Site icon Thumbsup

Huawei ได้อะไรจากการศึกษาและเหล่าผู้ชนะในโครงการ HUAWEI ICT COMPETITION THAILAND 2019

ในกลุ่มธุรกิจ ICT ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือเล็ก ต่างก็พยายามอย่างมากในการผลักดันเด็กรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีในแง่มุมต่างๆ อย่างเช่น Microsoft ก็มี Youth Camp หรือสอนเด็กเขียนโค้ดดิ้ง หรือ Google for Education เองก็เป็นการสนับสนุนให้เด็กๆ เพิ่มพูนความรู้ใหม่ การผลักดันวงการศึกษาเหล่านี้จะไม่ได้ในภาพใหญ่แต่ก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่

โทมัส​ โจว​ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์​และการสื่อสาร​ ประจำภูมิภาคเอเชีย​ตะวันออก​เฉียงใต้​ บ.หัวเว่ย​ เทคโนโลยี่​

ด้านคุณโทมัส​ โจว​ เล่าว่า Huawei มีแผนส่งเสริมนักพัฒนา ทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โครงสร้างระบบต่างๆ ผ่าน Openlab ซึ่งในทั่วโลกมีกว่า 8,000 คนที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยจะใช้เงินในโครงการกว่า 81 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะเข้าร่วมผ่านโครงการ HUAWEI ICT COMPETITION THAILAND 2019 เช่นกัน

“เราไม่บังคับว่าน้องที่ชนะในโครงการนี้จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวหัวเว่ยหรือไม่ แต่มุ่งหวังให้พวกเขานำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดหรือเผยแพร่ความรู้แก่เพื่อนและรุ่นน้องๆ ต่อไป”

โดยคนที่สมัครเข้าโครงการนี้ในไทยมีมากกว่า 2,000 คนและคัดเลือกเหลือเพียง 200 คน ก่อนจะตัดสินเหลือเพียง 13 คนที่เก่งที่สุดและจะมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันบนเวที Huawei ICT Competition 2019 Global Final ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองเซิ่นเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน

สำหรับโครงการ Huawei ICT Competition นี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2015 ต่อมาหัวเว่ยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีไอซีที จึงได้ขยายโครงการไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ยุโรป ละตินอเมริกา รัสเซีย แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย รวมถึงเอเชีย งานนี้มีกรจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีและมีจำนวนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

ทางด้านวัตถุประสงค์โครงการนี้ มี 2 แนวคิดหลัก คือ

1. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

2. เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านเครือข่าย (Network) ของนักศึกษาด้านไอทีให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้รับสิทธิ์เข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตร Huawei Routing & Switching จากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองจากหัวเว่ย และได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมทดสอบใบประกาศนียบัตรระดับสากลของหัวเว่ยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังคาดหวังแนวคิดด้านคอนเนคชั่น โดยจะเปิดเป็นแพลตฟอร์มระหว่างมหาลัยแต่ละแห่งให้เข้าถึงโอกาสใหม่ๆ และเป็นเวทีที่จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก และผู้ที่เข้าร่วมการสอบจะได้รับใบ Certificated เพื่อนำไปใช้ในการสมัครงาน การันตีความสามารถของนักศึกษาได้ด้วย

นักศึกษาที่เข้าทดสอบ Local Certification จะได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตร HCIA (Huawei Certification ICT Associate) ซึ่งเป็นการรับรองความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการกำหนดค่าพื้นฐานและการบำรุงรักษาระบบเครือข่ายขนาดเล็กถึงขนาดกลางครอบคลุมเรื่องระบบเครือข่ายขั้นพื้นฐาน, เทคโนโลยีระบบเครือข่าย LAN, WAN, Routing การบริหารจัดการระบบเครือข่าย ความปลอดภัยของระบบเครือข่าย การจัดการ IP Address และการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาระบบเครือข่ายขนาดเล็กถึงขนาดกลาง โดยใช้ยืนยันความสามารถด้านไอทีได้เป็นอย่างดี

“หากนำเอกสารดังกล่าวมาประกอบการสมัครงานที่หัวเว่ยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ หรือหากสมัครในองค์กรที่เป็นพาร์ทเนอร์กับหัวเว่ยก็สามารถใช้ได้เช่นกัน”

ทางด้านของการประกาศผลผู้ชนะการแข่งขันทักษะด้านไอซีที Huawei ICT Competition Thailand 2018-2019 3 อันดับแรก รางวัลชนะเลิศได้แก่ นางสาวภูริน ติ๊บแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร  นายณัฐพร พรสวัสดิ์และนายกัณฐ์ เตโชสกลดี สองนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 2 ตามลำดับ

ลองฟังบทสัมภาษณ์ของ ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาวงการศึกษาและการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยเอง