Site icon Thumbsup

มีอะไรใหม่บนเวที Line Conference 2018

เพิ่งจัดงานแถลงข่าวครั้งใหญ่ประจำปีไปเมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับ LINE Conference 2018 ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่  กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และทาง Thumbsup จะมาสรุปเรื่องราวทั้งหมดให้อ่านกันค่ะ

ทาเคชิ อิเดซาว่า ประธานกรรมการบริหาร

ในปีนี้ LINE จะมีการประกาศ Redesign เพื่อปรับรูปแบบสำหรับกลุ่มการสื่อสาร คอนเทนต์ ธุรกิจและอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้งานมากขึ้น รวมทั้งยังประกาศวิสัยทัศน์ในการผลักดันแนวคิดเกี่ยวกับ Blockchain ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้อินเทอร์เน็ตให้เปลี่ยนไป จนมาสู่แนวคิด “LINE Token Economy”

LINE Token Economy

สำหรับรูปแบบของ LINE Token Economy เป็นสิ่งที่บริษัทสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี Blockchain มีวัตถุประสงค์ในการให้รางวัลผู้ใช้งานในการรีวิวบริการต่างๆ ด้วยสกุลเงินของ LINE เรียกว่าเป็นการให้ Incentive กับผู้ใช้งานเพื่อให้บริการต่างๆ มีโอกาสเติบโตและขยายฐานผู้ใช้งานได้มากขึ้น ซึ่งจะนำแนวคิดนี้ไปใช้กับหลายบริการและกลุ่มผู้ใช้งาน และหวังขยายระบบ Token Economy นี้ไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของ LINE ที่มีความต้องการแบบเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่าย ในการจัดทำระบบขึ้นมาเองสำหรับบริการหรือแบรนด์นั้นๆ 

โดย LINE ได้ลงทุนในการสร้าง “LINE Blockchain Lab” ซึ่งเป็นแผนกวิจัยภายใน LINE เพื่อออกแบบและพัฒนา App services และได้ร่วมมือกับโครงการ Blockchain ระดับโลกอย่าง ICON ในการก่อตั้ง “unchain” สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับ token economy เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

LINE Music

ธุรกิจในกลุ่มเพลงเองก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในญี่ปุ่นถือว่าเป็นผู้นำบริการสตรีมมิ่งเพลงไปแล้ว ด้วยยอดดาวน์โหลดแอป เกินกว่า 26 ล้านครั้ง (ในเดือนพฤษภาคม 2561) มีผู้ใช้งาน Ticket ประมาณ 1.3 ล้านคน โดยเพิ่ม 2 ฟีเจอร์ใหม่ คือ Chat BGM และ Music Videos เพื่อเพิ่มโอกาสโตในบริการและอุตสาหกรรมเพลงโดยรวม 

ทั้งนี้ Chat BGM มีแผนเปิดตัวในช่วงฤดูร้อน 2561 สำหรับบริการ “Background Music” เป็นฟีเจอร์ที่มีผู้ใช้แล้วเกินกว่า 7.8 ล้านคนที่ให้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าเพลงโปรดในโปรไฟล์ LINE ได้ ส่วนรูปแบบของ “Chat BGM” จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้นำเพลงที่ชื่นชอบเข้าสู่หน้าแชตซึ่งเป็นหน้าที่มีการใช้งาน LINE บ่อยที่สุด โดยสามารถปรับแต่งได้หลากหลาย เช่น ตั้งค่าเพลงเป็น “theme song” สำหรับเปิดในห้องแชตระหว่างผู้ใช้กับเพื่อนใน LINE เป็นต้น

ทางด้านของ Music Video มีแผนเปิดตัวในช่วงฤดูใบไม้ร่วง 2561 โดยผู้ใช้งานสามารถชมมิวสิควิดีโอจากแอปฯ LINE Music ได้จากหลายค่ายเพลงดัง เช่น Universal Music LLC / avex entertainment Inc / JVC KENWOOD Victor Entertainment Corp. / Pony Canyon Inc. / King Record Co., Ltd. / Space Shower Networks Inc. / K.K. A-Sketch / Sony Music Entertainment (Japan) Inc. เป็นต้น

LINE Manga

LINE ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ NAVER WEBTOON บริการหนังสือและการ์ตูนอันดับ 1 จากเกาหลี เพื่อขยายบริการด้านการ์ตูนดิจิตอล “LINE Manga” LINE ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรโดยการร่วมทุนกับ NAVER WEBTOON Corporation ผู้ให้บริการหนังสือและการ์ตูนออนไลน์ทั้งในเกาหลีและต่างประเทศ ในการก่อตั้ง LINE Digital Frontier Corporation เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 โดยมีแผนที่จะควบรวม “XOY” บริการการ์ตูนออนไลน์ฟรีของ NAVER WEBTOON ในญี่ปุ่นไว้ใน LINE Manga ภายในปี 2561 นี้

จุน มาซึดะ ประธานกรรมการบริหารฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด LINE

