Site icon Thumbsup

“ญี่ปุ่น” สะท้อนอะไรผ่าน “สังคมผู้สูงอายุ”

สำหรับใครที่เคยเดินทางไปญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากการไปญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือเรื่องของพนักงานบริการในญี่ปุ่นที่เริ่มเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์มากขึ้น หรือหากเป็นพนักงานทั่วไปก็มักมีอายุมากขึ้น แต่นอกจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น วันนี้ เรายังมีข้อมูลถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุที่น่าสนใจมาฝากกันเพิ่มเติม นั่นคือ ตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ที่อายุเกิน 100 ปีแล้วเกือบ 68,000 คน

ก่อนหน้านี้ ความอายุยืนของญี่ปุ่นเคยถูกชูเป็นจุดขายของวัฒนธรรมด้านอาหาร แต่มาในปี 2017 ความอายุยืนของชาวญี่ปุ่นกำลังสะท้อนภาพใหม่ให้ชาวโลกได้เตรียมตัวรับมือกันแล้ว โดยปี 2017 ถือเป็นปีที่ประเทศญี่ปุ่นทำลายสถิติของตนเองอีกครั้งกับการมีผู้ที่อายุเกิน 100 ปีมากเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2016 ญี่ปุ่นเคยทำไว้ที่ 65,000 คนจากประชากรทั้งหมด 127 ล้านคน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีประชากรอายุเกิน 100 ปีมากกว่าประเทศไหน ๆ ในโลก หรือคิดเป็น 4.8 คนต่อประชากร 100,000 คน

ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ขายดีกว่าผ้าอ้อมเด็ก

สัดส่วนประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นได้สะท้อนผ่านตลาดผ้าอ้อม เมื่อสินค้าประเภทผ้าอ้อมผู้ใหญ่ของ Unicharm เริ่มขายได้มากกว่าผ้าอ้อมเด็กเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2013 เทรนด์นี้แสดงให้เห็นถึงความใหญ่ของปัญหาสังคมผู้สูงอายุในประเทศที่ญี่ปุ่นมีประชากรวัย 65 ปีขึ้นไปสูงมากกว่าวัยอื่น ๆ ในสัดส่วนที่เห็นเด่นชัด โดยในจำนวนประชากร 127 ล้านคนนี้ 26.7% เป็นผู้สูงอายุ

ปี 2017 เป็นปีที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ 118 ปี

นับตั้งแต่มีการจดบันทึกสถิติการเกิดในปี 1899 เป็นต้นมา ปี 2017 เป็นปีที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดของเด็กทารกต่ำที่สุดคือประมาณ 941,000 คน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.34 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ประมาณ 3% ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ประชากรของประเทศจะลดลง และไม่เพียงพอต่อการสานต่อระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่คนรุ่นก่อนได้สร้างเอาไว้

คนรุ่นใหม่เริ่มทอดทิ้งผู้สูงอายุมากขึ้น

เทรนด์นี้เริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้วกับการที่ลูกหลานนำผู้สูงอายุไปฝากไว้ตามสถานพยาบาล หรือองค์กรการกุศลแล้วก็หายตัวไปเลย ไม่กลับมาดูแลอีก ส่วนหนึ่งคือลูกหลานไม่สามารถรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุได้เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลนั้นสูงมาก ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ญี่ปุ่นเผยว่า เคสเหล่านี้เริ่มมีให้พบเห็น แต่ยังไม่มากนัก ประมาณหลายร้อยรายในแต่ละปีเท่านั้น ยังไม่ขึ้นถึงหลักพัน

คุกเริ่มกลายเป็นเนิร์ซซิ่งโฮม

ความน่าเจ็บปวดอีกข้อก็คือ คนชราในญี่ปุ่นบางรายเริ่มตัดสินใจก่ออาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ขโมยของ เพื่อให้ตนเองเข้าไปอยู่ในคุก เพราะอย่างน้อยสภาพในคุกก็ยังดีกว่าการอาศัยอยู่ตามลำพังภายนอก เช่น ยังมีผู้คุมคอยดูแล จัดหาอาหารและแต่งตัวให้ มีเพื่อนนักโทษคนอื่น ๆ ให้พูดคุย ส่วนคนชราหลายคนเมื่อพ้นโทษก็จะมีลูกหลานมารับไปดูแล แต่ในบางเคส ก็พบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการดูแลคนชราที่สูงมาก ได้ทำให้ผู้สูงอายุเลือกที่จะก่ออาชญากรรมเพื่อกลับเข้าคุกมาอีก

