Site icon Thumbsup

คุยกับ 3 ผู้บริหาร A-Time เส้นทางอุตสาหกรรมวิทยุที่ยังสดใส พร้อมก้าวต่อไปพร้อมกับโลกดิจิทัล

หากเอ่ยถึงคลื่นวิทยุชั้นนำของไทย ที่ยังรักษาธุรกิจให้ดีได้อย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้น คลื่นวิทยุในสังกัดของ A-Time Media ที่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้เรียกว่าดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน 30 ปีแล้ว ถึงจะมีหลายคลื่นวิทยุที่ประสบกับการถูก Disrupt ธุรกิจสื่อ แต่ 3 ผู้บริหารเอไทม์มีเดีย ก็ยังบอกว่า “อยู่รอดปลอดภัยดี” เพราะปรับตัวรับกระแสต่างๆ อยู่ตลอดตามยุคสมัย และปรับโมเดลรายได้ให้เข้ากับกระแสที่ผันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เอไทม์ยังรักษาความยั่งยืนของธุรกิจ รวมทั้งรักษาเรตติ้งจากการรับฟังของคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี

ภาพรวมธุรกิจ

การเข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่มกับ คุณสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด  คุณศิริกาญจน์ วินัยพานิช รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) และคุณสุธาสี สุขพรสินชัย ผู้บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด เล่าภาพรวมให้ฟังว่า ธุรกิจวิทยุยังคงเดินหน้าไปได้ ไม่ได้เจออุปสรรคใหญ่แบบธุรกิจทีวีดิจิทัลที่มีการประมูลและการผลิตคอนเทนต์ก็ไม่ได้มีโปรดักชั่นมากนัก

คุณสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด

งานวิทยุที่ยังคงมีเสน่ห์กับทางผู้ฟัง คือ การมี Interactive ระหว่างดีเจที่จัดรายการกับผู้ฟัง หรือมีข่าวสาร โฆษณาให้ฟัง ทำให้คนที่รับฟังขณะเดินทางหรือกำลังทำงานรู้สึกว่าไม่เดียวดาย และกิจกรรมก็เป็นสีสันที่เข้ามาเสริมให้รู้สึกว่ายังมีเพื่อน ซึ่งการคิดรูปแบบรายการวิทยุได้ใกล้ชิดกับคนฟังได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้คนฟังไม่หนีไปจากเรา

รายการที่เป็นแม่เหล็กของเอไทม์ อย่างเช่น คลับฟรายเดย์ พุธทอล์คพุธโทร แฉ และจันทร์ช็อกโลก จะมี Posiotion ของรายการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนคือ กระตุ้นให้คนออกมาแชร์ ไม่ว่าจะเป็น การแชร์ประสบการณ์ความรัก มาแชร์เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวหรือเรื่องราวต่างๆ เพราะการที่คนฟังได้คุยดีเจที่เป็นแม่เหล็กของคลื่น ทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ดีเจในคลื่นก็มีการสื่อสารต่อเนื่องผ่านโซเชียลมีเดียของเขาเอง การออกงานอีเว้นท์หรืองานโฆษณา ก็ช่วยเพิ่มฐานแฟนและทำให้เกิดการติดตามที่มากขึ้นด้วย ทำให้ทางคลื่นมองภาพของการสื่อสารกับผู้ฟังและลูกค้าแบบ 360 องศา คือ วิทยุ แอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์ออนไลน์ ShowBiz และกิจกรรมต่างๆ จะผสมผสานกันให้คนฟังรู้สึกใกล้ชิดและไปที่ไหนก็เจอได้ไม่ยาก

หากพูดถึงเรตต้ิงและการตอบรับของผู้ฟังนั้น เมื่อก่อนการฟังผ่านวิทยุแบบเดียวไม่ได้มีการตรวจเช็คเองได้ ต้องอ้างอิงจากหน่วยงานกลาง แต่ในยุคที่มีแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ให้ฟังออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียให้ตอบกลับ Feedback ต่างๆ ได้ ดังนั้นเราจึงรู้ว่าฐานผู้ฟังของเรานั้นมีจำนวนเท่าใด

