Site icon Thumbsup

คสช.ใช้ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ-ทีวีดิจิทัล ยืดเวลาจ่ายค่า 900 MHz พร้อมเปิดทางทีวีคืนไลเซนส์

กสทช. ดัน คสช. ออกคำสั่งช่วยทีวีดิจิทัลและค่ายมือถือได้สำเร็จ เปิดทางยืดเวลาจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz สำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ภายใน 30 วัน พร้อมได้สิทธิ์ประมูล 700 MHz ก่อนใครเพื่อน ส่วนทีวีดิจิทัลช่องไหนไปต่อไม่ไหวก็เปิดทางคืนใบอนุญาตแล้ว


คสช.ใช้ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ-ทีวีดิจิทัล

ก่อนหน้านี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการค่ายมือถือและทีวีดิจิทัลมาหลายอัน ได้แก่ คำสั่ง คสช. ที่ 16/2559, คำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 และ คำสั่ง คสช. ที่ 9/2561

ล่าสุดวันนี้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบการกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยระบุว่าเหตุที่ต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และกำหนดระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมฯ สภาพปัญหารแข่งขันที่มาจากทั้งรัฐและเอกชน ส่งผลต่อรายได้ผู้ประกอบการ ทำให้ไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด

อีกทั้งการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ยังหวังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ และเพื่อจูงใจให้มาประมูลคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz เพื่อนำมาใช้กับบริการ 5G อีกด้วย

โดยสาระสำคัญจากคำสั่งดังกล่าว ได้แก่

  1. ยืดจ่ายค่าประมูลมือถือ 900 MHz โดยผู้ประกอบการค่ายมือสามารถยื่นคำขอได้ภายใน 30 วัน
  2. จัดสรรคลื่น 700 MHz ให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือที่ประมูลคลื่น 900 MHz ก่อน
  3. ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายไหนต้องการคืนใบอนุญาตฯ สามารถยื่นขอได้ภายใน 30 วัน
  4. ผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนคลื่น 700 MHz สามารถเรียกค่าชดเชยได้
  5. อนุญาตให้ กสทช. นำเงินมาอุดหนุนเงินระบบวัดเรตติ้งกลางได้

นักวิชาการเตือนอย่ายกผลประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุนฟรีๆ

ส่วน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ “ยืดหนี้มือถือ = ยกผลประโยชน์หมื่นล้านให้นายทุน” โดยระบุที่จริงแล้ว ทั้งสามบริษัทจะได้ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน แม้ว่าหนี้ก้อนสุดท้ายที่จะยืดออกไปจะใหญ่ไม่เท่ากัน แต่การปรับระยะเวลาในการยืดหนี้ที่แตกต่างกันก็ทำให้สุดท้ายได้ตัวเลขเท่าๆ กันคือ แต่ละรายได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เสมือนมีการหารือกันมาก่อนเพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน

แม้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายอาจไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันและต่างก็ได้หมด ผู้ที่จะเสียเปรียบจากมาตรการดังกล่าวคือ ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะการที่รัฐยืดหนี้ให้ทั้งสามรายคือ การยกผลประโยชน์ของประชาชน 2.4 หมื่นล้านบาท ให้กับนายทุนโทรคมนาคม

ข้ออ้างเรื่องการยืดหนี้อุ้มผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าประมูลคลื่น 5G ก็เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น ด้วยหลายเหตุผลคือ หนึ่ง ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมและความจำเป็นต้องประมูลคลื่น 5G ในปีนี้ สอง ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ไม่มีใครสัญญาว่าจะเข้าประมูล 5G เลย โดยต่างพูดตรงว่า ต้องดูเงื่อนไขการประมูลและราคาเริ่มต้นก่อน

ข้ออ้างในการยืดหนี้เพื่อให้เอกชนเข้าประมูล 5G จึงไม่ใช่ “หมูไปไก่มา” แต่ “เสียหมูไปฝ่ายเดียว” เสมือนเป็น “ค่า (แกล้ง) โง่”

หากมีการใช้มาตรการดังกล่าวจริง ก็ต้องถือว่า รัฐบาลประยุทธ์ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง ในทางกฎหมาย การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 จะทำให้คสช. และรัฐบาลพ้นความรับผิดทางกฎหมาย ประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้

ส่วนในทางการเมือง การดำเนินการในช่วงหลังเลือกตั้งทำให้ไม่ถูกคู่แข่งโจมตีในการเลือกตั้งว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และการดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อยเพราะเป็นวันหยุดยาว