Site icon Thumbsup

กรณีศึกษาเรื่อง Cloud ตอนที่ 2 – Molplex กับการคิดค้นยาตัวใหม่ได้เร็วขึ้นด้วย Cloud Computing

hero-molplex

ทุกวันนี้ Cloud เป็นสิ่งที่ถูกนำมาพิจารณาในการพัฒนาระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่องค์กรต่างๆ ต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายและลดภาระในการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ นั่นเอง บทความนี้จึงเป็นอีกตัวอย่างของบริษัทที่นำ Cloud มาช่วยลดระยะเวลาในการส่งสินค้าและค่าใช้จ่าย กับบริษัทผลิตยาที่ชื่อว่า Molplex ซึ่งเขาเอาเทคโนโลยี Cloud มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยค้นคว้ายาให้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก ลองมาดูครับว่าเขาทำกันอย่างไร

ในโลกของการแพทย์และยาแล้ว บริษัท Molplex ได้ช่วยนักวิทยาศาสตร์ลดเวลาและลดการคัดกรองกลุ่มข้อมูลที่เกี่ยวกับส่วนผสมทางเคมีซึ่งเป็นส่วนในการผลิตยา ซึ่งก็แน่นอนว่ามันมีปริมาณข้อมูลที่มหาศาล โดยนักวิจัยนั้นจะใช้เครื่องมือที่อยู่ใน cloud เพื่อช่วยในการเพิ่มอัตราความสำเร็จในการหาตัวยาเพื่อรักษาโรคและอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศแถบเขตร้อน (Tropical) อย่างเช่น มาลาเรีย, วัณโรค (tuberculosis) และ ไข้เลือดออก (dengue fever)

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังพยายามที่จะหาค้นหายาตัวใหม่ๆ เพื่อมารองรับและรักษาอาการของโรคให้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน การค้นหายาในยุคใหม่ๆ นั้นเกี่ยวข้องกับการระบุถึงตัวเลือกของยาและการคัดกรอง โดยค้นหาตัวยาและสารประกอบที่มีประสิทธิภาพทางชีวภาพ เพื่อให้เจออย่างรวดเร็วจากจำนวนตัวเลือกที่มีอยู่เป็นล้านๆ ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้จากการค้นหาโดยนักวิจัย ซึ่งทาง หน่วยงานวิจัยของทางไมโครซอฟท์ (Microsoft Research) ได้มีการค้นคว้าเทคโนโลยีที่จะเข้ามาตอบโจทย์ของทาง Molplex เรียกวิธีนี้ว่า “Molplex Clouds Against Disease”

โดยปกติแล้วการทำนายอาการและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา เป็นงานที่ท้าทายและยากมากๆ เพราะเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยยังคงไม่สามารถที่จะบอกสิ่งที่เป็นไปได้ทั้งหมดเมื่อมีการให้ยา โดยที่ผ่านมาและปัจจุบันในบางที่ยังคงใช้รูปแบบในการหาด้วยการใช้สถิติจากข้อมูลที่พบเจอจริงๆ (empirical data) ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วเป็นประโยชน์อย่างมาก และสำหรับนักวิจัยบางคน สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูล ณ Data Center ที่ทันสมัยที่สุดหรือเข้าถึงเครื่อง Supercomputer ที่ประมวลผลได้เร็วระดับโลกและแน่นอนว่าปริมาณข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ของทั้งสองที่นั้นมีมาก แบบที่เรียกว่ามากเกินไปเสียด้วยซ้ำ ซึ่งการที่จะระบุส่วนผสมที่จะทำให้เกิดผลทางชีวภาพขึ้นมานั้น ต้องลงทุนด้านอุปกรณ์ทางด้านเทคนิคมูลค่ามหาศาล

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่าง นักวิจัยจาก Molplex ซึ่งเป็นบริษัทคิดค้นยาบริษัทเล็กๆ, มหาวิทยาลัย Newcastle และทาง?Microsoft Research Connections โดยจับมือกันเพื่อที่จะหาทางช่วยนักวิทยาศาสตร์รอบโลกในการที่จะนำตัวยาใหม่ๆ ออกมาให้ใช้เพื่อรักษาโลกได้เร็วขึ้นและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ การร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ทาง Molplex พัฒนาระบบ Cloud ที่ชื่อว่า?Clouds Against Disease ซึ่งสิ่งนี้เป็นบริการที่สามารถค้นหายาด้วยคุณภาพสูง ด้วยการใช้แพล็ตฟอร์มใหม่ในการค้นหาโมเลกุล ทั้งหมดใช้ Cloud Computing มาเป็นตัวช่วยค้นหา