โดยตัวเลขในปี 2015 พบว่า มีการก่ออาชญากรรมโดยคนที่อายุมากกว่า 65 ปีถึง 20% ของตัวเลขทั้งหมด และรัฐบาลญี่ปุ่นมีการจ่ายเงินเป็นสิบล้านเยนเพื่อปรับปรุงคุกให้สามารถดูแลคนชราเหล่านั้นได้ ซึ่ง Yuki Shinko นักวิจัย และผู้เขียนหนังสือ Old People Underworld เผยว่า การทำเช่นนั้นอาจทำให้คนชราเลือกที่จะก่ออาชญากรรมกันมากขึ้น เพื่อให้ตนเองมีที่พักพิงในยามชราที่ไม่เป็นภาระลูกหลาน

คนชราหลายคนเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว

ความที่ไม่มีลูกหลานดูแล ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง รวมถึงเสียชีวิตตามลำพังด้วย คนที่พบศพเป็นคนแรก ๆ มักเป็นเพื่อนบ้านที่สังเกตได้ถึงความผิดปกติ หรือสังเกตจากที่ผู้สูงอายุรายนั้นได้สั่งเสียเอาไว้ เช่น ถ้าวันไหนไม่เห็นผ้าม่านเปิดก็แปลว่าเจ้าของบ้านนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว

คนญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะเสียชีวิตจากการทำงานมากเกินไป

ในปี 2016 เคยมีผลสำรวจเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากการทำงานมากเกินไป ซึ่งพบว่า จากผู้ตอบแบบสอบถามใน 10,000 บริษัทมีพนักงานที่ทำงานสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำถึง 20% เลยทีเดียว เฉพาะในปี 2015 มีชาวญี่ปุ่นที่พยายามจะฆ่าตัวตายเพราะการทำงานมากเกินไป 93 ราย และมี 96 รายที่เสียชีวิตด้วยโรคอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับการทำงานมากเกินไป เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โดยส่วนมากผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานมากเกินไปมักเป็นผู้ชาย อายุระหว่าง 30 – 40 ปีและมีตำแหน่งระดับผู้จัดการขึ้นไป ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้มีการจำกัดเวลาการทำงานล่วงเวลาเอาไว้

แต่กรณีที่ถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยมากคือการเสียชีวิตของพนักงาน Dentsu อย่าง Matsuri Takahashi และทำให้เกิดการหยิบเรื่องการทำงานล่วงเวลาของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง ซึ่งเพื่อลดตัวเลขการทำงานล่วงเวลาให้น้อยลง มีรายงานว่าบางบริษัทเลือกที่จะไม่ให้พนักงานรายงานว่าตนเองทำงานล่วงเวลาแทน

จากสถานการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญนี้ ได้มีการคาดการณ์กันว่า อีก 50 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์ทุกอย่างยังไม่มีอะไรดีขึ้น และไม่มีนโยบายรับชาวต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นเพิ่มเติม ญี่ปุ่นจะเหลือประชากรประมาณ 87 ล้านคน ซึ่งจะกระทบกับระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างมาก เนื่องจากกำลังซื้อจะหดหายไป ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจก็จะไม่มีคนทำงานเข้ามาสานต่อ 

ไม่เฉพาะญี่ปุ่น ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกจะเริ่มมีคนวัยทำงานน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะจากตัวเลขของ HSBC พบว่า เยอรมนี และจีน ต่างก็พบปัญหาเดียวกัน  ด้านองค์การสหประชาชาติหรือ UN ได้ออกมาคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เราจะมีจำนวนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) แซงหน้าเด็กแรกเกิดเป็นครั้งแรกในปี 2047 และมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นเป็นสองพันล้านคนในปี 2050 เลยทีเดียว 

บทความนี้ไม่มีคำตอบ หรือคำถามเพิ่มเติมว่าสุดท้ายแล้วเราควรจะทำอย่างไร แต่จากภาพสะท้อนของญี่ปุ่นเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ มันก็พอจะบอกได้เช่นกันว่า โลกระบบทุนนิยม โลกที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งนั้น สุดท้ายแล้วมันต้องแลกกับอะไรบ้าง และนั่นอาจเป็นบทเรียนที่น่าสนใจที่ญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศกำลังสอนเราอยู่ก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

NPR

APNews

Telegraph

BusinessInsider