LINE Quick Game

เตรียมให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกมผ่านออฟฟิเชียลแอคเคาท์ใน LINE ได้โดยไม่ต้องออกจากแอปฯ หรือติดตั้งแอปฯ เกมแยก โดยมีแผนที่จะเปิดตัว 8 เกมในช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งมีทั้งเกมแนวพัซเซิล shooting และ chat-based story  ทั้งนี้ LINEมุ่งมั่นที่สรรหาเกมคุณภาพดีมาเพิ่มเติมเพื่อขยายฐานให้กว้างมากขึ้น 

LINE ได้ร่วมเซ็นต์สัญญาเป็นพันธมิตรกับ NetEase Games เพื่อเชื่อมต่อ LINE เข้ากับสุดยอดเกมฮิตระดับโลกอย่าง “Knives Out” ให้ผู้เล่นสามารถใช้ประโยชน์จาก LINE สร้างโซเชียลของเกมได้ โดยจะมีกำหนดการปล่อยออกมาในเร็วๆ นี้

“Smart Channel” เป็นพื้นที่ข้อมูลรูปแบบใหม่ที่จะมาอยู่ด้านบนของหน้ารายการแชต โดยจะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการทราบ/รับรู้มากที่สุดในช่วงใดช่วงหนึ่ง Smart Channel สามารถให้ข้อมูลเฉพาะเจาะจงที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ได้ เช่น สภาพอากาศ ข่าวสำคัญ ข้อมูลภัยพิบัติ และอื่นๆ อิงตามข้อมูลที่ผู้ใช้เป็นคนป้อนให้และตามประวัติการทำกิจกรรมต่างๆ ใน LINE จะเปิดให้บริการภายในปี 2561 นี้

 

LINE@

ทางด้านธุรกิจโฆษณาของ LINE จนถึงปัจจุบันเป็นสื่อโฆษณาที่เน้นแนวคิดด้านการสื่อสารกับผู้ใช้ เช่น ออฟฟิเชียลแอคเคาท์ใน LINE และ Sponsored Stickers ซึ่ง LINE ได้ประกาศปรับรูปแบบบริการนี้ใหม่สู่การเป็น Business Solution ที่ช่วยลดช่องว่างหรือเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งาน แบรนด์/ธุรกิจ และเจ้าของธุรกิจเข้าด้วยกัน ด้วยการปรับมูลค่าของบริการ LINE จากเป็นเพียงสื่อโฆษณาเป็นบริการสำหรับผู้ใช้โดยบริษัทหรือเจ้าของธุรกิจต่างๆ

LINE Official Accounts สำหรับองค์กรหรือแบรนด์ขนาดใหญ่ และ LINE@ สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะถูกรวมกันเป็นโซลูชั่นเดียวภายใต้ชื่อ “LINE Official Accounts” ยิ่งไปกว่านั้น LINE จะผนวกรวม LINE Business Connect บริการที่ช่วยสร้างการสื่อสารสองทางระหว่างแบรนด์กับผู้ใช้งาน, LINE Customer Connect บริการช่วยเหลือลูกค้าสำหรับแบรนด์ต่างๆ และ LINE Point Connect โปรแกรมการให้ LINE Point แก่ผู้ใช้งานของแบรนด์ต่างๆ เข้าไปอยู่ใน LINE Official Account อีกด้วย

ส่วน API จะเป็นทางเลือกที่จะทำให้แบรนด์และเจ้าของธุรกิจสามารถให้ข้อมูลหรือบริการที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ผู้ใช้แต่ละคนและทุกคนได้ โดยในอนาคต แบรนด์/บริษัทจะสามารถใช้ LINE Official Accounts  ได้โดยค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 0 เยนต่อเดือน ทำให้แบรนด์และเจ้าของธุรกิจสามารถใช้บริการอันหลากหลายของ LINE ได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่

LINE ต้องการที่จะเข้าถึงภาคธุรกิจ SMB ด้วยการจัดตั้งทีมฝ่ายขายในโอซาก้าและฟูกูโอกะ นำเสนอ  self-serving ads ภายใน LINE Ads Platform และมองหาบริการสำหรับ SMB มาเพิ่มเติมใน LINE Promotion Stickers และ LINE Point Code

หลายบริการหลักของ LINE ที่ประกาศชัดบนเวทีของปีนี้ เรียกได้ว่า LINE กำลังผงาดขยายธุรกิจไปในหลายกลุ่มได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียวนะคะ ซึ่งแน่นอนว่าบนเวทีมีการระบุชัดเจนว่าไทยและไต้หวันเป็นอีก 2 ตลาดที่สำคัญของ LINE จนได้ขึ้นเวทีประกาศความสำเร็จในหลายเรื่องทั้งแนวการพัฒนาธุรกิจ ผลความสำเร็จและอื่นๆ โดยจะให้ความสำคัญกับความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศและสนับสนุนให้มีการพัฒนาธุรกิจที่เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ ได้อย่างอิสระ เพื่อให้ LINE กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วย