Site icon Thumbsup

เอาตัวรอดอย่างไร!! ในวันที่โลกโซเชียลมีเต็มไปด้วยเรื่อง ‘การเมือง’

ในวันที่โลกโซเชียลร้อนระอุไปด้วยเรื่องของการเมืองเนื่องจากใกล้วันเลือกตั้งแล้ว จนบางครั้งการเสพข่าวสารเรื่องการเมืองมากจนเกินไปอาจทำให้เราเกิด ‘ความเครียด’ ได้แบบไม่รู้ตัว  เราเลยลองสอบถามผู้คนรอบตัวว่าพวกเขามีวิธีบริหารความรู้สึกอย่างไรในการรับสื่อเหล่านี้ให้ยังมีสุขภาพจิตที่ดีอยู่

1. ไกรวิน วัฒนะรัตน์ CEO : AHEAD ASIA

ผมคิดว่าต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามใหม่ว่า แล้วทำไมเราถึงเครียดล่ะ ที่เราเครียดเพราะ “ข่าวการเมือง” หรือ “ความคาดหวัง” เราเองกันแน่ เพราะผมลองสังเกตดูคนส่วนใหญ่มักจะเข้าไปหาสิ่งที่เราอยากได้ยิน คนที่คิดเหมือนๆ กันมากกว่าข้อมูลข้อเท็จจริงด้วยซ้ำ ลองสังเกตได้ว่าเว็บไซต์ข่าวต่างๆ มันก็จะแบ่งออกเป็นสองฝั่งเลยนะ มติชน กับ VoiceTV หรือ Thaipost กับ TNews เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ถ้าวิธีแก้ที่ง่ายสุดก็คือ คุณก็เข้าไปอ่านเฉพาะฝั่งที่คิดเหมือนคุณ มันก็จะไม่เครียดมาก แต่ปัญหาคือคุณจะได้คิด ได้มุมมองใหม่ๆ เพิ่มหรือไม่ และจริงๆ มันเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนทำให้สังคมแบ่งเป็นสองฝ่ายหรือเปล่า แต่ถ้ายากหน่อย มันอาจเป็นโอกาสให้ตั้งคำถาม วิเคราะห์ เรียนรู้ว่าทำไม มันถึงเป็นอย่างนั้น เช่น ทำไมคนที่มีอายุเยอะหน่อยมักดูที่ใครเป็นคนพูด ดูที่ตัวบุคคล แต่คนรุ่นใหม่มักไม่สนใจมากเท่าว่าใครเป็นคนพูด แต่พูดอะไรมากกว่า

ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเด็กที่เติบโตมากับอินเตอร์เน็ต มักชินกับการใช้สถิติ-ข้อมูลในการตัดสินใจว่าคลิป YouTube นี่ดีไหม มีคนไลค์กี่คน ท็อปคอมเมนท์ หรือ รีวิวสินค้าไหนคนเห็นด้วยเยอะสุด แต่คนที่อายุเยอะหน่อยอาจยังติดที่ใครเป็นคนพูด เพราะบริบทสังคมในสมัยก่อนนั้นมันมี Gatekeeper และคนที่จะพูดได้ต้องเป็น Somebody เท่านั้นรึเปล่า

ซึ่งถ้าเรารู้จักปรับ Mindset ใช้โอกาสตรงนี้ ทำความคุ้นเคยกับความแตกต่างทางความคิด ลองมองในมุมที่เราไม่เคยมองมาก่อน มันก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเรียนรู้ และเตรียมตัวเองให้พร้อมกับสังคมประชาธิปไตย ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย มากกว่าจะมามัวเครียดเพราะคนอื่นไม่คิดเหมือนกันหรือ?

2. ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหาร : Spaceth.co

จริงๆ แล้วเราไม่ได้รู้สึกว่าการเมืองเป็นเรืองที่เครียดเมื่อพูดถึง สิ่งนี้อาจจะทำให้เรารู้สึกไม่เครียดเวลาที่เห็นข่าวการเมืองเต็มหน้า Feed ก่อนอื่นเราต้องมองก่อนว่า มนุษย์นั้นมีความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเป็นเรื่องปกติ สิ่งหนึ่งที่ช่วยก็คือ ให้มองข่าวที่เห็นเป็น 2 อย่างคือ ความจริงกับความคิดเห็น ถ้าเราแยกออกเวลาที่เราเห็นข่าวการเมืองสิ่งนี้จะช่วยให้เรามองมันเป็นธรรมชาติได้มากขึ้น มนุษย์มีความขัดแย้งเพราะความเห็นไม่ตรงกัน สิ่งนี้นำไปสู่ความจริงหรือภาวะที่มันเป็น

ยกตัวอย่างเช่น เราเห็นนักการเมืองคนนึงกำลังโจมตีนักการเมืองอีกคนอย่างเสีย ๆ หาย ๆ เรารู้ว่านี่คือความเห็น และสิ่งที่มันเป็นคือสองคนนี้ไม่ชอบกัน ถ้าเรามองมันเป็นธรรชาติแบบนี้ ก็จะช่วยให้เรา สิ่งที่เราทำได้ไม่ใช่การปิดกั้นตัวเองว่าจะไม่เสพข่าวการเมือง แต่คือการเข้าใจธรรมชาติของมัน เรามีเพื่อนหลายคนที่พยายามต่อต้าน ไม่ฟัง ไม่รับรู้กับข่าวการเมืองบนหน้า Feed แต่กลายเป็นว่า ยิ่งเราต่อต้าน เราจะยิ่งหงุดหงิดกับมัน แต่ถ้าเรามองมันเป็นเรื่องปกติมันจะมีแค่เราสนใจหรือไม่สนใจมันเท่านั้น

3. ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO : TARAD.com Group

ผมว่าคนเรามีวิธีการเอาชีวิตรอดจากความดราม่าในรูปแบบที่แตกต่างกัน อย่างวิธีการของผมเริ่มต้นด้วยการลดการอ่านข่าวการเมืองน้อยลง ไม่ต้องไปเสพมันเยอะ ถ้าลดการอ่านข่าวแล้วยังไม่หายเครียดก็ให้ไปหาอะไรบันเทิง ๆ ทำ อย่างเล่นกับลูก ปลูกต้นไม้ หรือจะใช้การดูหนัง AV ใหม่ ๆ ก็ช่วยให้บันเทิงใจไปอีกแบบ ฮ่า ๆ

4. ขจร เจียรนัยพานิชย์ Managing Director : MangoZero, Thumbsup, ParentsOne

เวลาที่โลกโซเชียลเต็มไปด้วยเรื่องการเมือง วิธีทำไม่ให้เราเครียดเรื่องการเมือง คือพยายามมองทุกเรื่องให้เป็นเรื่องตลก เราก็จะสนุกไปด้วยเอง จริง ๆ การเมืองถ้ามองให้ดีก็เหมือนข่าวบันเทิงนะ มีตัวร้าย ตัวเอก ตัวรอง บทละคร ดราม่า อิจฉา รักกัน หักหลังกัน ดูดี ๆ สนุกจะตาย

5. ธนสรณ์ เจนการกิจ Executive Creative Director : CJ WORX

เวลาถูกรายล้อมด้วยเรื่องเครียดหรือดราม่า เราจะมองมันแบบ Zoom-in / Zoom-out คือ พยายามถอยออกมามองมันแบบดูภาพรวมๆ เวลาเรามองภาพกว้างขึ้นก็จะอินน้อยลง พอเราจะตัดความอินออกไป เราก็จะเห็นความน่าจะเป็นอื่น ๆ มากขึ้น เห็นความหลากหลาย เห็นที่มาของเหตุและผลมากขึ้น แล้วมันจะรู้สึกชิล ๆ กับทุกเรื่อง

บางอย่างอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น บางเรื่องอาจมีที่มาแบบที่เราไม่ได้คิด เวลาเรามองมันจากที่ไกล ๆ เหมือนเรื่องเครียด ๆ มันก็จะเล็กลงด้วยอะ หลายครั้งที่ทำแบบนี้แล้วมันรู้สึกได้เลยว่าจากเรื่องเดียวกันเรากลับมองมันกลายเป็นเรื่องตลก เรื่องสนุกได้เหมือนกันนะ

