Site icon Thumbsup

จับสัญญาณซีรีย์อินเดียครองจอดิจิทัล? ชี้จุดเด่นเจาะกลุ่มตลาดกลาง-ล่างได้ด้วยต้นทุนต่ำกว่า

เริ่มต้นปีใหม่ เราได้เห็นสัญญาณความเคลื่อนไหวในแวดวงทีวีดิจิทัลออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นเทรนด์ของการนำภาพยนตร์อินเดียเข้ามาเจาะตลาดผู้ชมชาวไทยที่เชื่อว่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคระดับกลาง-ล่างได้ดีไม่แพ้ละครที่ผลิตโดยผู้จัดของบ้านเรากันเอง แถมด้วยจุดเด่นข้อหนึ่งของซีรีย์อินเดียคือ ต้นทุนต่ำ ซึ่งในภาวะที่ตัวเลขทางบัญชีของทีวีดิจิทัลหลายช่องยังติดลบ จึงเป็นไปได้ว่า การเลือกซีรีย์อินเดียจะกลายเป็นทางออกที่คุ้มค่ามากกว่าก็เป็นได้

สำหรับช่องที่มีการติดต่อขอซื้อซีรีย์อินเดียมาเผยแพร่นั้น จากการเปิดเผยของ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ในฐานะบริษัทผู้จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ระบุว่ามีทั้งสิ้น 3 สถานี ได้แก่ ช่อง 3, ช่อง 8 และช่องไบรท์ทีวี นอกจากนี้ยังมีทีวีดิจิทัลอีก 3 – 4 ช่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ในขณะนี้ด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้ว เป็นไปได้ว่าจะมีสถานีโทรทัศน์เกือบสิบช่องเลยทีเดียวที่บรรจุซีรีย์อินเดียเอาไว้ในแผนการออกอากาศในปี 2018

โดยซีรีย์อินเดียเริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งจากผู้ชมชาวไทยในปี 2014 ด้วยจุดเด่นด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่มีความใกล้เคียงกับไทย รวมถึงเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน และเพลงประกอบที่ติดหูได้ง่าย หรือจะกล่าวได้ว่าเดินตามรอยซีรีย์เกาหลีที่เคยทำเอาไว้ก็คงไม่ผิดนัก ส่งผลให้ตัวเลขซีรีย์อินเดียที่จะลงจอในช่อง 3 และช่อง 8 ในปีนี้มีประมาณสิบกว่าเรื่องต่อช่อง ความยาวของเรื่องอยู่ระหว่าง 150 – 300 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของเครือบีอีซีนั้น ปีนี้จะมีความพิเศษมากขึ้นด้วยการนำซีรีย์อินเดียที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และมีความยาว 2,200 ชั่วโมงเข้ามาฉายในประเทศไทยด้วยในชื่อเรื่อง “นันทินี ม่านรักม่านประเพณี” โดยความยาวระดับนี้หากฉายสองชั่วโมงต่อวัน ทุกวัน อาจกินเวลานานถึง 4 ปีจึงจะฉายจบเลยทีเดียว

ด้านคุณจักรพงศ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) เผยว่า ตอนนี้ทางบริษัทได้หันมาเน้นการซื้อลิขสิทธิ์ซีรีย์อินเดียมากขึ้น โดยคิดเป็น 40% ของงบประมาณในการจัดซื้อซีรีย์ทั้งหมดที่อยู่ที่ 600 – 800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการเติบโตของซีรีย์อินเดียนั้น ในเชิงการตลาด คุณจักรพงศ์เผยว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ เนื่องจากจะพบเห็นการนำซีรีย์อินเดียมาฉายในช่วงไพรม์ไทม์มากขึ้น เช่น ช่อง Family ในเครือบีอีซี

อีกหนึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาดก็คือ อินไซต์ที่ว่า ซีรีย์อินเดียสามารถใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเจาะตลาดแมสที่มีฐานรายได้ระดับกลาง-ล่างได้ และมีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับซีรีย์เกาหลี เหตุที่กล่าวเช่นนั้น คุณจักรพงศ์ให้ทัศนะว่า เป็นเพราะซีรีย์เกาหลีได้รับความสนใจจากวัยรุ่นค่อนข้างมาก และหลายคนก็ไปเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มเติม จึงมีการแปลซับไตเติ้ลซีรีย์เกาหลีเผยแพร่ในเครือข่ายต่าง ๆ ให้ได้รับชมกันเป็นการทั่วไป การฉายซีรีย์เกาหลีจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าในแง่ที่ว่าผู้ชมจำนวนหนึ่งอาจดูซีรีย์เรื่องนั้น ๆ ไปแล้วบนอินเทอร์เน็ต ขณะที่ซีรีย์อินเดีย ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นคอนเทนต์ที่จับกลุ่มตลาดแมส และภาษาฮินดีที่ใช้ก็แปลยากกว่ามากนั่นเอง

ท้ายที่สุดคือเรื่องของต้นทุน ที่คุณจักรพงศ์เผยว่า ซีรีย์อินเดียช่วยให้ช่องทีวีดิจิทัลประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านละครได้ประมาณ 50 – 70% และก็เป็นตัวเลขนี้เช่นกันที่ทำให้ความเสี่ยงถูกโอนย้ายไปยังผู้จัดละครช่องต่าง ๆ แทนว่าจะสามารถประคองตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์นี้ได้หรือไม่ และหากอยู่ได้ จะอยู่ด้วยยุทธวิธีอย่างไรนั่นเอง