Site icon Thumbsup

อ่านเกม Kbank ลงทุนใน Grab ได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

การเข้าลงทุนใน Grab ของ Kbank ที่ตกลงความร่วมมือผ่าน Beacon VC นั้น ถือว่าเป็นความน่าสนใจทีเดียว เพราะต้องยอมรับว่าหากเทียบกันที่เม็ดเงินลงทุนของ Kbank ที่ลงไปใน Grab นั้น ไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับนักลงทุนรายอื่นๆ แต่ก็ไม่น้อยจนน่าเกลียด เม็ดเงิน 50 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือ 1,600 ล้านบาทที่ Kbank ลงไปนั้น น่าจะเรียกว่า “คุ้มค่า” เสียมากกว่า เพราะแทบจะได้ประโยชน์จากความร่วมมืออย่างชัดเจนกว่านักลงทุนรายอื่นๆ

การประกาศความร่วมมือ

ส่ิงที่ทั้งสองฝ่ายอย่าง Kbank และ Grab ประกาศความร่วมมือนั้น คือการผลักดันให้เกิด ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ อีโคซิสเต็ม’ (Digital Lifestyle Ecosystem) โดยใช้ศักยภาพความเป็นผู้นำด้านดิจิทัล แบงกิ้ง ของธนาคารกสิกรไทย ในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน เพื่อร่วมสร้างประสบการณ์ใหม่ ของการใช้บริการ Grab อย่างไม่มีสะดุด โดยเชื่อมโยงผู้คนที่ใช้บริการทั้งระบบ ได้แก่ ลูกค้าที่ใช้บริการผู้ขับขี่ร้านค้า และตัวแทนของ Grab

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดใจเล่าให้ฟังว่า หลังจาก Grab ดำเนินธุรกิจในไทยมากว่า 5 ปี ก็มองเห็นปัญหาเรื่องการกู้ยืมเงินของพาร์ทเนอร์ผู้ขับ นั่นคือ อาชีพรับจ้างจะไม่มีสลิปเงินเดือนหรือการยืนยันที่มารายได้ที่บ่งบอกถึงความมั่นคง การทำงานกับ Grab จะช่วยให้พาร์ทเนอร์นำเอกสารไปใช้ในการยื่นขอเงินกู้กับธนาคารได้ เพราะระบบจะดึงข้อมูลด้านการขับ มาใช้ในการยืนยันตัวตน 

“เพื่อลดปัญหาหนี้เสียและการกู้นอกระบบ การที่ Grab และ Kbank ร่วมมือกันจะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น ทั้งยังเพิ่มโอกาสเงินหมุนเวียนให้ดีขึ้นด้วย”

ยกตัวอย่าง กรณีภาพรวมรถแท็กซี่กว่า 3 หมื่นคัน ที่กำลังจะหมดอายุการต่อทะเบียนขับขี่สาธารณะและอาจต้องซื้อรถใหม่ หากไม่ได้ทำงานร่วมกับ Grab ก็จะกลายเป็นปัญหาว่าเขาจะไปหาเงินที่ใดมาใช้เป็นหลักประกันในการออกรถ เพราะธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้คนที่ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งหากแท็กซี่สนใจเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมขับกับ Grab เราจะช่วยการันตีพวกเขาให้กู้ยืมได้ง่ายขึ้น

Grab จะดึงบิ๊กดาต้าทั้งหมดที่มีมาช่วยให้ธนาคารสะดวกในการประเมินผู้ขอกู้ยืม และสามารถหักรายได้หลังขับแบบรายวันได้ด้วย เพื่อลดภาระของผู้ร่วมขับที่ไม่ต้องกังวลการจ่ายแต่ละงวด บริษัทจะหักค่าใช้จ่ายให้เสร็จก่อนโอนเงินรายได้ให้ผู้ร่วมขับ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการหักค่าใช้จ่ายของบริษัทในกรณีที่ต้องการผ่อนสินค้าใดๆ

ทั้งนี้ ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายจะเน้นความครอบคลุมด้านการพัฒนาแอปพลิเคชันการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน และบริการทางการเงินต่างๆ ร่วมกัน ประกอบด้วย

  1. แกร็บเพย์ บาย เคแบงก์ (GrabPay by KBank) เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนสมาร์ทโฟน (Mobile Wallet) ที่จะทำให้ลูกค้า Grab ชำระเงินค่าเดินทางและค่าบริการรับส่งของ ตลอดจนสามารถโอนเงินให้กับเพื่อนหรือครอบครัวใช้สำหรับซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ รวมทั้งใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดในร้านอาหารหรือร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งบริการนี้อาจต้องรอการอนุญาตจากทางแบงค์ชาติก่อน
  2. การพัฒนาให้แอปพลิเคชัน Kplus และ Grab ให้ใช้งานร่วมกันได้ คือ ลูกค้า Kbank สามารถเรียก Grab ผ่าน Kplus ได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าใช้บริการได้ง่ายและราบรื่น ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นบริการนี้ในปีหน้า เพราะตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา
  3. นำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าที่อยู่ในวงจรการให้บริการของธนาคารกสิกรไทยและ Grab โดยทั้งสองร่วมกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าของตนเอง เช่น การเสนอสินเชื่อกสิกรไทยให้ผู้ขับรถ Grab สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น การนำเสนอบริการ “แกร็บ ฟอร์ บิสซิเนส” (Grab for Business) ให้กับลูกค้า SME ของธนาคารกสิกรไทย เพื่อช่วยบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการเดินทางของบริษัท ตลอดจนการสื่อสารสร้างการรับรู้แบรนด์และเข้าถึงลูกค้าผ่านบริการโฆษณาของ Grab

ทางด้านเม็ดเงินที่ได้รับในครั้งนี้ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะการปรับปรุงหรือเพิ่มสิทธิพิเศษในไทย แต่เม็ดเงินก้อนนี้จะรวมไปกับเงินลงทุนใหญ่ที่สิงคโปร์ก่อน จากนั้นทางสำนักงานใหญ่จะจัดสรรให้แต่ละประเทศนำไปใช้พัฒนาสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ Kbank ได้จาก Grab ในครั้งนี้ นอกจากการเป็นพาร์ทเนอร์ด้านการเงินแล้ว ยังมีโอกาสขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศผ่าน Grab ด้วย

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจในระดับภูมิภาคของธนาคารกสิกรไทย คือ มุ่งขยายธุรกิจไปยังตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน +3 ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสนำศักยภาพดิจิทัล เทคโนโลยีมาใช้ผ่านช่องทางดิจิทัลและบริการต่างๆ บนสมาร์ทโฟน

โดยธนาคารได้วางกลยุทธ์ในการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในแต่ละธุรกิจ ด้วยคอนเซปต์ “Better Together” ด้วยการผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่าย เพื่อร่วมกันนำเสนอบริการที่ดีที่สุดให้กับการใช้ชีวิตของลูกค้าในทุกๆ วัน

“ความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทยและ Grab ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมและภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว  ธนาคารยินดีที่ได้ร่วมทำงานกับแกร็บในการปรับเปลี่ยนประสบการณ์ของลูกค้าทั้งวงจรของการให้บริการไปสู่ “ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ อีโคซิสเต็ม” (Digital Lifestyle Ecosystem) เต็มรูปแบบ”

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายในการเป็นดิจิทัล แบงกิ้งที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค ซึ่งการร่วมกันพัฒนากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนสมาร์ทโฟนและการลงทุนใน Grab จะทำให้ธนาคารสามารถนำศักยภาพของ Grab มาทำให้เกิดประโยชน์กับร้านค้าและลูกค้าของธนาคารที่อยู่ในประเทศไทย

โดยการลงทุนของธนาคารผ่านบริษัท  บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC)ในครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมทุนครั้งแรกกับบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจหลักอยู่นอกประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญอยู่ที่ฐานจำนวนผู้ใช้ทั่วอาเซียนของ Grab ที่มีโอกาสเติบโตเทียบเท่ากับสถาบันการเงินชั้นนำ

ธนาคารจะร่วมกันกับแกร็บในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะส่งเสริมศักยภาพของธนาคารให้ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้

อัพเดทการเติบโตของ Grab

แน่นอนว่าในหลายเดือนที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งระหว่าง Grab กับผู้ให้บริการรถสาธารณะทั้งในกรุงเทพและเชียงใหม่ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ธรินทร์ ยอมรับว่า ตัวเขาพยายามแก้ปัญหาในจุดนี้อยู่และยืนยันว่าพยายามที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายความร่วมมือท่ีเกิดขึ้นนั้น บ่งบอกให้เห็นว่า Grab จะไม่ทอดทิ้งพาร์ทเนอร์ผู้ร่วมขับแน่นอน เพราะเขามีแผนขยายธุรกิจอีกหลายด้าน เพื่อให้ Grab กลายเป็น Super App อย่างแท้จริง

ตอนนี้จำนวนรถที่ทำงานร่วมกับ Grab นั้น คงไม่สามารถบอกจำนวนได้ แต่มีการให้บริการ 16 จังหวัด 18 เมือง และจากจำนวนแท็กซี่ทั้งประเทศ 9 หมื่นคัน สัดส่วนที่มาทำงานร่วมกันมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง Grab เองก็ยังพยายามเดินหน้าร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดันการเดินทางในเมืองรองให้สะดวกขึ้น

“ความร่วมมือครั้งล่าสุดที่ผ่านมาอย่าง บุรีรัมย์ ในการแข่งโมโตจีพี มีการตอบรับที่ดีมาก จังหวัดต่อไปที่เราจะขยายเข้าไปคือ พัทลุง เนื่องจากเมืองรองมีปริมาณรถโดยสารสาธารณะน้อย และการเดินทางก็ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร เราพยายามผลักดันบริการของเราอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยมีรายได้เสริมและลดการเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย”

แม้ว่าช่วงไฮซีซั่นแบบนี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนจะลดลง แต่ก็ต้องยอมรับว่าชาวต่างชาติในประเทศอื่นๆ กลับมีตัวเลขการเข้ามาที่สูงขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าความต้องการมาเที่ยวเมืองไทยยังมี และการใช้งาน Grab ก็เป็นการเดินทางที่ชาวต่างชาติเหล่านี้ยอมรับ เพราะบริการของเรามีใช้งานกันหลายประเทศจึงเป็นที่คุ้นเคย

ไม่ใช่ฝรั่งทุกคนจะพูดภาษาไทย สื่อสารและต่อรองค่ารถในการเดินทางได้ พวกเขาต้องการการเดินทางท่ีสะดวกและลดช่องว่างในการสื่อสาร Grab จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่พวกเขายอมรับและใช้งานกันทุกครั้งที่เดินทางมาประเทศไทย

ซึ่ง Grab ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าในธุรกิจ Ride Sharing ให้เกิดในไทยต่อไป