แต่สุดท้าย ถ้าใน feed มันเครียดมากก็ปิด แล้วลองถามตัวเองว่า งานตัวเองอะเสร็จยัง? โทรหาแม่บ้างยัง? ตอบไลน์บ้านบ้างยัง? คุยกับน้อง ๆ ในทีมบ้างยัง? มีอีกหลายเรื่องให้ทำ..ให้คิด.. เราว่าทุกคนควรรู้จักบริหารระยะการถอยออกมามองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอะ

6. อริสา สุขสถาพร Co-Editor in Chief : RAiNmaker

วิธีหายเครียดจากการเสพข่าวการเมืองจากคนที่ต้องอยู่หน้าจอสื่อโซเชียลมีเดียตลอดเวลา คือไล่กดโกรธข่าวทุจริตเลือกตั้งก็บรรเทาได้ครึ่งนึง อีกครึ่งนึงก็ต้องอย่าไปใส่ใจให้มาก ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งของเราให้คุ้มค่าที่สุด

7. ทีมงาน Thumbsup in Thailand

วิธวินท์ อัศวิเวศน์ : Graphic Designer

ผมก็ยังไม่รู้จะหาวิธีแก้ยังไง เพราะตอนนี้ผมก็เครียดอยู่เหมือนกัน ยังหาทางออกไม่ได้คิดว่าหลังเลือกตั้งคงดีขึ้นครับ

เจนพสิษฐ์ ปู่ประเสริฐ : Content Creator

ต้องยอมรับว่าการเมืองต้องมีการถกเถียงความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ทุกคนไม่สามารถมองประเด็นๆ หนึ่งได้แบบมุมเดียว ในความเป็นจริงเราทุกคนมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป หากทุกคนคิดเหมือนกันแสดงว่าต้องมีอะไรไม่ปกติในระบบการเมืองแล้ว ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ได้ เราก็จะเห็นเรื่องการเมืองบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น

ดังนั้นถ้ากลัวจะเครียดจากเรื่องการเมือง ก็อาจจะลองตามเพจที่มีการแซวการเมืองตลกๆ ก็ได้ หรือเปลี่ยนไปตามเรื่องอื่นเลยสักพักก็ได้ เช่น ไปดูหนัง ฟังเพลง ดูคลิปตลกๆ เป็นต้น ก่อนจะมาตามเรื่องการเมืองต่อแบบนี้ก็ได้

ธัญชนก ศิริกาญจน์ :  Content Creator

ก่อนหน้านี้เราไม่ชอบเรื่องการเมืองเลย  เพราะรู้สึกว่ามันเครียดเกินไปมีแต่คนเถียงกันไปกันมา  แต่พอโตขึ้นระดับหนึ่งถึงได้รู้ว่าเป็น ‘เรื่องสำคัญที่ส่งผลกับทุกคน’ ทำให้เริ่มเสพเรื่องการเมืองได้แบบเข้าใจมากขึ้น  และไม่รู้สึกว่าเครียดเท่าเมื่อก่อน

เพราะมองว่าเป็นการรับข้อมูลเพื่อประโยชน์ในอนาคตของเราแทน  แต่ถ้าเครียดมาก ๆ ก็หนีไปฟังเพลงเพราะ ๆ หรือคุยกับคนข้าง ๆ (ด้วยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง) แทน

ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ : Content Creator

เลิกเล่นเฟสบุ๊คชั่วคราวมาเล่นทวิตเตอร์และอินสตาแกรมแทน หรือถ้าเบื่อก็ช้อปปิ้งออนไลน์ นอน อ่านหนังสือ มีเวลามากขึ้น ไม่เครียดด้วย

แต่ละคนก็มีวิธีจัดการกับความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป  แต่เราก็ไม่ได้คิดว่า ‘การเมือง’ เป็นเพียงเรื่องเครียดๆ เสมอไป เพราะจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันและเกี่ยวกับข้องกับทุกคน  อย่างไรก็ตามอย่าลืมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม นี้นะคะ