Site icon Thumbsup

กรณีน่าคิดเมื่อ “ไทยพาณิชย์และ Kimberly-Clark” ตัดสินใจ Lean The Business

เพียงหนึ่งวันหลังจากการประกาศของธนาคารไทยพาณิชย์ว่าต้องการ Lean the Bank บริษัทยักษ์ใหญ่ในซีกโลกตะวันตกอย่าง Kimberly-Clark ก็ออกมาประกาศด้วยแนวทางที่แทบไม่ต่างกันว่า บริษัทต้องการเป็นธุรกิจที่ Lean ขึ้น Strong ขึ้น และ Fast ขึ้น แต่ความน่าสนใจคือรูปแบบของการทำธุรกิจให้ Lean ที่ทั้งไทยพาณิชย์และ Kimberly-Clark ทำนั้นแทบจะไม่ต่างกันเลยนั่นคือ

1. การลดจำนวนพนักงานลง

โดย Kimberly-Clark ตัดสินใจจะเลิกจ้างพนักงาน 5,000 – 5,500 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 12% ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่ไทยพาณิชย์เลือกที่จะบอกว่า บริษัทมีคนลาออกอยู่แล้วเฉลี่ยปีละ 3,000 คน จึงจะไม่รับพนักงานเพิ่มในส่วนของเจ้าหน้าที่สาขา และเร่งฝึกอบรมพนักงานที่มีอยู่เพื่อโอนย้ายบางส่วนไปสู่ธุรกิจของการบริหารความมั่งคั่งแทน โดยคาดว่าในปี 2020 ธนาคารจะมีพนักงานอยู่ที่ 15,000 คนจาก 27,000 คนตามเป้าที่ตั้งเอาไว้

2. ปิดโรงงาน vs ปิดสาขา

นอกจากนั้น Kimberly-Clark ยังปิดโรงงานผลิตไป 10 แห่งด้วย ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่ไทยพาณิชย์มีแผนจะปิดตัวสาขาลงจาก 1,153 สาขาให้เหลือ 400 สาขาเช่นกัน

3. การมองว่าความ Lean คือความแข็งแรง รวดเร็ว กระฉับกระเฉง

ศัพท์คำว่า Lean ถูกนำมาใช้กับการปรับโครงสร้างของทั้งไทยพาณิชย์ และ Kimberly-Clark ซึ่งทั้งคู่กล่าวเป็นนเสียงเดียวกันว่า การปรับโครงสร้างนี้ จะทำให้บริษัทผอมเพรียวมากขึ้น แข็งแรงมากขึ้น และรวดเร็วมากขึ้น

4. เจอสถานการณ์ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม

ไทยพาณิชย์เจอสถานการณ์ที่การทำธุรกรรมของลูกค้าเกิดขึ้นนอกสาขามากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ Kimberly-Clark เจอสถานการณ์ที่คนมีลูกน้อยลง ทำให้ผลิตภัณฑ์อย่างผ้าอ้อมเด็ก Huggies ขายไม่ออกตามไปด้วย

5. มุ่งสู่การลงทุนในดิจิทัลเหมือนกัน

ไทยพาณิชย์ลงทุนในดิจิทัลหลายด้าน ทั้งการพัฒนาบุคลากร การสร้างมันสมองของบริษัทอย่าง SCB Abacus การลงทุนด้าน AI, BigData, Machine Learning ซึ่งฟากของ Kimberly-Clark เองก็เช่นกัน ที่หันมาลงทุนเพิ่มในการทำตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล โดยมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายในหลาย ๆ ตลาดโดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่เติบโตได้ (เกินครึ่งของยอดขายผ้าอ้อมเด็กในจีนมาจากยอดขายออนไลน์)

ทั้งนี้ สิ่งที่สององค์กรนี้เหมือนกันคือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง และมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปีทั้งคู่ แต่สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการตัดสินใจของซีอีโอที่คล้ายกันมากนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ BBC, WSJ