Site icon Thumbsup

ฟังผู้ใหญ่ใจถึง “เอนก จงเสถียร” สร้าง Too Fast To Sleep อย่างไรให้โดนใจวัยทีน

“ตอนแรกก็กะทำเล็ก ๆ พอทำเสร็จปุ๊บ เปิดสองวันแรกคนล้นเลย บางคนก็นั่งบันได นั่งระเบียงเอา บางคนเอาโคมไฟมาตั้ง อ่านหนังสือกัน” คำพูดข้างต้นเป็นของคุณเอนก จงเสถียร ผู้ก่อตั้ง Too Fast To Sleep  พื้นที่สำหรับการอ่านหนังสือของคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีบ้างกับการขาดทุนสาขาละ 100,000 – 200,000 บาท แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับมานั้นกลับประเมินค่าไม่ได้ในแง่ของตัวเงิน

คุณเอนก จงเสถียร ผู้ก่อตั้ง Too Fast To Sleep

โดยคุณเอนกชี้ว่า พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนในยุคก่อนอาจหมายถึงการนอนแต่หัวค่ำแล้วตื่นมาอ่านแต่เช้าที่หลายคนบอกว่าเป็นช่วงเวลาสมองโล่งปลอดโปร่งเหมาะแก่การจดจำเนื้อหา ทว่าในยุคปัจจุบัน ไลฟ์สไตล์เหล่านั้นดูจะเปลี่ยนไปแล้ว โดยคุณเอนกชี้ว่าเขาเห็นจากพฤติกรรมของลูกสาวและเพื่อน ๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่พบว่า คนรุ่นใหม่หันมานิยมอ่าน – ติวหนังสือในช่วงกลางคืน ซึ่งอาจไล่อ่านไปจนถึงตีสามตีสี่จึงจะเข้านอน แล้วค่อยตื่นไปเรียนประมาณ 9 โมงเช้า เรียนเสร็จกลับมานอนอีกรอบ และตื่นมาประมาณ 3 – 4 ทุ่มเพื่ออ่านหนังสืออีกรอบ  ขณะที่พื้นที่ที่จะรองรับการอ่านหนังสือ – ติวหนังสือในลักษณะนี้กลับไม่มีปรากฏในเมืองไทย เพราะห้องสมุดต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยของไทยไม่มีบริการเปิดตลอดทั้งคืนเหมือนในต่างประเทศ

ด้านคุณเอนกซึ่งเป็นนักธุรกิจในอุตสาหกรรมผู้ผลิตฟิล์มถนอมอาหาร และมีพื้นที่เล็ก ๆ อยู่ในย่านสามย่าน จึงตัดสินใจใช้พื้นที่เล็ก ๆ นั้นเปิดบริการ Too Fast To Sleep สาขาแรก และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม โดยจุดแข็งของ  Too Fast To Sleep นั้นอาจอยู่ที่การไม่เน้นขายอาหาร – เครื่องดื่ม ไม่จำเป็นว่าต้องมาแล้วสั่งอาหารในร้านจึงจะสามารถนั่งได้นาน ๆ  แถมยังมีโต๊ะ เก้าอี้ ห้องน้ำ ไวไฟ ให้บริการครบครันโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่ม

โดยคุณเอนกเล่าติดตลกว่า ก่อนหน้าที่จะเปิด  Too Fast To Sleep นั้น ตัวเขาเองเป็นคนใช้จ่ายมือเติบ เมื่อทำมาหาได้จากธุรกิจก็จะช้อปปิ้งเดือนหนึ่ง 7 หลัก แต่เมื่อมาเปิด Too Fast To Sleep และต้องวิ่งมาดูแลกลับพบว่าไม่มีเวลาใช้เงินเลย ซึ่งในจุดนี้ภรรยาของเขาชอบใจมาก และสนับสนุนให้ทำ Too Fast To Sleep ต่อเนื่องจากต่อให้สาขาจะขาดทุน 100,000 – 200,000 บาทต่อเดือน ทางบ้านก็ยังประหยัดค่าช้อปปิ้งไปได้หลายแสนบาทอยู่ดี แถมการลงมาทำ Too Fast To Sleep  นี้ยังได้ความสุขทางใจกลับมาอีกต่างหาก

“เมียนี่ดีใจที่สุดเลย ประหยัดเงินได้ 700,000 บาท แต่ความสุขของเราคือ เวลาเราได้เจอคน เราได้เห็นเด็กไทย ผมบอกเลยนะว่าคนไทยเนี่ยเก่งมาก ผมใช้คำว่าโคตรเก่ง สภาพแวดล้อมแบบนี้อ่ะนะ ผมเรียกว่าอบายมุขเพียบเลย แต่ทำไมเราไปแข่งได้รางวัลชนะเลิศล่ะ ฟิสิกส์ เคมี โอลิมปิก แปลว่าเราไม่มีที่ให้เขา เด็กที่แย่ ๆ ไม่ใช่มันอยากเกเรนะ แต่เพราะมันไม่มีที่ไป ไอ้ที่แว้น ๆ กันตอนกลางคืน ลองมีที่ให้มันนั่งที่อื่น มันจะไปแว้นทำไม ลองมีที่ให้เขาเลือกสิ ผมไม่ได้บังคับว่าต้องมานะ แต่ลองมี Second Choice วันนี้อาจไปกินเหล้า พรุ่งนี้อาจมานั่งอ่านหนังสือ เป็นช้อยส์หนึ่งให้เขาเลือก คุณไปดูสิ สาขาที่สามย่านเต็มทุกคืน”

“มีคนถามผมไม่กลัวคู่แข่งเหรอ ผมบอกไม่กลัว เปิดกันเยอะ ๆ เลยยิ่งดี”

“ผมมาเรียนหนังสือตอนแก่ไง (เคยไปเรียนต่างประเทศแต่ธุรกิจครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินจึงไม่ได้กลับไปเรียนอีกและมาเรียนอีกครั้งพร้อมกับลูก) เรียนพร้อมลูกผม ดังนั้นพอมาเห็นเด็ก ๆ เรียนกันสมัยนี้อีกทีมันมีความสุขมากนะ เวลาไปถึงร้านก็จะเอาละ แจกอะไรดี ผมก็สั่งป๊อปคอร์นแจกบ้าง  สั่งน้ำแจกบ้าง จนลูกน้องบ่น อย่าสั่งน้ำปั่นแจกได้ไหม เพราะลูกน้องจะปั่นกันตาย (หัวเราะ)”

นอกจากนั้น คุณเอนกยังได้เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งวิกฤติค่าเงินบาท ซึ่งทำให้บริษัทของเขาตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ด้วยว่า ลูกน้องเดินมาถามเช่นกันว่าจะทำอย่างไร พร้อมกับเสนอทางออกว่าควรลดเงินเดือนทุกคนคนละ 8% บริษัทก็จะอยู่ได้ ผมก็มาถามผู้บริหารว่าลูกน้องเขาจะลดเงินเดือนคนละ 8% พวกลื้อจะเอายังไง งั้นลดเงินเดือนคนละ 15% แล้วกัน สองเท่าของลูกน้อง พอสามปีเราพ้นวิกฤติ ผมนับเลยนะ ลูกน้องแต่ละคน ผมติดอยู่เท่าไร ผมคืนให้เขาหมด มันเหมือนเราเป็นหนี้เขา บางคนรับเงินตกใจเลยนะ วิ่งมาหาเรา คุณเอนก ไล่ผมออกทำไม (หัวเราะ) เขานึกว่าให้ซองขาว”

