Site icon Thumbsup

“ไทย”ขึ้นแท่นคนทำงานมีความสุขอันดับสามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เป็นผลการสำรวจของบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ออกมาเผยผ่านรายงานดัชนีความสุขของพนักงานประจำปี 2016 โดยระบุว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานในอีก 6 ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียแล้ว ประเทศไทยติดอันดับสามของประเทศที่พนักงานมีความสุขในการทำงานเลยทีเดียว

โดยประเทศที่พนักงานมีความสุขอันดับหนึ่งได้แก่ ฟิลิปปินส์ (6.25 คะแนน) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย (6.16 คะแนน) แล้วจึงเป็นประเทศไทยที่ 5.74คะแนน ส่วนอันดับรั้งท้ายได้แก่ สิงคโปร์ และมาเลเซีย

คุณนพวรรณ จุลกนิษฐ

คุณนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า สาเหตุที่พนักงานไทยติดอันดับสูงขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับงานที่ทำ  มีความคาดหวังเชิงบวกต่ออนาคตในการทำงาน แต่ก็มีพนักงานอีกไม่น้อยที่เลือกจะมีความสุขในการทำงานด้วยการ “เปลี่ยนบริษัท” เสียเลย

ส่วนตำแหน่งงานที่คนทำงานมีความสุขสูงสุดนั้น สำหรับประเทศไทย เรียงตามลำดับได้แก่

1. ผู้บริหารระดับสูง และผู้อำนวยการ

2. พนักงานระดับเจ้าหน้าที (ประสบการณ์ไม่ถึง 1 ปี)

3. พนักงานระดับผู้จัดการ

4. พนักงาน (ประสบการณ์ 1 – 4 ปี)

5. พนักงานระดับหัวหน้างาน (ประสบการณ์น้อยกว่า 4 ปี)

สาเหตุที่พนักงานระดับหัวหน้างานมีความสุขน้อยที่สุดนั้นเป็นเพราะตำแหน่งงานต้องเผชิญความกดดันจากหลายฝ่าย ทั้งจากผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายและ KPI ในการทำงาน ส่วนตนเองก็มีลูกน้องให้ต้องบริหาร ทำให้มีโอกาสเกิดความเครียดได้ง่ายกว่าพนักงานตำแหน่งอื่น ๆ

ตรงกันข้ามกับผู้บริหารระดับสูงที่การศึกษานี้ชี้ว่ามีความสุขมากที่สุด เนื่องจากมีอิสระในการกำหนดนโยบายองค์กรได้นั่นเอง

 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคแล้วพบว่า พนักงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพึงพอใจต่องานน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศด้วย

ผลสำรวจเผย คนทำงานทุกข์หากหัวหน้าขาดคุณสมบัติผู้นำ

พูดถึงปัจจัยที่ทำให้คนทำงานมีความสุขกันไปแล้ว หันมาดูปัจจัยลบที่ทำให้คนทำงานเกิดทุกข์กันบ้าง โดยประเด็นหลักที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขจนถึงขั้นลาออกจากบริษัทคือ

โดย JobsDB ระบุว่า แม้ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พนักงานมีความสุขแต่อาจมีผลต่อการตัดสินใจของพนักงานว่าจะอยู่ด้วยความภักดีต่อองค์กรหรือจะไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่องค์กรอื่น

ซึ่งพนักงานที่ตอบแบบสอบถาม 34% ระบุว่า หากเจอสถานการณ์ดังกล่าว พวกเขาจะมองหาโอกาสที่ดีกว่าหรือหางานใหม่เพื่อเพิ่มความสุขในการทำงาน ส่วนอีก 19% บอกว่าจะเลือกทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไปตราบใดที่พวกเขายังได้รับการขึ้นเงินเดือน และมีอยู่ 8% ที่บอกว่าพวกเขาจะมีความสุขมากกว่านี้ถ้าได้รับการยอมรับในความสามารถหรือได้เลื่อนตำแหน่ง

“เราตั้งใจเผยแพร่ข้อมูลการสำรวจของ JobsDBนี้ไปยังองค์กร หน่วยงาน และบริษัทต่าง ๆ เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่สร้างความพึงพอใจให้แก่พนักงานและทำอย่างไรองค์กรถึงจะรักษาความพึงพอใจของพนักงานเอาไว้ได้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารายงานฉบับนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจพนักงานและระดับความพึงพอใจของพนักงานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้พวกเขาสามารถหาแนวทางในการพัฒนาพนักงาน และในท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อธุรกิจของพวกเขาเอง” คุณนพวรรณ กล่าวปิดท้าย