Site icon Thumbsup

3 วิธีจับผิด “micro-influencer ตัวปลอม“ บนโซเชียล

วันนี้นักการตลาดหลายคนหันมาเลือกที่จะทำงานร่วมกับผู้มีอิทธิพลรายย่อยหรือ micro-influencer ที่มีผู้ติดตามน้อยกว่า 10,000 ราย แทนการทุ่มเงินซื้อพื้นที่จาก influencer ตัวแม่ เพราะการใช้ influencer รายย่อยสามารถขยายการเข้าถึงและโปรโมตผลิตภัณฑ์ได้ดีไม่แพ้กัน แต่ปัญหาคือแบรนด์ควรรู้ว่า influencer คือตัวจริง เพราะการหลงใช้ influencer ตัวปลอม ย่อมทำให้แคมเปญนั้นไม่บรรลุผลเท่าที่ควร

ถามว่าทำไมต้องเป็น influencer รายเล็ก คำตอบคือ influencer รายย่อยเหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดตาม แต่ช่องโหว่ของการใช้ influencer รายเล็กคือมิจฉาชีพสามารถสร้างตัวเลขผู้ติดตามได้ง่ายดายเพื่อสร้างภาพว่ามีผู้ชมและยอดผู้ติดตามที่น่าประทับใจ

ดังนั้น ก่อนที่จะจ่ายเงินให้ influencer รายใหม่ ควรตรวจสอบ 3 จุด ดังนี้

1. ตรวจ engagement rate อัตราการมีส่วนร่วมในบัญชี

engagement rate หรืออัตราการมีส่วนร่วมของ influencer คือตัวเลขแรกที่แบรนด์ควรมอง เพราะเป็นส่วนที่บอกได้มากที่สุดเกี่ยวกับมูลค่าที่อาจเกิดขึ้นกับการลงทุนครั้งนี้ ถ้าอัตราการมีส่วนร่วมต่ำมาก ก็เป็นสัญญาณชัดว่า influencer อาจจะใช้ทางลัดเช่นการซื้อผู้ติดตาม

การตรวจ engagement rate ทำได้ด้วยการตรวจสอบโพสต์ในโปรไฟล์ influencer แล้วลองเลือกโพสต์ที่สนใจ จากนั้นรวมจำนวนการกด Like, การลงคะแนนชื่นชอบ, การส่งต่อหรือ retweet และความคิดเห็นหรือ comment ที่ได้รับ จากนั้นลองหารด้วยจำนวนผู้ติดตามที่ influencer มี แล้วทำซ้ำกับอีกหลายโพสต์ที่ถูกเผยแพร่ในช่วงล่าสุด

2. มีไหม? engagement ปลอม

engagement rate สูงไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างผ่านฉลุย influencer สามารถซื้อ comment เพื่อเพิ่ม engagement rate หรือปกปิดความจริงว่าตัวเองมีผู้ติดตามเป็น bot

การตรวจสอบทำได้ด้วยการตรวจดูแต่ละโพสต์และสแกนหาความหลากหลายของ comment โดยหากส่วนใหญ่เป็น comment คำง่ายๆ เช่น “Cool” “Great post” หรือเป็นอักขระ emoji ก็ถือเป็นความผิดปกติที่ไม่ควรมองข้าม

3. มั่นใจว่าไม่มีกลยุทธ์ engagement อื่นที่น่าสงสัย

อย่าเพิ่งวางใจหากตรวจจนแน่ชัดแล้วว่าผู้ติดตามของ influencer เป็นของจริง เพราะการมีส่วนร่วมหรือ engagement ที่แท้จริงก็มีโอกาสเป็น engagement ที่ไม่มีคุณภาพได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ influencer ตัวปลอมใช้กลยุทธ์หลอกล่อที่ไม่เป็นธรรมชาติ ดึงดูดผู้ชมที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย

การสำรวจเพื่อไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับ influencer ตัวปลอมยังสามารถทำได้ด้วยเครื่องมือสำหรับตรวจสอบผู้มีอิทธิพลโดยเฉพาะ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะพิจารณาปัจจัยเช่น ลักษณะการยกเลิกการติดตาม ที่บอกได้ว่า influencer สร้างผู้ชมกลุ่มนี้ตามธรรมชาติหรือเปล่า?

ที่มา: : PRDaily