Site icon Thumbsup

6 สิทธิที่จะถูกจำกัดและวิธีแจ้งเหตุ กรณีไม่สามารถไปเลือกตั้งท้องถิ่น

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 บางคนอาจติดธุระหรือเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านไปใช้สิทธิลงคะแนนได้ ซึ่งอาจทำให้เสียสิทธิต่างๆ ตามพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 42

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ได้ระบุถึงสิทธิที่จะถูกจำกัด กรณีไม่ไปเลือกตั้งท้องถิ่น และวิธีแจ้งเหตุกรณีไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ ดังนี้

หากไม่ไปเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ จะถูกจำกัดสิทธิ ดังต่อไปนี้

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

เพื่อไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิ ผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งจำเป็นต้องแจ้งเหตุที่ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเทศบาลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเพื่อรักษาสิทธิ ซึ่งต้องใช้เอกสาร ดังนี้

  • แบบฟอร์มหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=419 โดยกรอกรายละเอียดเพียง หน้าแรก หน้าเดียวเท่านั้น
  • สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง

โดยสามารถไปแจ้งด้วยตัวเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนโดยจ่าหน้าซองถึงนายทะเบียนอำเภอ ส่งไปยังที่ว่าการอำเภอ ตามที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

สามารถตรวจสอบว่าชื่อของตนเองอยู่ในเขตใดได้ที่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc

ทั้งนี้ การแจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้ง ต้องแจ้งภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง คือระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม 2563 หรือ ภายใน 7 วัน หลังวันเลือกตั้ง คือ ระหว่างวันที่ 21-27 ธันวาคม 2563 

ที่มา iLaw