Site icon Thumbsup

อันดับธุรกิจเปลี่ยน ตลาดจีนมาแรง Tencent และ Alibaba กลายเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งมากที่สุด

PwC เผยมาร์เก็ตแคปของ 100 บริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 31 มีนาคม 2561 เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะ 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เปรียบเทียบกับดัชนี MSCI World Index ที่เพิ่มขึ้นเพียง 11.5% โดยบริษัทสหรัฐฯ ยังครองตำแหน่งผู้นำมาร์เก็ตแคปตลาดโลก ขณะที่บริษัทจดทะเบียนจีนตามมาเป็นอันดับที่ 2 พบอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การเงิน และสินค้าผู้บริโภค มีมาร์เก็ตแคปเติบโตสูงสุด ด้านมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทย มองยังคงเติบโตในระยะยาว หลังมีพัฒนาการทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หุ้นส่วน และหัวหน้าสายงาน Clients and Markets บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Global Top 100 companies by market capitalisation ของ PwC ที่ทำการวิเคราะห์ 100 อันดับบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงสุดของโลกว่า มาร์เก็ตแคปรวมของ 100 บริษัทขนาดใหญ่ของโลก 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 20,035 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2,597 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 15% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของมาร์เก็ตแคปนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 12% 

ทิศทางตลาดโลก

ทั้งนี้ 48% ของมาร์เก็ตแคป 100 บริษัทขนาดใหญ่ของโลกที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมานั้น เพราะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และ กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เห็นสัญญาณของการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่มาร์เก็ตแคปของบริษัทจากฝั่งยุโรปก็เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แต่ส่วนแบ่งการตลาดยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

รายงานระบุว่า เกินกว่าครึ่งของ 100 อันดับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุดของโลกเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน (หรือ 54 บริษัท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 55 บริษัท) ซึ่งนับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยคิดเป็น 61% ของมาร์เก็ตแคปรวม ลดลงจาก 63% ในปีที่แล้ว

สำหรับบริษัทที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นสูงที่สุด 3 อันดับแรกจาก 100 อันดับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของโลก 31 มีนาคม 2561 ได้แก่ อันดับที่ 1 Amazon โดยมีมูลค่าของมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นถึง 278 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่อันดับที่ 2 และ 3 เป็นบริษัทสัญชาติจีน ได้แก่ Tencent มีมูลค่าของมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 224 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 82% และ Alibaba มีมูลค่าของมาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 201 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 75% ตามลำดับ ขณะที่บริษัทที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นสูงที่สุด 3 อันดับถัดมา ล้วนเป็นบริษัทจดทะเบียนจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Microsoft, Alphabet และ Apple

อย่างไรก็ดี Apple ถือเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่อันดับที่ 1 ของโลกเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน แม้ว่ามูลค่ามาร์เก็ตแคปที่เพิ่มขึ้นจะเป็นอันดับที่ 6 ของโลกก็ตาม ขณะที่อันดับที่ 2 ได้แก่ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ซึ่งช่องว่างของมูลค่ามาร์เก็ตแคประหว่าง Alphabet กับ Apple นั้น ยังค่อยๆ แคบลงเรื่อยๆ โดย 31 มีนาคม 2561 ส่วนต่างระหว่างมูลค่ามาร์เก็ตแคปของทั้งสองบริษัทลดลง 25% เหลือ 132 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 175 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า Apple เป็นบริษัทที่มีมูลค่าการจ่ายคืนผู้ถือหุ้นสูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในโลก เห็นได้จากการจ่ายปันผลและการซื้อหุ้นคืนในปีที่ผ่านมา ถึง 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ JP Morgan Chase มีการจ่ายคืนผู้ถือหุ้นสูงเป็นอันดับที่ 2 ด้วยมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ก่อน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามรายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี (Technology) มีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 โดยนำหน้ากลุ่มการเงิน (Financials) ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ตามด้วยกลุ่มสินค้าผู้บริโภค (Consumer goods) ในส่วนของบริษัทชั้นนำของโลก 3 อันดับแรก (Top 100 global companies) เป็นบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ Microsoft, Alphabet และ Apple ขณะที่ Tencent อยู่ในอันดับที่ 5 และ Facebook รั้งอันดับที่ 8 โดยตกจากอันดับที่ 6 เมื่อปีที่แล้ว

