Site icon Thumbsup

MAAT เปิดตัวเลขธุรกิจสื่อโฆษณา พร้อมทิศทางการเติบโต 2017 เล็ง IoT มาแรง (อีกแล้ว)

MAAT เปิดตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาปี 2559 ลดลง 11 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มที่ลดลงสูงสุดคือ เคเบิลทีวีและทีวีผ่านดาวเทียมที่ลดลงถึง 43% ตามมาด้วยนิตยสาร (29%) และหนังสือพิมพ์ (20%) ขณะที่กลุ่มที่เติบโตสูงคือสื่อนอกบ้าน เช่น สื่อในโรงภาพยนตร์ สื่อในการเดินทาง สื่อในห้างสรรพสินค้า โดยหมวดที่ใช้เงินโฆษณาสูงสุดสามอันดับแรกคือ รถยนต์, เครื่องดื่ม (ไร้แอลกอฮอล์) และ Communications

อีกครั้งกับสมาคมมีเดียเอเจนซี และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยหรือ MAAT  (Media Agency Association of Thailand) ที่เปิดเผยตัวเลข ทิศทางการเติบโต และความเคลื่อนไหวในวงการธุรกิจสื่อโฆษณา โดยพบว่านอกจาก Section ของธุรกิจที่ลงโฆษณาสูงสุดตามที่ถูกจัดอันดับไว้ข้างต้นแล้ว หากจำแนกตามแบรนด์ยังพบว่า สามอันดับแรกของแบรนด์ที่มีการลงโฆษณาสูงสุดคือ Unilever, Toyota และ AIS ด้วย

จากตารางด้านล่างแสดงให้เห็นถึงงบประมาณด้านโฆษณาที่มีการใช้จ่ายเปรียบเทียบระหว่างปี 2015 กับ 2016 ซึ่งลดลงแทบทุกสื่อ

อย่างไรก็ดี สำหรับทิศทางการเติบโตในปี 2017 นั้น ทางสมาคมฯ คาดว่า ด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และค่า GDP ที่จะเพิ่มขึ้น 3.3% ในปีนี้ ประกอบกับการลงโฆษณาที่กลับมาทำได้เหมือนเดิม และรายการโทรทัศน์ที่กลับมาเป็นปกติ จะเป็นตัวช่วยให้เม็ดเงินโฆษณากลับมา โดยอาจเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% เลยทีเดียว

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมสื่อในปี 2017 นี้ ทางสมาคมฯ มองว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกำลังเข้าสู่ยุคของ Data Intelligence ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง และต้องเตรียมตัวรับการมาถึงของ IoT (Internet of Things) ที่คาดว่าภายในปี 2021 อาจมีการใช้งานอุปกรณ์ IoT ถึง 46,000 ล้านชิ้นเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดฟอรัมเสวนาเรื่อง “Survival in Print” โดยมีคุณฐากูร บุญปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และคุณทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a Day บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด มาร่วมอภิปรายให้ความเห็น

นายฐากูรเผยว่า ยุคแห่งความตกต่ำของสื่อสิ่งพิมพ์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งคนทำหนังสือพิมพ์บางส่วนก็ย้ายไปสู่การทำทีวีดิจิตอล แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิด ขณะที่การย้ายไปสู่โลกออนไลน์นั้น เราก็พบว่าโฆษณามันอยู่ในเน็ตเวิร์กของ Google และ Facebook สูงมาก แต่รายได้ตกมาถึงคนทำสื่อนิดเดียว ซึ่งหากมองในแง่ดีก็คือ ยังมีโอกาสอีกเยอะ แต่ถ้ามองในแง่ร้ายก็คือ ทำแทบตาย แต่ไม่สามารถเปลี่ยนคอนเทนต์เป็นตัวเงินได้

“สถานการณ์โลกตอนนี้มีเพียงสองประเทศที่หนังสือพิมพ์มียอดพิมพ์สูงขึ้น คือจีนและอินเดีย นอกนั้นลดหมด สื่อระดับ New York Times เองกว่าที่จะกลับมาเอาชนะ BuzzFeed ที่เป็นบริษัทเล็กๆ ได้ก็ใช้เวลาถึง 5 ปี แถมยังต้องแลกมากับการปรับโครงสร้างต่าง ๆ มากมาย”

ด้านนายทรงกลดให้มุมมองในฝั่งนิตยสารโดยยกกรณีของอินเทอร์เน็ตกับตลาดหนังสือไกด์บุ๊กว่า จริง ๆ แล้วตลาดไกด์บุ๊กควรจะตาย เพราะมีข้อมูลให้เสิร์ชหาเต็มไปหมด แต่ตรงกันข้าม ไกด์บุ๊กบางเล่มยอดขายสูงมาก นั่นจึงหมายความว่า ถ้าเราทำคอนเทนต์ได้ถูกต้อง ถูกเวลา ก็ยังมีคนรอซื้ออย่างแน่นอน

“ทุกวันนี้ถ้าหากสื่อมุ่งแต่ตัวเลข มุ่งแต่ยอด Like ยอด View คุณภาพของคอนเทนต์ก็จะลดลง หน้าที่เราจึงต้องทำคอนเทนต์ให้ดี” นายทรงกลดกล่าว ขณะที่นายฐากูรทิ้งท้ายว่า ขอให้คนทำสื่ออย่าเพิ่งท้อ เนื่องจาก “ยังมีอะไรให้ทำรออยู่อีกมาก” นั่นเอง