Site icon Thumbsup

วิเคราะห์ ‘ไทยรัฐพลัส’ เพื่อนของคนรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกับยุคสมัย

ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ กลายมาเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสาร ส่งต่อ และบอกเล่าเรื่องราวมากมายที่อ่านไม่มีวันจบ ด้วยโลกที่เปิดกว้าง เนื้อหาที่หลากหลายจากใครสักคนในหลายมุมมอง ทำให้โลกออนไลน์มีทั้งเรื่องจริง เรื่องเชิงลึกจากการบอกเล่าและคงหนีไม่พ้น Fake News หรือการหลอกลวงเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

เช่นเดียวกับ การเป็นสื่อใหม่บนโลกออนไลน์ที่เปิดตัวใหม่ง่ายขึ้น แต่จะรู้ได้อย่างไร ว่าเนื้อหาที่ส่งต่อ เขียนถึง รวมทั้งวิเคราะห์มานั้น สามารถเชื่อถือหรือนำไปใช้อ้างอิงได้ ทีมงาน thumbsup จะมาทำความรู้จัก ‘ไทยรัฐพลัส’ สื่อดิจิทัลใหม่จากไทยรัฐออนไลน์ ไปพร้อมกับเหล่า thumbsupers กันค่ะ

ทำไมต้อง THAIRATH+

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้อ่านยุคสมัยไหนก็ต้องเคยเห็นหรือสัมผัสกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกันมาบ้าง แต่ไทยรัฐในวันนี้จะมีทั้งทีวีดิจิทัล เว็บไซต์ สื่อโซเชียลมีเดีย นั่นจึงทำให้เป็นโอกาสที่ไทยรัฐก็อยากจะขยายเส้นทางใหม่ให้เข้าถึงผู้อ่านที่มีทัศนคติและความต้องการเข้าถึง ‘ เนื้อหา ‘ ใหม่ ๆ ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น

การเปิดตัว “ไทยรัฐพลัส” (THAIRATH+) ของไทยรัฐออนไลน์ แบรนด์สื่อดิจิทัลน้องใหม่ในเครือไทยรัฐกรุ๊ป จะมาร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ตามคอนเซ็ปต์ของ ‘ไทยรัฐพลัส’ คือมุ่งเน้นการนำเสนอเนื้อหาผ่านรูปแบบที่ทันสมัย และสร้างบทสนทนาในสังคม เพื่อส่งต่อให้คนในสังคมต่อยอดการคิดวิเคราะห์ และชวนคิด ผ่านไอเดียและแนวคิดที่ว่า We speak to SPARK+ “ตั้งคำถาม หาคำตอบ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนสู่สังคม”

คุณธนวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการออนไลน์ไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี3 จํากัด) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การเปิดตัวไทยรัฐพลัสนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า การเปิดตัวไทยรัฐพลัสในครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของไทยรัฐออนไลน์ แม้ปัจจุบันไทยรัฐออนไลน์จะเป็นเว็บไซต์ข่าวอันดับหนึ่งของประเทศไทย แต่เราต้องไม่หยุดพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ นำเสนอแนวคิด ผ่านมิติที่ต่างออกไปให้กับผู้ใช้งานทุกคน

ทั้งนี้ หวังว่าการเปิดตัวไทยรัฐพลัส จะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสร้างสรรค์

จุดเหมือนหรือต่างระหว่าง “ไทยรัฐพลัส กับ ไทยรัฐออนไลน์”

หากไทยรัฐออนไลน์คือช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร “ไทยรัฐพลัส” ก็คือ ‘การวิเคราะห์และนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับข่าวที่เข้มข้นและหลากหลายกว่า‘ ทีมงาน thumbsup ได้เข้าไปอ่านในหลายบทความของ ไทยรัฐพลัส และรู้สึกว่าในหลายเนื้อหาเชิงลึกที่ถูกนำมาเขียนและวิเคราะห์นั้น มีการเตรียมข้อมูลมาค่อนข้างมาก เพื่อให้การเขียนนั้นเป็นไปอย่างรอบด้าน และมีการนำ “เสียง” ของคนรุ่นใหม่ที่ส่งต่อกันบนโซเชียลมีเดีย มาบอกต่อเพื่อให้คนอ่านเห็นภาพชัดขึ้น

ไม่ใช่แค่การเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่ แต่ไทยรัฐพลัสได้เตรียมความพร้อมในการนำเสนอเนื้อหาหลายรูปแบบทั้ง Infographic, Data Visualization, Data Journalism และ Creative Video ก่อนจะเคาะออกมาว่าจะมีส่วนผสมอะไรในบทความ เพื่อนำเสนอและเพิ่มความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวได้หลายมิติให้มีความน่าสนใจ และช่วยทำความเข้าใจในเนื้อหาที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น หรือย่อยเรื่องยากให้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ตามปกติเวลาคนเราอ่านข่าวหรือข้อมูลใดๆ นั้น จะเกิดข้อสงสัยหรือคำถามในใจมากมาย และอยากที่จะแชร์ความรู้สึกซึ่งหลายข่าวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน ย่อมต้องการ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ออกมาวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนความคิด และชิ้นงานเขียนนั้นควรเป็นแบบ Critical Thinking มากกว่าแค่อ่านและจบไป ซึ่งตรงตามแนวคิดของทางไทยรัฐพลัสเอง ที่ต้องการจุดประกายความคิดให้กับผู้คน หรือ We speak to SPARK+ นั่นเอง

ด้วยกลุ่มเป้าหมายของ ไทยรัฐพลัส จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้หมายถึงคนอายุน้อย หรือ Gen Z แต่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานหรือ Gen Y มีช่วงอายุตั้งแต่ 20-45 ปี ที่มีหัวสมัยใหม่ คิดนอกกรอบ มีความหลากหลายในเรื่องรสนิยม การช่วยเหลือสังคมและต้องการคอนเทนต์ที่เจาะลึกกว่าข่าวแบบทั่วไป

ทำให้เนื้อหาหรือประเด็นที่เลือกมานำเสนอ ต้องเป็นเรื่องจริง ที่น่าสนใจจะนำมาเจาะลึกหรือนำเสนอในแง่มุมที่มากกว่าแค่ข่าวที่นำเสนอตามหลักการ 3 ข้อ คือ พาดหัวข่าว สรุปและเนื้อหา แต่จะต้องมีความครอบคลุม อ้างอิงและวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล สมกับความเป็นสื่อยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องความรู้

ดีไซน์แบบใหม่ที่อ่านง่าย ไม่รกไปด้วยโฆษณา

ปัญหาใหญ่ของหลายเว็บไซต์ข่าวชั้นนำของประเทศไทย คือ มีโฆษณามากเกินไปจนรกสายตาคนอ่าน บางข่าวที่คนสนใจมากๆ เมื่อเปิดเข้าไปอ่านเนื้อหากลับต้องเจอแถบโฆษณามารบกวนหรือบางโฆษณาก็คละอยู่กับเนื้อหาข่าวจริง ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของแต่ละสำนักข่าว

แต่เว็บไซต์ของ “ไทยรัฐพลัส” ได้รับการออกแบบให้ดูทันสมัย สะอาดตา เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถรับชมเนื้อหาบนเว็บไซต์เป็นระยะเวลานานได้อย่างสบายๆ สอดรับกับรูปแบบของเนื้อหาซึ่งเน้นการให้ข้อมูลเชิงลึก และบทวิเคราะห์แบบจัดเต็ม

หมวดเนื้อหาก็มีการแบ่งเป็น 7 หมวด ตามความชอบของผู้อ่านที่แตกต่างกัน

ประเด็นที่น่าถกในสังคม

ด้วยปริมาณของข้อมูลข่าวสารที่ไหลเข้ามาในชีวิตของแต่ละคนจำนวนมาก ทำให้ผู้อ่านเองก็อยาก “ถก” ปัญหาหรือข้อสงสัยเป็นเสียงออกมาแก่ผู้เขียนเช่นกัน บทความในไทยรัฐพลัส นั้น เหมือนให้เราย้อนกลับไปอ่านหนังสือเกิน 7 บรรทัดอีกครั้ง

หลายประเด็นที่น่าสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาเขียน ไม่ว่าจะเป็น

“You Messed with the wrong Generation” เพราะโตมากับปัญหาเก่า เราจึงเรียกร้องอนาคต ที่ตีแผ่แง่มุมของปัญหาการออกมาประท้วงของเด็กรุ่นใหม่ ที่กำลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ขณะเดียวกันก็นำเสนอปัญหาในอดีตว่าผู้ใหญ่เขาผ่านอะไรกันมาบ้าง และตอนนี้เรากำลังเจอปัญหาอะไร

วิกฤตโรคระบาด กับ “โอกาส” ในการเติบโตของเด็ก ที่ไม่อาจหวนคืน เพราะไม่ใช่แค่ธุรกิจที่ต้องปิดตัวลงจากภาวะการแพร่ระบาด หรือต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ “เด็ก” ก็เป็นอีกหนึ่งเจเนอเรชั่นในสังคม ที่ต้องเกิดมาพร้อมกับ ความปกติใหม่ที่บางคนต้องใช้ชีวิตกับ “หน้ากาก” ไปแบบไม่รู้วันจบ รวมทั้งโลกแห่งการออกไปแสวงหาและเรียนรู้ก็กลายมาเป็นกรอบที่อยู่แค่หน้าจอเพื่อการศึกษา

Nazi Olympics 1936 มหกรรมกีฬาที่เสียดแทง “ความเป็นมนุษย์” จากมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับโลก ที่ในอดีตเคยผ่านยุคสมัยของกีฬาที่ถูกนำมาใช้ เชิดชูเยอรมัน/ต่อต้านยิว กับการบริหารบ้านเมืองที่โหดร้าย จนมีการประท้วงต่อต้านการจัดงาน

หลายเนื้อหาที่ถูกนำมา “บอกต่อ” และสรุปออกมาเป็นเรื่องราวบน “ไทยรัฐพลัส” จะไม่ใช่แค่แหล่งข่าวสักคนเคยกล่าวถึง แต่จะเป็นเนื้อหาที่ถูกนำไปอ้างอิงความรู้ในอนาคต เพื่อให้คนออนไลน์ยุคใหม่ ได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ “เค้าเล่าว่า….” อีกต่อไป

ผู้ที่สนใจอยากเข้าไปอ่านบทความดีๆ สามารถติดตามได้ที่

 

 

 

บทความนี้เป็น Advertorial