย เหล่านี้เป็นสิ่งที่ HR นิ่งเฉยไม่ได้นะครับ

“เสียงนกเสียงกา” ทำบริษัทเสียหายมากกว่าที่คิด

อย่างน้อยที่สุดการนินทาก็ทำให้พนักงานเสียเวลาทำงาน ลด productivity ของแต่ล่ะคนลงอย่างมาก เพราะแทนที่จะใช้เวลาทำงานจริงจังก็หันมาจับกลุ่มเม้าส์มอยกันหน้าตู้กดน้ำหรือหน้าห้องน้ำซะนี่

ร้ายกว่านั้น ถ้าเกิดเหตุนินทาแรงๆ กันหลายครั้ง พนักงานจะเริ่มแตกความสามัคคี มองหน้ากันไม่ติด พวกเขาจะเริ่มเล่นพรรคเล่นพวกเหมือนสมัยเรียนม.ปลาย สุดท้ายก็ไม่เชื่อใจกันและกัน ทำงานเป็นทีมด้วยกันไม่ได้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่กลุ่มคนที่นินทาแต่พนักงานเก่งๆ ที่ต้องทำงานภายใต้ภาวะกดดันจะเริ่มเบื่อหน่าย ไม่มีสมาธิกับงาน บรรยากาศออฟฟิศก็มาคุตลอดเวลา สุดท้ายบริษัทก็จะเสียคนเก่งไปโดยใช่เหตุ เหลือแต่พนักงานเม้าส์เก่งที่ไม่ทำประโยชน์อะไร

เมื่อไหร่ HR ควรยื่นมือเข้ามาจัดการ

อย่างที่บอกไปตอนต้น การนินทาเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยากมากในบริษัทและการนินทานิดหน่อยก็ไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่การนินทานั้นๆ เริ่มส่งผลกระทบร้ายแรงต่อบริษัท พนักงาน หรือบรรยากาศการทำงาน ก็ถึงเวลาที่ HR ต้องออกโรงแล้วล่ะ สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณควรทำอะไรสักอย่างกับข่าวนินทามีดังนี้

แล้ว HR ทำอะไรได้บ้าง

มีหลายบริษัทออกนโยบายห้ามพนักงานนินทาและกำหนดโทษสูงสุดถึงขั้นไล่ออก ซึ่งวิธีรุนแรงแบบนี้ช่วงแรกๆ จะดูเหมือนได้ผลแต่ผ่านไปสักพักคนจะเริ่มกดดันและไม่ทำตามระเบียบ ก็เพราะอย่างที่ผมบอกแหละครับ การนินทาเป็นเรื่องธรรมชาติและยัง “จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน” คือไม่รู้ว่าใครเป็นคนปล่อยข่าว ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือหลอก ดังนั้น เราจึงไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการห้ามไม่ให้พนักงานนินทาแต่ต้องหาวิธีแก้ปัญหาแบบ preventive (การป้องกันเหตุ) อย่างสร้างสรรค์ และถือโอกาสพัฒนาพวกเขาไปพร้อมๆ กันด้วยเลย

การนินทากันเสียๆ หายๆ ร้อยทั้งร้อยเกิดความเหม็นหน้ากัน ทั้งเหม็นหน้าเพื่อนร่วมงาน หรือเหม็นหน้าบริษัท ทางแก้ที่ดีจึงเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ต่างหาก ซึ่งเรามีวิธีแก้ปัญหาให้คุณเลือกช็อปปิ้งมากมายครับ

ต้องยอมรับว่าการนินทากันเป็นเรื่องธรรมชาติและยากหลีกเลี่ยงได้ แต่ภาระของ HR คือต้องคอยควบคุม ดูแลและสังเกตว่าการนินทาในบริษัทของเราเริ่มขยายตัวรุนแรงมากเกินไปหรือเปล่า เบื้องต้น HR มีอำนาจเตือนทางวาจาหรือออกเอกสารเตือนอย่างเป็นทางการ กรณีร้ายแรงก็อาจชงเรื่องให้ผู้บริหารรับทราบ แต่อย่างไรก็ตาม “กันไว้ดีกว่าแก้” หากเราทำให้คนในองค์กรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การนินทาก็จะหายไปเองครับ