Site icon Thumbsup

Reuters เผย ผู้ป่วย 71% ยินดีเป็นเพื่อนกับหมอบนโซเชียลเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมักจะมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยที่พยายามจะแยกชีวิตออนไลน์ออกจากชีวิตจริง เพื่อสงวนพื้นที่ส่วนตัวไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ในกรณีที่เป็นข้อมูลทางการแพทย์ ผลการสำรวจจาก Reuters บอกว่า คนไข้ 71% จากกลุ่มตัวอย่าง 5,000 คน ยินดีที่จะแชร์ข้อมูลส่วนตัวบางอย่างลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้หมอติดตามกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันได้

ในการสำรวจดังกล่าว นักวิจัยระบุว่า สิ่งที่เราแชร์ลงในโลกออนไลน์จะเป็นเครื่องตัดสินปัญหาสุขภาพของเรา ไม่ว่าจะเป็นการกิน การใช้ชีวิต และสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงรับการรักษาเบื้องต้น แพทย์ก็จะเห็นได้จากโซเชียลมีเดียว่า คนไข้กินยาตรงเวลาหรือไม่ มีความก้าวหน้าในการรักษาอย่างไรบ้าง ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ การเช็คอิน รูปภาพ และข้อมูลอื่นๆ มันคือภาพสะท้อนของสุขภาพโดยรวม

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ป่วยวัยรุ่นที่ใช้งานโซเชียลมีเดีย และทำประกันสุขภาพส่วนบุคคล จะมีความไว้ใจให้แพทย์เข้ามาตรวจสอบชีวิตประจำวันบนโซเชียลมีเดียของตัวเองได้  หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยอมให้หมอแอดเฟรนด์ได้นั่นเอง ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ค่อยจะยินดีเป็นเพื่อนกับคุณหมอในโลกโซเชียล จะให้เหตุผลว่า กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

งานวิจัยนี้สรุปว่า การอนุญาตให้แพทย์มองเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยในโซเชียลมีเดียได้ จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีขึ้น และได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Twitter และ Facebook ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้เรตติ้งสถานพยาบาลได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไว้วางใจ การเอาใจใส่คนไข้ และความพึงพอใจ รวมไปถึงเป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ โดยไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน

ที่มา : Digitaltrends