ในส่วนของบริษัทยุโรปนั้น ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เห็นได้จากความผันผวนของมูลค่าตลาดมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทในยุโรปเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยมีจำนวนของบริษัทยุโรปที่ติดอันดับ 100 บริษัทแรกเพิ่มจาก 22 เป็น 23 บริษัท หรือคิดเป็นมูลค่ามาร์เก็ตแคปที่เพิ่มขึ้นถึง 331 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้จะเห็นการปรับตัวดีขึ้น จำนวนบริษัทยุโรปที่ติดอันดับก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2553 ที่เคยมีบริษัทติด 100 อันดับแรกถึง 33 บริษัท ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดในปีนี้นั้น ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้วที่ 17% และลดลงจาก 27% ในปี 2552   

ตลาดจีนมาแรง

รายงานของ PwC ชี้ว่า มาร์เก็ตแคปของบริษัทจากจีนใน 100 อันดับแรกของโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 57% เปรียบเทียบกับปีก่อน โดยมีบริษัทสัญชาติจีนถึง 12 บริษัทที่ติดอันดับในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 10 บริษัทในปีที่ผ่านมา และยังมีบริษัทจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนอีก 2 บริษัทด้วย เพิ่มขึ้นจาก 1 บริษัทในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ Tencent ยังเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของจีนติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในปีนี้ และสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจาก Amazon โดยมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปที่เพิ่มขึ้นถึง 82% เป็น 496 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วย Alibabaในอันดับที่ 3 (บริษัทอันดับที่ 2 ของจีน)

โดยมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 75% เป็น 470 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งนี้ ยังช่วยผลักดันให้ทั้งสองบริษัท ติดอันดับบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุดในโลก 10 อันดับแรกโดย เทนเซ็นต์อยู่ในอันดับที่ 5 และ อาลีบาบาอยู่ในอันดับที่ 7

ลักษณะที่โดดเด่นของตัวเลขในปีนี้คือ การเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของมูลค่าตลาดของบริษัทชั้นนำจากจีน โดยจะเห็นว่า หลายปีที่ผ่านมา บริษัทอเมริกันเป็นผู้ขยายอาณาเขตทางธุรกิจไปทั่วโลก โดยมีความพร้อมทั้งในด้านของความเข้มแข็งทางการเงิน บวกกับความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทิ้งห่างบริษัทจากที่อื่นๆ ทั่วโลก

แต่มาตอนนี้ บริษัทจีนกำลังขยายการเติบโต ไล่ไต่อันดับขึ้นมาติดๆ และประสบความสำเร็จไม่แพ้บริษัทจากสหรัฐฯ การที่บริษัทอย่าง Tencent และ Alibaba ติดบริษัท 10 อันดับแรกของโลก ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จนี้ได้อย่างชัดเจน

ทิศทางตลาดไทย

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย หากพิจารณาจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า มาร์เก็ตแคปของ SET และ mai อยู่ที่ 18.1 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 15.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านล้านบาท หรือ 14.7% โดยบริษัทในกลุ่มบริการ มีมาร์เก็ตแคปใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ที่ 4.4 ล้านล้านบาท ตามด้วยอันดับที่ 2 กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากรที่ 4 ล้านล้านบาท และอันดับที่ 3 กลุ่มธุรกิจการเงินที่ 2.9 ล้านล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการที่เติบโตทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจและกิจการของประเทศที่ก้าวหน้าขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดหุ้นไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงบริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พลังงาน หรือ สื่อสาร เหมือนเช่นในอดีต

โดยบริษัทในกลุ่มบริการ ค้าปลีก สุขภาพ และ การท่องเที่ยว ได้กลายเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ขนาดของตลาดหุ้นไทยนั้น มีความหลากหลายและน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น สำหรับอนาคตต่อจากนี้ คงต้องจับตาบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งเวลานี้กำลังเป็นเทรนด์ของโลก”

ด้วยแนวโน้มความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป น่าจะยิ่งผลักดันให้บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีและตลาดทุนโดยรวมของไทยยิ่งเติบโตกว่าในยุคก่อนๆ