Site icon Thumbsup

Grab เดินหน้าปั้น Grab Rewards ดึงคนใช้งานให้มากขึ้น มั่นใจยังเป็นผู้นำในธุรกิจขนส่ง

หลังการปรับเวอร์ชั่นใหม่ของ Grab หลังรวมกิจการกับ Uber เพื่อให้มีการใช้งานที่ดีขึ้น แต่กลับเจอปัญหาการแจ้งเตือนที่บ่อยเกินไป หรือการใช้ส่วนลดก็มีความวุ่นวายในการสลับหน้าไปมา ทางธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) ก็ให้คำมั่นว่าจะมีการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าสะดวกสบายในการใช้งานได้ดีขึ้นและในเดือนสิงหาคมนี้จะมีการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่ให้ลูกค้าใช้งาน Grab ได้ดีขึ้นแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรแบรนด์ชั้นนำในการมอบดีลบนโปรแกรมสะสมคะแนน Grab Reward ถือว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้ดีขึ้น โดย Grab มั่นใจว่าตนเป็นบริการรถโดยสารเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่มีบริการคะแนนสะสมให้แก่ลูกค้า สำหรับ Grab Reward จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ Silver, Gold และ Platinum ซึ่งคะแนนจะได้มาจากการใช้งานของลูกค้า และถ้าจ่ายค่าเดินทางผ่าน Grab pay จะได้คะแนนสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ทำให้มีโอกาสแลกคะแนนได้เร็วกว่าจ่ายด้วยเงินสด

ทางด้านของดีลที่ลูกค้าสามารถแลกรับได้จะมีหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก บันเทิง อิเลคทรอนิคส์และการท่องเที่ยวมากมาย โดยในช่วงแรกอาจเน้นในเรื่องของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มถึง 95% แต่ต่อไปจะขยายดีลไปในกลุ่มไลฟ์สไตล์ให้มากขึ้น

“การเพิ่มสิทธิพิเศษให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า เพราะมุ่งหวังจะเป็น superapp ในใจของคนไทย หลังเปิดให้บริการมา 5 ปีแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว มีการใช้งาน Grab เติบโตอย่างรวดเร็วถึงกว่า 1,000 ล้านรอบ จากครั้งแรกที่ใช้เวลาครบพันล้านรอบนั้นต้องรอถึง 2 ปี แต่การครบพันล้านครั้งที่ 2 ใช้เวลาเพียง 7-8 เดือนเท่านั้น และนั่นหมายความว่าประชาชนต้องการใช้บริการของเรา จนทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมาก

พยายามทำความเข้าใจภาครัฐ

แม้ว่าหลายประเทศ Grab เป็นบริการที่ถูกกฏหมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชาหรือเมียนมาร์ก็ตาม แต่ก็ยังยกเว้นไทยที่ยังไม่ผ่านเรื่องข้อกฏหมาย ทั้งที่เป็นประเทศที่มีการเติบโตเร็วที่สุดจากจำนวนประชากรที่มีกว่า 70 ล้านคน ล้วนมีประสบการณ์ในการใช้งาน Grab ทั้งสิ้น

แต่ก็ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของไทยต่อไป แม้ว่าภาครัฐของประเทศอื่นๆ จะผ่านเรื่องข้อกฏหมายแล้วก็ตาม เพราะพวกเขาเข้าใจว่า Ride Sharing มีประโยชน์ที่ดีกับประเทศมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบางประเทศมองว่าหากยุ่งยากในการเปลี่ยนกฏหมายเดิมก็ร่างกฏหมายขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับให้เกิดการใช้งานนี้ ส่วนไทยการเปลี่ยนแปลงระบบเดิมอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องยาก เพราะมีหน่วยงานหลายฝ่ายควบคุม แต่ก็หวังว่าสักวันจะผ่านขั้นตอนเหล่านี้

“ในหลายประเทศเห็นว่า Grab ช่วยเรื่องสังคมและลดมลพิษได้ดีกว่า พร้อมยืนยันว่าหากภาครัฐมีการเงื่อนไขในการประกาศรองรับบริการ Ride Sharing ที่ชัดเจน ทางพาร์ทเนอร์ร่วมขับย่อมยินดีที่จะปรับตัวตามเงื่อนไขแน่นอน”

ในวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไทยเสียโอกาสในเรื่องการเดินทางที่ผูกขาดกับระบบขนส่งสาธาณะที่อาจไม่ครอบคลุมทั่วถึง ทำให้ทุกคนจำเป็นต้องมีรถยนต์ขับซึ่งส่งผลให้เกิดมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ และการเสียเวลาในการเดินทาง อาจส่งผลให้บางคนต้องสร้างรายได้ในชีวิตไปมหาศาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจตีค่าเป็นเม็ดเงินไม่ได้ เพราะความสำคัญเรื่องเวลาอยู่ที่แต่ละบุคคล

ยิ่งในขณะนี้ กรุงเทพมีจำนวนคอนโดที่ใกล้รถไฟฟ้าเยอะมาก เพื่อรองรับการใช้ชีวิตในเมือง แต่คนพวกนี้ต่างก็ต้องมีรถขับ เพราะการเดินทางอาจไม่สะดวกสบายนัก หากมีรูปแบบของการ Ride Sharing หรือทางเดียวกันไปด้วยกันได้ น่าจะเป็นโอกาสลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนลง และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตของคนไทยที่ดีกว่าเดิม