Site icon Thumbsup

เอะอะเปลี่ยนงาน! ผลสำรวจความจงรักภักดีต่อบริษัทในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทุกองค์กรต้องฟัง

การทำงานในบริษัทเดียวตั้งแต่เรียนจบยันปลดเกษียณอาจไม่มีให้เห็นอีกแล้ว อ้างอิงจากผลการศึกษาล่าสุดจาก  Deloitte Millennial Survey 2016 ที่ว่าด้วยเรื่องความจงรักภักดีต่อองค์กรในกลุ่มคนรุ่นใหม่ 

25% ของกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะลาออกจากงานในปัจจุบันภายในปีหน้า ในขณะที่ 2 ใน 3 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม หรือราวๆ 66% คาดว่าจะลาออกภายในปี 2020

ผลการวิจัยนี้ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีกเมื่อซูมเข้าไปดูในรายละเอียดในแต่ละประเทศ โดยทั้ง 29 ประเทศที่เข้าไปเซอร์เวย์ ชาวมิลเลเนียลส่วนมากจะพูดตรงกันว่า ยังไงๆ ก็ไม่มีทางทำงานอยู่ในบริษัทปัจจุบันจนถึงปี 2020

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นอย่างเห็นได้ชัดระหว่างประเทศที่ตลาดกำลังเติบโต และตลาดในประเทศที่กำลังพัฒนา

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มมิลเลเนียลในประเทศเปรู (82%) แอฟริกาใต้ (76%) และอินเดีย (76%) จะเห็นตัวเองย้ายออกจากที่ทำงานเดิมภายใน 5 ปี โดย 3 ประเทศนี้ถือว่าอยู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ 69%

สำหรับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว การอยากย้ายงายของกลุ่มมิลเลเนียลจะต่ำกว่า เช่น ในอังกฤษ จะอยู่ที่ 71% ถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ตามมาด้วยอเมริกา 64% และแคนาดา 61% โดยค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศนี้อยู่ที่ 61%

เหตุผลอะไรที่ทำให้คนทำงานวัยนี้ลาออกจากบริษัท? Punit Renjen ซีอีโอของ Deloitte เสนอว่า 3 ปัจจัยที่จะกล่าวถึงในบรรทัดต่อไปนี้ คือสิ่งที่บริษัทควรทำ เมื่ออยากได้ความจงรักภักดีจากกลุ่มคนมิลเลเนียล

1. มองให้ออกว่าสิ่งสำคัญคืออะไร

คนกลุ่มนี้อยากทำงานกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมาย เช่นเดียวกันกับผลกำไร ดังนั่น การสร้างวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ

2. ทำในสิ่งที่ตัวเองเป็น

เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่มีอิสระในการคิดและให้คุณค่ากับตัวเองมากกว่าเป้าหมายของบริษัท เมื่องานมันไม่ใช่ หรือเพื่อนร่วมงานไม่ใช่ จึงไม่แปลกที่จะเซย์กู้ดบาย

3. พวกเขาต้องการความใส่ใจ

“การขาดโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำ และความรู้สึกไร้ประโยชน์” คือสิ่งที่กลุ่มคนมิลเลเนียลพูดถึงเมื่อถูกถามเรื่องการย้ายงานในอนาคตอันใกล้

การทำให้ความจงรักภักดีต่อองค์กรสูงขึ้น ถือเป็นความท้าทายที่ทุกองค์กรกำลังเผชิญอยู่ อย่างไรก็ตาม Renjen บอกว่า ผลการศึกษานี้มีแนวทางที่จะเริ่มต้นไว้ให้แล้ว และองค์กรทั่วโลกก็ไม่ควรรับรู้แต่เพียงอย่างเดียว เพราะมันถึงเวลาที่จะลงมือทำแล้ว

ที่มา : World Economic Forum