David Leahy ผู้ก่อตั้งร่วมและ CEO ของทาง Molplex ได้บอกถึงแนวทางที่จะช่วยให้นักวิจัยและเภสัชกรที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลกสามารถที่จะคิดค้นยาโดยที่ไม่ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีใหญ่โตหรือถูกจำกัดด้วยงบประมาณ ซึ่งสิ่งที่ทาง Molplex และบริษัทที่เข้ามาร่วมกันนั้นจะทำให้มีแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะสามารถค้นหาสิ่งต่างๆ ด้านเคมีและชีววิทยาเพื่อหาตัวยาใหม่ๆ ได้ ระบบ?Clouds Against Disease จะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย ด้วยการประมวลผลและการวิเคราะห์ทางเคมี ที่สามารถทำได้ตามต้องการ โดยทาง?David Leahy ได้กล่าวออกมาอย่างน่าตื่นเต้นว่า ให้ลองนึกถึงต้นทุนที่ปกติที่ใช้ในการคิดค้นตัวยาต้องใช้ถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็จะลงเหลือเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

Clouds Against Disease จะถูกนำมาใช้เป็นแพล็ตฟอร์มการคำนวนการค้นพบโมเลกุลโดยทำการตัดสินใจอัตโนมัติ ซึ่งปกติแล้วเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นคนดูข้อมูลทางเคมีทั้งหมด แต่ด้วยซอฟท์แวร์นี้จะช่วยค้นหาสิ่งที่ตรงกับเงื่อนไขที่ต้องการเท่านั้น โดยเมื่อเอาระบบนี้มารวมกับระบบการสังเคราะห์สารเคมีและการคัดกรองแล้ว มันจะกลายเป็นขั้นตอนและกระบวนการที่ทำให้สามารถค้นหายามีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับตัวอย่างการค้นหานั้น ทาง Molplex ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษา pre-clinic ที่ใช้ข้อมูลโครงสร้างทางเคมีและกลุ่มข้อมูลทางชีวภาพกว่า 10,000 โครงสร้างมาใช้ในการค้นคว้า โดยมีการคำนวนเพื่อทำนายสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างทางเคมีและข้อมูลทางชีวภาพ โดยมีความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นถึง 750,000 อย่าง ทาง Molplex ใช้เกณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้กันอยู่แล้ว ก็สามารถทำให้ลดความสัมพันธ์ลงไปจาก 750,000 เหลือ 23,000 และทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนจำนวนของข้อมูลเหลือน้อยลงจนทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจัดการได้ต่อได้

แต่ด้วยการคำนวนบน Windows Azure ทำให้การค้นหายาเพื่อรักษาโรคที่เกิดขึ้นในประเทศแถบเขตร้อนอย่างมาลาเรีย, วัณโรค(tuberculosis) และ ไข้เลือดออก (dengue fever) จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายปีด้วยนักวิทยาศาสตร์เป็นร้อยๆ คน สามารถทำได้ด้วยระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น

สำหรับ Windows Azure ที่เป็นแพล็ตฟอร์ม?cloud-computing จากทาง Microsoft นั้นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในความสำเร็จของ?Clouds Against Disease โดยทาง Molplex ได้ใช้ Windows Azure มากกว่า 100 nodes ในการทำเครื่องเซิฟเวอร์เสมือน (Virtual Servers) เพื่อที่จะทำให้มีการประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากไม่ใช้ Windows Azure แล้วเราจะต้องลงทุนซื้อเครื่องเซิฟเวอร์มาตั้งจริงๆ ถึง 100 เครื่อง ซึ่งนั่นก็หมายถึงรายจ่ายมหาศาลและยังไม่รวมถึงค่าดูแลรักษาที่จะตามมาอีกด้วย นี่ก็เป็นสิ่งที่?Windows Azure มาช่วยตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป โดยใช้เฉพาะสิ่งที่เราจะใช้เพียงเท่านั้น และทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสามารถใช้เวลาในการศึกษาสิ่งใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

และนี่คืออีกหนึ่งกรณีศึกษาที่หยิบเอา Windows Azure มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อช่วยมนุษย์ ซึ่งสามารถลดได้ทั้งงาน, เวลา รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่หายไปเหลือที่ต้องจ่ายเท่าที่จำเป็นเพียงเท่านั้น