Site icon Thumbsup

วิเคราะห์ทางอันมืดหม่น(?)ของฮ่องกง ส่งผลกระทบอย่างไรต่อไทยบ้าง

ต่างทัศนะมองสาเหตุกระพือไฟให้การประท้วงฮ่องกงยืดเยื้อกว่า 2 เดือนไว้หลากหลาย บ้างว่าความเป็น “บริเตน” ในเลือดชาวฮ่องกงทำให้ไม่มีใจสวามิภักดิ์ต่อปักกิ่ง บ้างก็ว่าความพยายามแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนคือการทรยศจิตใจคนทั้งเกาะ บ้างก็ว่าภายใต้ธงแดงห้าดาวประชากรฮ่องกงไม่มีวันได้รับความอิสระทั้งร่างกายและสิทธิตามกฎหมาย

…ไม่ปฎิเสธว่าทั้งหมดเป็นสาเหตุจริง แต่มันอาจเป็นเพียง side dish ที่เสริมทัพให้อาหารจานหลักที่เรียกว่าความเลื่อมล้ำทวีความรุนแรงจนเกิดเป็นเหตุประท้วงใหญ่ระลอกสอง

ฮ่องกงเลื่อมล้ำสุดในรอบ 45 ปี

Sit Pui-yu นักสังคมสงเคราะห์จาก Society for Community Organisation ระบุว่าสังคมฮ่องกงประสบปัญหาความเลื่อมล้ำทางฐานะมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ชาติ โดยการสำรวจเมื่อปี 2559 พบว่าค่ากลาง (median) ของรายได้ครัวเรือนกลุ่มคนรายได้สูงที่สุดในฮ่องกง 10% แรกนั้นมีรายได้อยู่ 112,450 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน (ราว 440,000 บาท) และคิดเป็น 43.9 เท่าของ 10% แรกของกลุ่มคนรายได้ต่ำสุดที่มีรายได้เฉลี่ย 2,560 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน (ราว 10,000 บาท)

พูดง่ายๆ ว่าคนจนต้องทำงาน 3 ปี 8 เดือนถึงจะมีรายได้เท่ากับแค่เดือนเดียวของพวกคนรวย ที่น่ากลัวคือคนจนดังว่ามีจำนวนถึง 1 ใน 5 ของพลเมืองฮ่องกง หรือ 1.3 ล้านคน และพวกเขาไม่ใช่ใครอื่นไกลแต่เป็นนักศึกษาเพิ่งจบ สตรี เด็ก คนชรา รวมถึงกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ

ความเลื่อมล้ำถ่างกว้างเป็นผลพวงมาจากการที่รัฐบาลจีนพยายามแทรกแซงนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจของเกาะฮ่องกงต่อเนื่องหลายปี เริ่มจากการออกนโยบายเอาใจกลุ่มทุนฮ่องกง สู่การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพตามรูปแบบเผด็จการจีนกับคนเล็กคนน้อย

จนเมื่อปี 2561 มีรายงานว่ามหาเศรษฐี 21 รายแรกของเกาะมีสินทรัพย์รวมเท่ากับเงินสํารองระหว่างประเทศของฮ่องกง 1.83 ล้านล้านฮ่องกงดอลลาร์ (ราว 7 ล้านล้านบาท)

ความเลื่อมล้ำนี้ไม่เพียงรบกวนจิตใจ แต่ยังสร้างความอัตคัตที่จับต้องได้จริงแก่ชาวฮ่องกง ราคาบ้านหรือคอนโดกลางฮ่องกงตอนนี้แพงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก สาเหตุหนึ่งมาจากการกวาดซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไรโดยเศรษฐีจากจีนแผ่นดินใหญ่ ราคาบ้านโดยเฉลี่ยตอนนี้สูงกว่ารายได้ต่อปีของคนธรรมดาถึง 14 เท่า

และพลเมืองธรรมดาต้องอาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ แออัด คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหาที่อยู่ของตนเองได้และต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่เป็นเวลานาน หลายคนต้องดูแลพ่อแม่หรือคนชราอีกด้วย เพราะระบบสวัสดิการบําเหน็จบํานาญแย่มาก

นอกจากนั้น Mercer องค์กรผู้ให้คำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจรวบรวมข้อมูลจาก 208 เมือง ใน 5 ทวีปทั่วโลกแล้ววัดค่าครองชีพจากการเปรียบเทียบราคาของ 200 รายการในแต่ละเมืองพบว่าฮ่องกงมีค่าครองชีพสูงที่สุดอันดับ 1 ของโลก

อนาคตของเกาะฮ่องกง

สมมติเล่นๆ ว่าฟ้าฝนเป็นใจผู้ประท้วงฮ่องกงชนะ รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ยอมถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนถาวรอย่างไม่มีเงื่อนไข ความน่าเศร้าคือความเลื่อมล้ำดังกล่าวมาก็ไม่มีวันหายไป