สำหรับผู้ฟังพุธทอล์คพุธโทร อยู่ที่ 7 ล้านแอคเคาท์หรือจันทร์ช็อกโลก 5 ล้านแอคเคาท์ EFM 2.7 ล้านแอคเคาท์ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มาจากการโหลดแอพพลิเคชั่นและแสดงผลให้ทราบว่ามีจำนวนของผู้รับฟังแต่ละเดือนอยู่ที่เท่าไหร่

 

ต่อยอดด้วยซีรี่ย์

เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์คอนเทนต์ 360 องศาทำให้เราเลือกที่จะลงทุนผลิตซีรี่ย์ขึ้นมาเอง ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของการขายคอนเซ็ปท์ให้ช่องต่างๆ โดยในช่วงแรกเราลงทุนเองก่อน แต่จะให้รับชมผ่านทางออนไลน์ก่อน แต่ถ้ามีช่องไหนสนใจอยากเอาไปออกอากาศทางสถานีเราก็ยินดี

คุณศิริกาญจน์ วินัยพานิช รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน)

 

“การเลือกทำเป็นซีรี่ยนั้น เพราะเห็นว่าเรื่องเล่าที่สื่อสารผ่านรายการวิทยุได้รับความสนใจเยอะมาก ถ้ารับฟังและปล่อยให้ผ่านไปก็เสียดาย แต่ถ้านำเอามาถ่ายทอดในรูปแบบของคอนเทนต์ทีวีก็น่าจะดี อย่างที่คลับฟรายเดย์จับกระแสเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ แต่ในแง่ซีรี่ย์ของพุธทอล์คพุธโทร ก็จะเป็นเรื่องทั่วไป สังคม การศึกษา แล้วมาทำเป็นซีรีย์สนุกๆ”

แม้ว่ารายได้หลักของเอไทม์มีเดีย 80% จะมาจากรายการวิทยุ แต่ก็มองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะเราเป็นบริษัทในเครือของ GMM Media ซึ่งมีความพร้อมทั้งในแง่ของโปรดักชั่น นักแสดง บทละครและสถานีออกอากาศ ที่สามารถร่วมมือกันได้หลากหลายและไม่ต้องลงทุนมากนักแค่ดึงทีมต่างๆ มาช่วยกัน และเชื่อว่าในครึ่งปีหลังไปจนถึงปีต่อๆ ไปบริษัทจะมีโอกาสทางรายได้เติบโตขึ้น 10% ทุกธุรกิจ

แม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมวิทยุจากการคาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาของทาง Nielsen จะพบว่ารายได้ของสถานีวิทยุลดลง 5% ของมูลค่าตลาดสื่อทั้งหมด 41,000 ล้านบาท ธุรกิจวิทยุทำรายได้เพียง 1,758 ล้านบาท ลดลงจากพฤษภาคม 2018 ที่ทำได้ 1,848 ล้านบาท

ความโชคดีของสถานีวิทยุคือเราไม่ได้ประมูลใบอนุญาตทำให้ต้นทุนในการจ่ายค่าสัมปทานอยู่ในระดับที่ยังรับได้ และราคาของใบอนุญาตก็จ่ายแบบคงที่มาหลายปีแล้ว ทำให้ทราบว่าเรามีต้นทุนหลักๆ คืออะไรบ้าง หากมองที่สื่ออื่นๆ อย่างทีวีดิจิทัล หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน จะพบว่าทุกรายยังเหนื่อยและแบกต้นทุนไม่ไหวก็ปิดตัวกันไป ดังนั้น การที่ธุรกิจวิทยุยังรักษา Comfort Zone ของธุรกิจได้ ก็ต้องปรับตัวรับยุคดิจิทัลให้ทัน

 

“ลูกค้าแบรนด์ที่ซื้อโฆษณาในยุคนี้ ไม่ได้ดูแค่ยอดคนเข้ามาเล่นเกมและยอดคนฟังในแต่ละเดือนแล้ว แต่จะดูยอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ยอดติดตามบนโซเชียลมีเดียประกอบกับความสามารถของดีเจที่จะขายของในช่วงเวลานั้นๆ ทำให้การพิจารณาสื่อจะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้น หากปรับตัวและยอมรับกับการเปลี่ยแปลงเหล่านี้ไม่ได้ก็ยากที่จะบริหารรายได้ให้เติบโตได้”

