Site icon Thumbsup

แกะรอย Lazada ก่อนจะมาเป็นเครื่องจักรทำเงินตัวใหม่ให้ Alibaba ในปี 2017

ย้อนไปในปี 2012 ซึ่งเป็นปีที่ Lazada ถือกำเนิดขึ้นโดยทีมงานจาก Rocket Internet GmbH นั้น คงต้องบอกว่าหากซีกโลกตะวันตก มีชื่อของ Amazon เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce รายหลัก ทีมงานผู้พัฒนาอย่าง Rocket Internet ก็ตั้งเป้าให้ “Lazada” เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce รายหลักแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน

โดยการเปิดให้บริการของ Lazada นั้น เน้นใน 6 ประเทศหลักได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม สินค้าหลักคือสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องสำอาง ความสวยความงาม แฟชั่น ของใช้ภายในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ สมาร์ทโฟน ฯลฯ

แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันสำหรับ Lazada คือการมาถึงที่ “ถูกเวลา”

เพราะหากเทียบกันแล้ว Amazon ใช้เวลาในการสร้างอาณาจักรมากกว่า 10 ปี แต่ Lazada ใช้เวลาเพียง 3 ปีก็ก้าวขึ้นเป็นแพลตฟอร์มด้าน Marketplace ยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2013 นั้น Lazada มียอดขายราว 89 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะกระโดดขึ้นมาในปี 2014 ไปอยู่ที่ยอดขาย 350 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

เรื่องนี้ผู้บริหาร Lazada ยกความดีให้การขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน และมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักช้อปออนไลน์กว่า 256 ล้านคน ว่ามีส่วนช่วยผลักดัน ประกอบกับการจัดโปรโมชันต่าง ๆ ไปจนถึงการแจกรหัสส่วนลด Lazada ออกมามากมายให้นักช้อปออนไลน์ได้เอาไปใช้งานกัน แต่จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญมากคืองบในการโปรโมตที่ Lazada ใช้ทุกช่องทาง ทุกสื่อ และถือเป็นเว็บแรก ๆ ที่มีการโปรโมตผ่านทางทีวี (ที่ในยุคนั้นค่าโฆษณาทางทีวีก็ไม่ได้ลดแลกแจกแถมเหมือนในยุคนี้)

ในด้านการพัฒนาของตัวเว็บไซต์ ในปี 2013 Lazada ได้เริ่มพัฒนาการเป็นหน้าร้าน (Marketplace Model) อนุญาตให้ผู้ค้ารายอื่น ๆ เข้ามาขายสินค้าของตนเองได้มากขึ้น ซึ่งต่อมาในปี 2014 ก็พบว่ายอดขายจาก Marketplace นั้นคิดเป็น 65% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท

แต่การเติบโตของ Lazada เตะตายักษ์ใหญ่จากแดนมังกรอย่าง Alibaba ของ Jack Ma เข้าอย่างจัง นั่นจึงทำให้เกิดการเจรจาก่อนจะนำมาซึ่งการซื้อกิจการ Lazada เมื่อเดือนเมษายน 2016 โดย Alibaba ได้จ่ายเงินไปทั้งสิ้น 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เข้าซื้อหุ้นจากการเพิ่มทุน และซื้อหุ้นจากนักลงทุนเดิม) ในการเข้าถือหุ้นใหญ่ของ Lazada และจากการเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้ทำให้มูลค่าบริษัท Lazada ขึ้นไปอยู่ที่ 1,500 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 52,600 ล้านบาท

การขยับครั้งใหญ่ของ Alibaba ในครั้งนี้เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ของ Jack Ma หัวเรือใหญ่ของ Alibaba ที่มองว่าธุรกิจของบริษัทยังอิงอยู่กับรายได้จากตลาดจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นบริษัทควรจะมีการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น และเขาตั้งเป้าหมายให้ Alibaba มีรายได้ครึ่งหนึ่งมาจากตลาดนอกประเทศจีน ซึ่ง Lazada ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นเป้าหมายที่ดีที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจของ Alibaba ตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้

ผลคือ Jack Ma คาดการณ์ถูกเผง เมื่อผลประกอบการไตรมาสสองของปีนี้ ทาง Alibaba ระบุว่าสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 389 ล้านเหรียญสหรัฐจากตลาดอื่นที่ไม่ใช่ประเทศจีน สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 136% เมื่อเทียบจากปีที่แล้ว

สำนักข่าว TechinAsia ระบุว่าตัวเลขยอดขายจากตลาดนอกประเทศจีนที่ Alibaba ทำได้ในช่วงเมษายน-มิถุนายนปีนี้ถือเป็นสถิติสูงสุดที่บริษัทเคยทำมา จุดนี้ Alibaba ยอมรับว่าการเติบโตนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ของ Lazada ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ปัจจุบัน Lazada จึงอยู่ในฐานะ “ผู้ได้ไปต่อ” โดยมีผู้ค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศกว่า 100,000 ร้านค้า และแบรนด์สินค้ากว่า 2,500 แบรนด์ ให้บริการแก่ผู้บริโภคกว่า 560 ล้านคนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยทุกวันนี้ จำนวนคนเข้าเว็บไซต์ Lazada เฉลี่ยใน 1 ปี มากกว่าจำนวนคนเข้าตลาดนัดจตุจักรถึง 50 เท่า โทรศัพท์มือถือที่ Lazada ขายได้ทั้งหมดคือ 1.4 ล้านเครื่อง ซึ่งถ้านำมาต่อกันจะมีความสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ถึงสองร้อยตึก ส่วนรถส่งสินค้านั้น ภายใน 1 วันพบว่าวิ่งเป็นระยะทางเฉลี่ย 833,333 กิโลเมตร หรือเท่ากับระยะทางไป-กลับระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลย

ในสถานการณ์ที่หลาย ๆ คนมองว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลคือทางรอดของคนค้าขาย นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับผู้ค้าและผู้ซื้อ ที่ลงทุนทำจริง และเติบโตได้จริง

บทความนี้เป็น Advertorial