เพราะอะไร? เพราะความเลื่อมล้ำทางสังคมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญแต่เป็นการวางหมากอันแยบยลของรัฐบาลแดนมังกรแต่ต้น นับจากวันที่สหราชอาณาจักรส่งคืนเกาะฮ่องกงมา จีนก็เริ่มแทรกแซงและกำหนดนโยบายเพื่อ “กลืน” ฮ่องกงเข้าเป็นฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจมาตลอด เช่น นโยบายเอาใจกลุ่มนายทุนฮ่องกง สนับสนุนเศรษฐีจีนเข้ากว้านซื้อกิจการและอสังหาริมทรัพย์ ระบบเส้นสายทางธุรกิจ

รวมถึงการประกาศพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นซึ่งอยู่ห่างจากเกาะฮ่องกงไปเพียง 80 กิโลเมตร เป็นเขตปลอดภาษีขาเข้า มีสาธารณูปโภคพื้นฐานครบครันที่สามารถดึงดูดทุนฮ่องกงไปยังจีน ฯลฯ ทั้งหมดสร้างความอ่อนแอให้ระบบเศรษฐกิจของฮ่องกงแต่เสริมความแข็งแกร่งให้ชนชั้นนำที่สุดท้ายก็เข้าสวามิภักดิ์กับจีนแผ่นดินใหญ่

แต่ตัวแปรที่มีอิทธิพลสำคัญมากในความเห็นผู้เขียนคือ สถานะของเกาะฮ่องกงที่เริ่ม “ไม่จำเป็น” ต่อจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นทุกขณะ อย่าลืมว่ากาลครั้งหนึ่งฮ่องกงเคยเป็นประตูเสรีที่ใช้ในการเปิดรับทุนมหาศาลจากชาติตะวันตก นำพาความมั่งคั่ง เทคโนโลยี การศึกษา อุตสาหกรรม และสารพัดวิทยาการเข้ามายังจีน แต่ทุกวันนี้เศรษฐกิจของโลกเสรีนิยมมีแต่ถดถอยสวนทางกับจีดีพีของจีนที่นับวันจะโตเอาๆ

จึงไม่แปลกที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างใฝ่ฝันทำธุรกิจร่วมกับแดนมังกรและยอมหลับตาข้างหนึ่งเพื่อมองข้ามระบบการปกครองแบบจีนๆ การกดขี่ชนกลุ่มน้อย และ…แน่นอน การปราบปรามชาวฮ่องกงทั้งสองครั้ง

อาจพูดได้ว่าจีนที่โอบรับเอาเศรษฐกิจทุนนิยมสุดขั้วและถ่ายโอนความมั่งคั่งของฮ่องกงมาสู่ประเทศแม่สำเร็จไม่จำเป็นต้องพึ่งฮ่องกงเป็นสะพานสู่โลกภายนอกอีกต่อไป เมื่อหมดความสำคัญทางเศรษฐกิจ รัฐบาลกรุงปักกิ่งจึงพร้อมจะ “นวด” พลเมืองฮ่องกงให้เข้ารูปเข้ารอยและหวังให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการแปลงประเทศเสรีนิยมให้กลายเป็นเผด็จการ ทดสอบระบอบการปกครองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและสังคม แต่เปิดเสรีให้เอารัดเอาเปรียบกันทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบของประท้วงฮ่องกงต่อเศรษฐกิจไทย

อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าจีนได้ยักย้ายความมั่งคั่งของฮ่องกงไปยังแผ่นดินใหญ่เสียเยอะ ดังนั้นฮ่องกงจึงไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยเสียเท่าไหร่

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า การประท้วงที่ฮ่องกงลุกลามจนต้องปิดสนามบินนานาชาติอาจกระทบกับการขนส่งทางอากาศเพียง 1% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมดของฮ่องกงและแทบไม่มีผลต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยในภาพรวมเมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าทางเรือที่สำคัญกว่า

และแม้ฮ่องกงจะเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 5 ของไทยแต่ก็ครองสัดส่วนการส่งออกราว 4.7% ของการส่งออกทั้งหมด การประท้วงนี้จึงไม่ได้กระทบกับไทยในระดับที่รับไม่ได้

สรุปอนาคตอันน่ากลัวของฮ่องกงด้วยข้อสังเกต 3 ประการ

หนึ่ง จะพูดอย่างไรก็ตาม ฮ่องกงก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว

สอง นานาชาติไม่กล้าเสี่ยงที่จะหืออื้อกับจีนเมื่อเศรษฐกิจของตัวยังพี่งพิงกับแดนมังกรอย่างเข้มข้น

สาม คนมักพูดว่าคนฮ่องกงไม่เคยมองตัวเองเป็นจีน แต่ในทางกลับกันจีนเองก็ไม่เคยมองว่าคนฮ่องกงเป็นจีนเช่นกัน เราเห็นความพยายามของรัฐบาลจีนในการใช้ฮ่องกงเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสนามทดลองทางอุดมการณ์

ว่ากันง่ายๆ ความหวังเดียวของชาวฮ่องกง ณ เวลานี้คือการล่มสลายของรัฐบาลจีน…ซึ่งคุณว่ามันเป็นไปได้ไหมล่ะ?