Site icon Thumbsup

บทเรียนของ Ikea China ไม่แต่งงานไม่ใช่เรื่องใหญ่ จริง ๆ นะ

https://www.youtube.com/watch?v=Z_ocmcpEv3M

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นตัวการไปสู่ความผิดพลาดของโฆษณาชิ้นนี้หรือไม่? เป็นคำถามที่น่าคิดสำหรับ Ikea China กับการส่งโฆษณาทีวีความยาว 29 วินาทีที่นำเรื่องของ Leftover Women ขึ้นมาเป็นประเด็น

โดยโฆษณาชิ้นนี้จาก Ikea ได้นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ลูกสาวโดนพ่อแม่กดดันให้แต่งงานไว ๆ  เพื่อจะได้ไม่ต้องกลายเป็น Leftover Women หรือผู้หญิงที่อายุ 27 ปีขึ้นไปแล้วและยังไม่ได้แต่งงาน ซึ่งสำหรับจีนแผ่นดินใหญ่นั้นถือว่าเป็นคำที่ลดทอนคุณค่าของผู้หญิงมากทีเดียว

โดยในคลิปนั้นคุณแม่ของฝ่ายหญิงถึงกับกล่าวว่าถ้ายังหาแฟนไม่ได้ก็ไม่ต้องมาเรียกเธอว่าแม่อีก

แต่ทันทีที่เสียงกริ่งประตูดังขึ้น และพบว่าผู้ที่มากดกริ่งเป็นแฟนของลูกสาว พ่อแม่ก็มีการเปลี่ยนโฉมภายในบ้านใหม่อย่างรวดเร็วโดยใช้สินค้าของ Ikea เพื่อให้บ้านดูโรแมนติกขึ้น และพร้อมต้อนรับการมาเยือนของว่าที่ลูกเขยอย่างเต็มใจ

ทันทีที่เผยแพร่โฆษณาดังกล่าวไปได้ไม่นาน ก็มีเสียงอื้ออึงในโลกอินเทอร์เน็ต (Weibo) ที่รับไม่ได้กับโฆษณาชิ้นนี้ดังขึ้นอย่างรวดเร็ว จน Ikea China ต้องถอดโฆษณาทีวีความยาว 29 วินาทีนี้ออกแทบไม่ทัน

หลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่ตัว Ikea เองในฐานะที่เป็นแบรนด์มาจากสวีเดน ประเทศที่อ้างว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และได้รับการปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมกัน โดยส่วนใหญ่มองว่า ทำไมแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์เช่นนี้ถึงคิดโฆษณาในลักษณะนี้ออกมาได้ อีกทั้งเนื้อหาที่ต้องการสื่อได้จี้จุดหญิงสาวในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ถูกมองว่าเป็น Leftover Women เข้าอย่างจัง 

หลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า Ikea น่าจะนำโฆษณาชิ้นนี้ไปฉายที่ประเทศของตัวเองก่อนเลย 

อย่างไรก็ดี ความจริงข้อหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ หญิงสาวกลุ่มนี้ ปัจจุบันได้รับการกดดันจากสังคม ครอบครัว และญาติพี่น้องไม่น้อย โดยเฉพาะในวันรวมญาติเช่น วันปีใหม่ พวกเธอมักตกเป็นเป้าของญาติพี่น้องกับการตั้งคำถามว่าทำไมถึงยังไม่แต่งงาน ซึ่งคำถามเหล่านี้ก็มากเพียงพอที่จะทำให้พวกเธอขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ว่ายังเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์แบบสำหรับพ่อแม่ ดังนั้นการที่มีโฆษณาทีวีมาจี้ใจดำอีกคำรบก็ดูจะเป็นเรื่องที่มากเกินไป

แต่สำหรับประเด็นเดียวกันนี้ กลับมีแบรนด์ที่ทำได้ดีจนได้รับเสียงตอบรับในทางบวก นั่นคือ SK-II ที่สามารถสร้างแคมเปญที่เรียกความเชื่อมั่นในตนเองของสาว ๆ ที่ยังไม่ได้แต่งงานให้กลับคืนมา ส่วน SK-II นำเสนออย่างไร ไปชมได้จากคลิปนี้ค่ะ

ส่วน Ikea ก็ได้ออกมาขอโทษพร้อมชี้แจงแล้วเช่นกัน โดยระบุว่า โฆษณาชิ้นดังกล่าวต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า Ikea ต้องการเป็นตัวช่วยในการปรับแต่งบ้านให้เป็นสถานที่สำหรับการเลี้ยงฉลองได้โดยง่ายเท่านั้น ส่วนเรื่องของความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและชายนั้น ทาง Ikea ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรและรากฐานของบริษัทเลยทีเดียว