Site icon Thumbsup

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Google Assistant

เตรียมเปิดให้บริการแบบภาษาไทยอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้าแล้ว สำหรับ Google Assistant ผู้ช่วยอัจฉริยะที่พัฒนาจากระบบ AI รองรับภาษาไทยเป็นภาษาที่ 10 ไม่ว่าเสียงของคุณจะเป็นอย่างไร หรือสำเนียงจะท้องถิ่นแค่ไหนก็ใช้งานได้ แค่คำพูดต้องเป็นภาษากลางเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าหากเครือข่ายดี คำถามไม่ซับซ้อน Google ก็จะตอบกลับอย่างรวดเร็ว

คุณศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค แนะนำข้อควรรู้ของ Google Assistant มาให้ทุกคนได้รับทราบกันค่ะ

  1. ระบบ Google Assistant ใช้หลักการในการพัฒนามาจาก 4 เรื่อง คือ Machine Learning, Speech recognition, Natural language processing และ Context awareness มารวมกัน ทำให้สามารถรองรับการทำงานได้อย่างชาญฉลาด

2. ประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศแรกเมื่อพิจารณาจากการเข้าใช้งาน Google และอัตราการใช้ผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด ซึ่งภายในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้ 30 ภาษาใน 80 ประเทศ

3. เรียกฟังเพลงจาก 3 แอป Global Partners ได้ โดย Google Assistant จะใช้ได้คำสั่งเสียงเพื่อฟังเพลงกับ 3 แอปพลิเคชั่น คือ YouTube, Google Play และ Spotify ซึ่งเป็น Global Partner กันเท่านั้น ส่วนแอพอื่นๆ ยังต้องรอดูว่าจะมีความร่วมมือหรือไม่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีนะคะ

4. เบื้องต้นสามารถใช้งานผ่านมือถือก่อน แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อื่นๆ อย่าง Google Home หรือ Pixel สั่งด้วยภาษาไทยไม่ได้ ยังต้องใช้งานเป็นภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเป็นการสั่งงาน YouTube เพื่อต่อสัญญาณขึ้น ChromeCast นั้นทำได้ค่ะ

5. Google เปิดให้บริการเครื่องมือนี้มาตั้งแต่ปี 2016 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้มีคนเข้ามาใช้งานผ่านสมาร์ทดีไวซ์ถึง 500 ล้านเครื่อง ส่วนในไทยไม่ได้ตั้งความหวังว่าจะมีคนใช้งานเท่าไหร่ แต่มั่นใจว่าคนที่ใช้มือถือบนระบบปฏิบัติการ Android รุ่น Lollipop ขึ้นไป ที่มีกว่า 54 ล้านเครื่อง น่าจะมีการใช้งานเกือบทั้งหมด เพราะแค่กดปุ่มโฮมก็ใช้งานได้แล้ว ส่วนระบบปฏิบัติการ iOS ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมาไว้ในเครื่องก่อน แต่ก็ใช้งานไม่ยากเช่นกัน

6. จุดเด่นอีกอย่างคือ ไม่ต้องใช้ภาษาทางการระบบก็เข้าใจคำพูดได้ หากมีการถามในเรื่องเดียวกันสามารถถามอย่างต่อเนื่องได้ เช่น สภาพอากาศวันนี้เป็นอย่างไร ระบบจะตอบกลับมาอย่างรวดเร็วว่า ร้อน หนาว หรือกำลังจะมีฝนตก และหากถามต่อว่า ที่ชลบุรีฝนตกหรือไม่ ก็สามารถตอบในเรื่องราวที่ต่อเนื่องได้ด้วย

ดูแล้วอยากลองใช้กันหรือยังคะ เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกของผู้ใช้งานจนกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ใช้มือถือขาดไม่ได้ นอกเหนือจาก Search และ Map แน่นอนเลยค่ะ