 

ตั้งโจทย์โฆษณาเหมือนเป็นแบรนด์

การขายโฆษณาให้ธุรกิจสื่อวิทยุสมัยนี้ ไม่ใช่แค่นั่งเฉยๆ และรับโจทย์จากลูกค้าอย่างเดียว แต่ต้องคิดเองทั้งหมดว่าจะเข้าไปเสนอลูกค้าแบรนด์ใด ทำความรู้จักรูปแบบธุรกิจของเขาก่อน จากนั้นก็ต้องมีตัวเลือกของคอนเทนต์มาให้หลากหลายเพื่อให้ลูกค้าเป็นคนเลือก เพราะการทำโฆษณายุคนี้ต้องมีความสามารถมากกว่าแค่นั่งรอบรีฟแล้ว ยิ่งเรามีความพร้อมในแง่ของคน คอนเทนต์และแชนแนล เรายิ่งต้องผลักดันความสามารถของเราให้ลูกค้ารู้จักมากขึ้น

คุณสุธาสี สุขพรสินชัย ผู้บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด

 

“คลื่น A-Time มีดีเจทั้งหมด 20 กว่าคน ทุกคนนอกจากจัดรายการวิทยุได้แล้ว ยังเป็นอินฟลูอินเซอร์ของแบรนด์ได้ด้วย ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าต้องสื่อสารอย่างไรกับคนฟังแต่ละกลุ่ม ยิ่งยุคนี้การโฆษณาไม่ได้จำกัดแค่ธุรกิจรายใหญ่ แต่รายย่อยระดับ SME ก็สนใจที่จะโฆษณาแบรนด์ของเขาผ่านสื่อหลักด้วย ดังนั้นทุกการทำงานต้องปรับตัว โดยทางบริษัทกำลังเฟ้นหาดีเจใหม่ที่มีความสามารถรอบด้าน เพื่อมาตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีความหลากหลาย”

การฟังเพลงยุคนี้ ไม่ได้เปลี่ยนจากแค่การฟังทางวิทยุไปเป็นมือถือ แต่จะเปลี่ยนในเรื่องของ Timing ที่ฟัง ไม่ใช่แค่ฟังตอนรถติดหรือตอนขับรถ แต่ฟังตลอดผ่าน Device ที่ต่างกัน เรียกว่าใช้สื่อแบบ Multi เลย ทำให้ทีมบริหารต้องมีแชนแนลให้รอบด้านพฤติกรรมและการใช้งานของเขา โดยพฤติกรรมการฟังเพลงส่วนใหญ่ยังคงฟังจากแอพพลิเคชั่น วิทยุบนรถ และคอมพิวเตอร์ สำหรับคลื่นในเครือ A-time ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม ทำให้ 3 คลื่นอย่าง Green Wave, EFM, Chill FM รวมกันมีการฟังเกือบ 16 ล้านไอดีต่อเดือน

นอกจากนี้ การทำแอพพลิเคชั่นก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ โดยจะมีการอัพเกรดแอพใหม่ให้ตรงกับพฤติกรรมผู้ฟังและการโฆษณาของแบรนด์มากขึ้น ซึ่งจะเปิดตัว 1 กรกฏาคมนี้ คาดว่าจะมีการดาวน์โหลดใหม่เพิ่มขึ้น 1 ล้านแอคเคาท์ หรือเพิ่มขึ้นอีก 20% คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้มีการฟังนานขึ้นเพื่อสะสมคะแนน โดยการฟังนานขึ้น 1 นาทีจะได้เพิ่มขึ้น 1 พ้อยท์ เพื่อเอาไปแลกคะแนนหรือได้สิทธิพิเศษต่างๆ จากการจัดกิจกรรมของทางคลื่นมากขึ้น

การปรับตัวเพื่อรับยุคดิจิทัล ถือว่าเป็นโอกาสและการยอมรับยุคใหม่ที่น่าสนใจ เพราะการทำธุรกิจยุคนี้จะปล่อยให้ไปตามกระแสอย่างเดียวคงอยู่รอดได้ยาก แต่การปรับตัวและมองหาโอกาสใหม่อยู่ตลอดเวลา ย่อมเป็นการช่วยพยุงและรักษารายได้ให้อยู่ต่อไปได้