Site icon Thumbsup

ใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์แบบ GRAB เพิ่มโอกาสออกบริการสำหรับดูแลพาร์ทเนอร์ทุกบริการ

ท่านผู้อ่านคงเคยใช้บริการในด้านต่างๆ จาก GRAB แพลตฟอร์มขนส่งทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น เดินทาง อาหาร จัดส่งสินค้า เป็นต้น ซึ่งวันนี้ thumbsup ได้รับเกียรติเข้าร่วมสัมภาษณ์คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย ที่จะมาเล่าเกี่ยวกับการนำ Big Data ของแกร็บ มาพัฒนาออกเป็นบริการสินเชื่อทางการเงินให้แก่พาร์ทเนอร์ผู้ร่วมขับและธุรกิจในเครือให้มีเงินทุนหมุนเวียน ในยามที่เศษฐกิจไม่ดีนัก

วิสัยทัศน์ตั้งแต่วันแรกของ GRAB ที่ต้องการให้การเดินทางเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และการจัดเก็บข้อมูลที่มากมายของ GRAB ทำให้มีปริมาณข้อมูลในระบบที่เยอะมาก และ GRAB ก็พบว่าปัญหาความฉุกเฉินเรื่องเงินเป็นสิ่งที่พาร์ทเนอร์ทุกด้านของแกร็บต้องการ จึงได้เกิดหน่วยธุรกิจที่ชื่อว่า Grab Financial group ขึ้นมา เพื่อช่วยเสริมด้านการเงินทุนสำรองสำหรับพาร์ทเนอร์ที่กำลังเจอปัญหา

การใช้จ่ายแบบ Casless ภายในอีโคซิสเต็มส์

คุณวรฉัตร เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มต้นเก็บข้อมูลด้านการเงิน ทำให้ GRAB พบว่า คนไทยเข้าสู่ยุค Cashless Society กันมากขึ้น ด้วยการใช้จ่ายผ่านวอลเลต (GrabPay Wallet) หรือจ่ายผ่านบัตรเครดิต (Citi Grab) รวมทั้งการช่วยให้พาร์ทเนอร์ร่วมขับและร้านค้าในระบบมีการจ่ายและรับเงินผ่านระบบได้สะดวกขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงบริการและการใช้เงินได้สะดวกขึ้น และทั้งหมดนี้คือคลังข้อมูลในมุมของพาร์ทเนอร์ที่ร่วมงานกับ GRAB จนออกมาเป็นบริการที่รองรับความต้องการของพาร์ทเนอร์ในระบบของเรา

ตั้งแต่ GRAB Financial เปิดให้บริการเพียง 6 เดือน ตั้งแต่วันแรกของการเปิดจนถึงวันนี้ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า โดยมีการขอสินเชื่อผ่านระบบของพาร์ทเนอร์ไปแล้วถึง 20,000 ราย คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 500 ล้านบาท เชื่อว่าในสิ้นปี 2020 จะมีผู้ขอสินเชื่อกว่า 3,000 ล้านบาท ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้มากกว่า 100,000 ครัวเรือน

เช็คข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อ

ด้วยระบบฐานข้อมูลของ GRAB ทำให้การวิเคราะห์ผลทางข้อมูลมีความชัดเจน โดยนำเรื่องของข้อมูลหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การได้เครดิตสกอร์ลิ่ง พฤติกรรมการขับขี่ ซึ่งเป็นคลังข้อมูลทุกด้านมาวิเคราะห์ผลว่าพาร์ทเนอร์ท่านั้น จะได้รับวงเงินในการปล่อยสินเชื่อเท่าไหร่

โดยเงินสินเชื่อนี้ ผู้ร่วมขับจะได้รับข้อเสนอหากทำงานกับ GRAB มาได้ 3 เดือนและวิเคราะห์แล้วว่ากำลังเจอปัญหาที่ต้องใช้เงิน เมื่อระบบตรวจพบว่าพาร์ทเนอร์รายนั้น มีเครดิตสกอร์ลิ่งสูง ก็สามารถปล่อยเงินกู้ได้แบบไม่ต้องยื่นประวัติ ไม่ต้องใช้เอกสาร ชำระคืนแบบรายวัน และให้วงเงินที่เหมาะสม

“การปล่อยกู้ของเราเป็นแบบ Nano Finance และยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มสมาชิกของ GRAB ทำให้ปัญหาหนี้เสียน้อยมาก ไม่เกิน 2% และระบบบริหารจัดการก็เป็นการภายใน จึงไม่ส่งผลกับปัญหาภาพรวม”

สำหรับระบบการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ข้อสินเชื่อด้วยระบบเครดิตสกอร์ลิ่งนั้น คือ จะวิเคราะห์จากพฤติกรรมการขับขี่ ประเภทงานที่รับ ลูกค้ารีวิว จำนวนงานที่รับในแต่ละสัปดาห์ ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้ GRAB มั่นใจมากขึ้นว่าจะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ขอสินเชื่อมากน้อยแค่ไหน

ปริมาณข้อมูลที่เข้ามาในระบบแต่ละวัน มีจำนวนมหาศาล ทำให้การขอสินเชื่อจะมาจาก Base on Data ทั้งหมด และจะมีทีมงานเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และประเมินความสามารถจากด้านต่างๆ

3 กลุ่มพาร์ทเนอร์ที่จะปล่อยสินเชื่อกลุ่มแรก

สำหรับการปล่อยวงเงินสินเชื่อให้แก่พาร์ทเนอร์นั้น หากให้ GRAB ประเมินคาดว่าจะมีการเติบโตในการปล่อยสินเชื่อนี้จะโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5-6 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนในปีนี้คาดว่าจะโต 6 เท่า (จากปริมาณธุรกรรม) จากที่โตมาได้ 7 เท่าแล้วเพียงครึ่งปีที่ผ่านมา

สำหรับวงเงินที่เอามาปล่อยกู้นั้น GRAB ใช้จากการบริหารจัดการภายในของบริษัทเอง โดยกลุ่มที่จะมีการขอสินเชื่อมากที่สุด น่าจะเป็น สมาร์ทโฟน สินเชื่อเงินสด และสินเชื่อ SMEs ตามลำดับ

การปล่อยสินเชื่อหรือคิดค้นบริการใหม่ๆ จาก Big Data นั้น ถือว่าเป็นการใช้คลังข้อมูลที่มีในมืออย่างเกิดประสิทธิผล เพราะใช้จากฐานข้อมูลเดิม และการสร้างข้อมูลใหม่ มาร่วมวิเคราะห์จนสร้างโอกาสให้แก่คนที่กำลังเดือดร้อน สามารถมีทางออกและใช้ชีวิตต่อไปได้ราบรื่นขึ้น