Site icon Thumbsup

เมื่อ Grab ต้องงดฉาย “โฆษณาเลือดอาบ” หลังคนอินโดฯไม่ปลื้ม

https---blueprint-api-production.s3.amazonaws.com-uploads-card-image-217887-Screen_Shot_2016-09-21_at_5.36.20_PM

แอพพลิเคชันเช่ารถออนไลน์อย่าง Grab ตกที่นั่งลำบากในอินโดนีเซีย หลังจากชาวอิเหนาพร้อมใจต่อต้านโฆษณาชุดใหม่ที่มีนักแสดงนำพร้อมใบหน้าเปื้อนเลือดสไตล์ผีดิบ ซึ่งแม้จะอ้างว่า Grab ต้องการสื่อถึงความปลอดภัยที่เหนือกว่า แต่ชาวออนไลน์มองว่าไม่เหมาะสมแถมยังให้ร้ายบริการอื่นอย่างไร้มารยาท

ล่าสุด Grab ถอดโฆษณาตัวนี้ออกจาก YouTube แล้ว ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ยับเยินทั่ว Twitter

ข่าวนี้ของ Grab ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากตลาดอินโดนีเซียนั้นเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Grab โดยโฆษณานี้ Grab ตั้งใจท้าชนบริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่าง UberMoto รวมถึงบริการท้องถิ่นที่ครองความนิยมในตลาดอินโดฯขณะนี้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นดังหวัง เพราะชาวออนไลน์ไม่ปลื้มโฆษณาชุด “Choose Safety” หรือภาษาถิ่นว่า #PilihAman ที่ Grab ตั้งใจส่งสารว่าเป็นบริการที่ปลอดภัยกว่าบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างอื่นในท้องถนน เนื้อหาของโฆษณานี้บอกเล่าถึงหญิงสาววัย 20 ที่กำลังเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยสาวรายนี้มีใบหน้าโชกเลือดทันทีโบกมือเรียกมอเตอร์ไซค์ทั่วไป แต่เลือดเหล่านี้กลับหายไปเมื่อเธอเปลี่ยนใจหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเรียกใช้บริการ Grab

https://youtu.be/6BVbtVNtjaU

เสียงบรรยายของโฆษณามีใจความว่า “สาวรายนี้ชื่อ Dinda เธอมีอายุ 20 ปีและฝันอยากเป็นนักร้อง เธอจำเป็นต้องเลือกให้ถูก ไม่เช่นนั้นเธอจะไม่ได้เป็นนักร้อง ไม่ได้เดินทาง และไม่ได้พบกับครอบครัว แต่ Dinda เลือกได้ถูกต้อง” ขณะเดียวกัน เสียงบรรยายในโฆษณาตั้งคำถามว่า “ผู้ขับได้รับการฝึกฝนชำนาญไหม? ได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือเปล่า? ตัวรถมีการบำรุงรักษาเรียบร้อยไหม? ด้วย Grab คำตอบของทุกคำถามคือใช่ เพราะตัวคุณไม่มีอะไรทดแทนได้”

โฆษณานี้ถูกเผยแพร่บน YouTube เพียง 1 วัน (โฆษณาถูกถอดออก 20 กันยายน) เนื่องจากถูกวิจารณ์ในแง่ลบอย่างหนักด้วยข้อหาว่าเนื้อหาของโฆษณาส่อให้ผู้ชมเข้าใจผิดว่าผู้บริโภคจะได้รับอุบัติเหตุเพราะการใช้บริการรถรับจ้างของค่ายอื่น แต่ทั้งหมดนี้ Mediko Azwar โฆษก Grab ปฏิเสธ พร้อมระบุในแถลงการณ์ว่าต้องการส่งสารเรื่องความปลอดภัยของบริการ Grab เท่านั้น

ขณะนี้ วิดีโอโฆษณาความยาวเดิม 45 วินาทีถูกตัดฉากโชกเลือกออกไปเหลือ 15 วินาที และเผยแพร่บนช่อง Grab Indonesia ทาง YouTube

นี่ถือเป็นบทเรียนสำคัญของวงการโฆษณา เพราะเสียงวิจารณ์แง่ลบนั้นเหมารวมทั้งระบบผู้ที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาชิ้นนี้ โดยชาวออนไลน์จำนวนมากมองว่าไม่เพียงเอเจนซี่ผู้ออกแบบคอนเซ็ปต์และผลิตชิ้นงาน แต่แบรนด์ยังไร้วิจารณญาณ ซึ่งประโยคหลังนั้นสร้างความเสียหายให้แบรนด์อย่างครบวงจรของจริง

ที่มา : Mashable