Site icon Thumbsup

HSBC สำรวจพบไบโอเมทริกซ์ขึ้นแท่น”วิธียืนยันตัวตน”แห่งอนาคต

เมื่อเอ่ยถึงเครื่องมือในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลต้องบอกว่าปัจจุบันมีออกมาให้ใช้งานกันมากมายเต็มไปหมด ซึ่งธุรกิจที่มีการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้มากที่สุดในปัจจุบันหนีไม่พ้นบรรดาสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารต่าง ๆ แต่จากผลการสำรวจของ HSBC เกี่ยวกับการยอมรับและการใช้งานเครื่องมือรักษาความปลอดภัยเหล่านี้ก็ทำให้พบว่า ในหลายประเทศ ก็ยังมีข้อจำกัด และความคุ้นเคยแบบเฉพาะตัวอยู่เช่นกัน

เพียงแต่ครั้งนี้เราจะชวนไปทำความรู้จักพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นตลาดใหญ่ไม่แพ้กัน โดย HSBC ได้มีการทำวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคในเรื่อง Trust in Technology และพบว่า ชาวสิงคโปร์และจีนแผ่นดินใหญ่นั้น มีการยอมรับและความต้องการใช้งานเครื่องมือเทคโนโลยีที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก แม้จะอยู่ในทวีปเดียวกัน รวมถึงมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีในขั้นแนวหน้าไม่แพ้กันก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ HSBC พบว่า เป็นชาติที่สนใจใช้งานเทคโนโลยีเพื่อการทำธุรกรรมการเงินใหม่ ๆ สูงมาก จึงทำให้ HSBC ตัดสินใจเปิดตัวการเซลฟี่ (สแกนใบหน้า) เพื่อชำระเงินหรือโอนเงินได้แล้ว โดยสามารถโอนเงินได้ถึงวันละ 50,000 หยวน หรือประมาณ 251,400 บาทเลยทีเดียว

สำหรับภาพเซลฟี่ก่อนเข้าทำธุรกรรมทางการเงินนี้ จะถูกส่งไปเปรียบเทียบกัยภาพในฐานข้อมูลของธนาคารก่อน หากตรงกันจึงจะอนุญาตให้ทำธุรกรรมได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคชาวจีน ไม่ต้องมาใส่พาสโค้ดอีกต่อไป

นอกจากนั้นยังพบว่า มากกว่า 60% ของผู้บริโภคชาวจีนเชื่อมั่นในไบโอเมทริกซ์ เช่น การสแกนใบหน้าและการสแกนลายนิ้วมือ และมองว่านี่จะเป็นวิธีในการยืนยันตัวตนในการเข้าใช้บริการธนาคารในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วย

หันมาที่ฟากของประเทศเพื่อนบ้านไทยอย่างสิงคโปร์กันบ้างในผลการสำรวจหัวข้อเดียวกัน พบว่า  47% ของชาวสิงคโปร์ 1,003 คนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า  การยืนยันตัวบุคคลผ่านลายนิ้วมือนั้นจะมีความน่าเชื่อถือและเข้ามาแทนที่พาสเวิร์ดได้ อย่างไรก็ดี ในตอนนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 24 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ตอนนี้ใช้ลายนิ้วมือในการปกป้องอุปกรณ์ โดยมีคนถึง 2 ใน 3 ที่ยังยึดติดอยู่กับการใส่พาสเวิร์ด และการป้อนพิน (PIN)

การศึกษายังพบด้วยว่า แม้ชาวสิงคโปร์จะทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์มากถึง 66% แต่มีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารในสมาร์ทโฟน และมีเพียง 7% เท่านั้นที่เชื่อมั่นในระบบ Robo-Adviser ที่ทางธนาคารต่าง ๆ กำลังจะนำมาใช้ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออมและการลงทุน 

แบบสำรวจนี้สรุปปิดท้ายด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่สถาบันการเงินจะต้องลงมาให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการทำธุรกรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจและเปิดใจยอมรับนั่นเอง

ที่มา:
BankItAsia
MIS-Asia