กลับมาที่ Too Fast To Sleep คุณเอนกได้เล่าถึงหลาย ๆ เคสที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เขาทำ  Too Fast To Sleep ไม่ว่าจะเป็นการได้พบเจอเด็ก ๆ หลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ไม่มีบ้านนอนในตอนกลางคืน ต้องออกมาใช้ชีวิตตามท้องถนน ซึ่งเคสที่เขาประทับใจที่สุดคือ มีเด็กคนหนึ่งมาที่ร้านตอนสี่ทุ่ม และถามว่าถ้าไม่มีเงินนั่งได้ไหม ลูกน้องในร้านตอบว่าได้ จากนั้น เด็กคนดังกล่าวก็มาที่ร้านทุกวัน มานั่งอ่านหนังสือ ตอนสี่ทุ่ม และจะออกจากร้านตอนตีห้า เป็นแบบนี้ทุกวัน จนวันหนึ่งเขาไปที่ร้าน จึงได้คุยกับเด็กคนดังกล่าวและพบความจริงที่ว่า บ้านของเด็กคนนั้นอาจไม่เหมือนครอบครัวที่อบอุ่นทั่วไป

“บ้านเขามีสี่คน พ่อแม่พี่ชายแล้วก็เขา เป็นห้องเช่าเล็ก ๆ นอนได้สี่คนพอดี วันดีคืนดีพี่ชายพาเมียมา ตัวเขาก็ไม่มีที่นอน ทุกคืน เขาจะออกไปอยู่ข้างนอก ริมฟุตบาท ไม่มีเงินจะไปนั่งร้านเกมก็ไม่ได้ ผลการเรียนก็ได้ 1.8 กว่า ๆ คือเกือบจะรีไทร์แล้ว แต่หลังจากนั้นเขาก็มาที่ร้าน อ่านหนังสือตอนกลางคืน เขาจบปริญญาตรีด้วยคะแนนเกือบ 2 กว่า ๆ เกือบ 3.0”

บรรยากาศเมื่อครั้งเปิดตัวที่สาขาสยามสแควร์ในชื่อ Too Fast To Sleep.SCB

“วันจบเขามาหาลูกน้องผม แล้วบอกว่า ขอบคุณมากนะ แต่ต่อไปนี้เขาคงไม่ได้มาใช้บริการแล้ว ลูกน้องมาเล่าให้ฟัง ผมนี่โกรธมาก คนแบบนี้น่าจะเอาไว้ เพราะคนแบบนี้เคยอยู่เฉียดนรกมาแล้ว แต่สามารถถีบตัวเองจนข้ามมาสวรรค์ได้ คนแบบนี้ที่ต้องเก็บเอาไว้”

“ผมบอกลูกน้องเลยว่า จำไว้นะ เด็กบางคนไม่มีตังค์นะ ยี่สิบบาทก็ไม่มี ซึ่งการทำธุรกิจแบบนี้ทำให้บางคนบอกเอนกบ้าไปแล้ว ผมไม่สน เพราะตายไปก็เอาเงินไปไม่ได้”

อย่างไรก็ดี ความใจดี CSR ของ Too Fast To Sleep นอกจากจะทำให้เป็นแบรนด์ในใจของเด็ก ๆ นักศึกษาแล้ว ยังอาจทำให้แบรนด์ดังกล่าวก้าวขึ้นไปอีกขั้นสู่ความเป็น Mass  ซึ่งเป็นไปได้ ว่า หาก Too Fast To Sleep ก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ธุรกิจนี้อาจเริ่มมี “กำไร” เพราะสเกลในการให้บริการที่เติบโตมากขึ้นด้วย โดยในตอนนี้ Too Fast To Sleep มีทั้งสิ้น 4 สาขาได้แก่ สาขาสามย่าน เกษตร ศาลายา และสยามสแควร์ ซึ่งเป็นการเปิดร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์นั่นเอง

“อาจไมไ่ด้กำไรหวือหวา 5 – 10% ต่อปีก็พอแล้ว เพราะอย่าลืมว่าธุรกิจนี้มันจะขาดรายได้ช่วงปิดเทอม ที่เด็ก ๆ กลับบ้านกันหมด ไม่มีใครมามหาวิทยาลัย รายได้อาจหายไป 90% ก็ต้องเอารายได้ช่วงพีค ๆ มาเฉลี่ยกัน” คุณเอนกกล่าวปิดท้าย