Site icon Thumbsup

มีเดียแพลนเนอร์เตรียมรับมือ สื่อใหม่ทำรายได้ผันผวน ไตรมาสแรกปีนี้เม็ดเงินชะลอตัว

สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) รายงานการใช้สื่อในปี 2561 เป็นตามคาดการณ์ไว้เติบโตเพิ่มขึ้น 5% ปีนี้คาดเติบโตเท่าปีก่อน ค่าสื่อขยายตัว (Inflation) เพิ่มขึ้นประมาณ 4% พร้อมแนะนักการตลาดปรับเปลี่ยนแผนงานตามสถานการณ์เฉพาะหน้ารับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง

นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (Media Agency Association of Thailand : MAAT) เปิดเผยถึงมูลค่าการใช้สื่อในปีที่ผ่านมาและคาดการณ์ปีนี้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างผันผวน ไตรมาสแรกการใช้สื่อลดลงเป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่รอการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุน และการใช้จ่ายของประชาชน

นอกจากนี้ การปรับราคาโฆษณาในช่วงต้นปี และการคืนสัมปทานช่องดิจิตอลทีวี เป็นปัจจัยในการใช้สื่อเปลี่ยนแปลง ในขณะที่งบโฆษณาที่เข้ามาเป็นสินค้าตามฤดูกาล เช่น เครื่องดื่ม เครื่องปรับอากาศ และเครื่องสำอาง เมื่อผ่านช่วงนี้ไปแล้วการลงทุน และการใช้จ่ายของประชาชนกลับมาใช้จ่ายตามปกติก็จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมโฆษณาอย่างแน่นอน

โฆษณาออนไลน์ยังรุ่ง

นายรัฐกร สืบสุข อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย เสริมว่า เมื่อพิจารณางบประมาณการใช้สื่อในปี 2561 ที่ผ่านมาพบว่า สื่อโฆษณาเติบโตดีขึ้นถึง 5% โดยสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์มีการเติบโตมากที่สุดถึง 34% ตามมาด้วยสื่อ ณ จุดขาย (In-Store) 16% สื่อนอกบ้าน (Outdoor) 6% สื่อโรงภาพยนตร์ 4% ตามลำดับ

ในปี 2562 คาดว่าการใช้สื่อไม่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากไตรมาสแรกงบประมาณการใช้สื่อลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้าต่างๆ จะใช้งบโฆษณา สำหรับปีนี้สมาคมฯ คาดการณ์ว่าทุกสื่อจะมีแนวโน้มลงลง อาทิ สื่อโทรทัศน์โดยรวม (ดิจิตอลทีวี เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) และ สื่อ ณ จุดขาย ไม่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา สื่อหนังสือพิมพ์จะลดลง 20% นิตยสารจะลดลด 25% วิทยุจะลดลง 5% สื่อนอกบ้าน (Outdoor) จะลดลง 2%

อย่างไรก็ตาม สื่อที่มีแนวโน้มเติบโตในปี 2562 แต่ก็ลดลงจากปีก่อน คือ สื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ เพิ่มขึ้น 16% และสื่อในการเดินทาง (Transit) เพิ่มขึ้น 10%

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งเสริมต่ออุตสาหกรรมโฆษณาปีหน้าในด้านบวกคือ GDP ที่เติบโต 3.5% การสนับสนุนรายได้ให้ประชาชนของภาครัฐ เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ ยังมีผู้โฆษณาใหม่ๆ เข้ามาในตลาด เช่น เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุค ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการตลาดแบบตรง (Direct Response)

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยด้านอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลต่อการใช้งบโฆษณา อาทิ การประหยัดงบโฆษณาของสินค้าต่างๆ  การเปิดตัวสินค้าใหม่ลดลง  การแข่งขันด้านราคาโฆษณาของสถานีโทรทัศน์  สินค้าหรือธุรกิจที่หันไปใช้สื่อดิจิตอลและอีเว้นท์มากขึ้น และการใช้วิธีวัดผลแบบใหม่ๆ ที่ลูกค้ากำหนด เป็นต้น

ทางสมาคมฯ ได้ประเมินการขยายตัวของค่าสื่อ (Media Inflation) โดยในปี 2561 ค่าสื่อปรับขึ้นประมาณ 7%  และในปี 2562 นี้คาดการณ์ว่าค่าสื่อจะปรับขึ้นประมาณ 4%

ถึงแม้ว่าในไตรมาสแรกการใช้สื่อลดลง อย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะเห็นสื่อลดลงด้วย เพราะมีสื่อที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สื่อดิจิตอล และนักพัฒนาซอฟท์แวร์ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างลงตัวอีกด้วย นักการตลาด นักวางแผนสื่อ ต้องมีความเข้าใจ พร้อมที่จะเรียนรู้ และสามารถปรับเพื่อเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที จะทำให้แคมเปญการตลาด การวางแผนสื่อประสบความสำเร็จเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในที่สุด