Site icon Thumbsup

ฝีมือคนไทย “Niceloop” ระบบจัดการร้านอาหารขนาดกลางและเล็กในราคาย่อมเยา

หากเป็นธุรกิจร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป การให้พนักงานรับออเดอร์ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสมาร์ทโฟน คงเป็นเรื่องปกติธรรมดา และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังได้ว่า ธุรกิจจะนำมาใช้เพื่อควบคุมต้นทุน

ตรงกันข้ามกับธุรกิจร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านเบเกอรี่ ร้านอาหารทั่วไป หรือแม้กระทั่งสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน ที่ผู้บริโภคน้อยรายจะคาดหวังให้ร้านค้าเหล่านี้รับออเดอร์ด้วยระบบไฮเทค และโดยมากก็มักเป็นการรับออเดอร์โดยการจดกระดาษ ซึ่งเสี่ยงต่อความผิดพลาด หรือการฉ้อโกงได้ง่าย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว การที่พนักงานร้านก๋วยเตี๋ยวถือสมาร์ทโฟนเข้ามารับออเดอร์ อาจกลายเป็นเรื่อง “WOW” ที่สามารถสร้างจุดขายด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของร้านได้ดีพอตัว แถมในมุมของเจ้าของกิจการและผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นในด้านความถูกต้องของข้อมูล และช่วยลดปัญหาด้านการโกงบิลได้โดยง่ายอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ปัญหานั้นได้มีคนมองเห็น ก่อนจะพลิกมันมาเป็นโอกาสในการสร้างตลาดใหม่ ด้วยการพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านอาหารสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ในชื่อ “Niceloop” โดยผู้บริหารหนุ่ม คุณวริทธิ์ ตันติวีระสุต ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท Niceloop จำกัด นั่นเอง โดยคุณวริทธิ์เล่าว่า

“ส่วนตัวผมชอบเขียนโปรแกรม แต่เป็นการศึกษาเองจากคอร์สออนไลน์บ้าง จาก YouTube บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมมาพัฒนาสายการผลิต (Line Production) หรือการ Tracking พนักงานให้กับธุรกิจของครอบครัวผมเอง (โรงสีข้าว)”

คุณวริทธิ์ ตันติวีระสุต ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท Niceloop จำกัด

อยู่มาวันหนึ่ง คุณวริทธิ์เล่าว่า ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารญี่ปุ่น และเห็นพนักงานรับออเดอร์ด้วยอุปกรณ์มือถือ ก็เลยกลับมานั่งคิดว่า เราก็น่าจะทำได้เช่นกัน ประกอบกับมีเพื่อนคนหนึ่งก็อยากเปิดธุรกิจร้านอาหาร แต่ภายหลังที่ได้ลองสอบถามราคาของระบบที่มีอยู่ในท้องตลาดแล้ว พบว่า แพงมาก จึงมาขอความช่วยเหลือ ทางคุณวริทธิ์จึงลองพัฒนาระบบดู โดยชวนคุณวรุฒม์ รัตนาภรณ์ (Co-founder) ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ของธุรกิจที่บ้านมาร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วย และใช้เวลา 3 – 4 เดือนช่วยกันพัฒนาจนสำเร็จในเวอร์ชั่นแรก ซึ่งสามารถใช้งานได้เป็นที่น่าพอใจ และนั่นทำให้เขาเห็นช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการสำหรับร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก ที่ต้องการราคาย่อมเยาเป็นสำคัญ ขณะที่ความสามารถนั้นก็ต้องทำได้ใกล้เคียงเครือร้านอาหาร (Restaurant Chain) ขนาดใหญ่ เช่น สามารถแสดงรายการสินค้า – เช็คบิลได้อย่างรวดเร็ว ใส่ส่วนลดได้ ดูประวัติการสั่งย้อนหลังของโต๊ะนั้น ๆ ได้ รววมทั้ง สามารถแยกรายการอาหารไปที่ครัว รายการเครื่องดื่มไปที่บาร์น้ำได้ เป็นต้น

โมเดลการขายของ Niceloop นั้นเป็นรูปแบบ Subscription คือ จ่ายเป็นรายเดือน (590, 890 หรือ 1390 บาทต่อเดือน) โดยเลือกทำตลาดผ่าน Google และ Facebook เป็นสำคัญ เมื่อมีลูกค้าติดต่อเข้ามา ทีมงานก็จะออกไปสาธิตวิธีการใช้งาน พร้อมติดตั้งเครื่องให้ ซึ่งในปีแรก สามารถสร้างฐานลูกค้าได้ประมาณ 40 ราย ก่อนจะเขยิบขึ้นเป็นหลักร้อยรายในปีที่สอง และสามร้อยกว่ารายในปัจจุบัน

“กลุ่มเป้าหมายเราเป็นร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก ซึ่งร้านเหล่านี้มีระบบไม่ซับซ้อน แต่เขาก็ต้องการตัวช่วยด้านการบริหารจัดการไม่ต่างจากร้านอาหารแบรนด์ใหญ่ ๆ ซึ่งเมื่อมีระบบบริหารจัดการที่ดีและรวดเร็ว เจ้าของร้านก็จะรู้ได้โดยง่ายว่า ในแต่ละวันยอดขายเป็นอย่างไร เมนูใดบ้างที่ขายดี วัตถุดิบเป็นอย่างไร การเคลียร์โต๊ะเรียบร้อยไหม ซึ่งทั้งหมดสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ผ่านรีพอร์ตที่ระบบเตรียมให้นั่นเอง”

ทั้งนี้ คุณวริทธิ์ได้วิเคราะห์ถึงเหตุที่ธุรกิจเติบโตได้สูงนั้น อาจเป็นเพราะการเลือกอิงกับระบบการใช้งานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ (WebApp) และ Android เนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีโน้ตบุ๊กที่ใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตได้อยู่แล้ว จึงไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ส่วนสมาร์ทโฟน และแอนดรอยด์ก็เป็นเครื่องมือที่ราคาไม่แพงนัก บางเครื่องมีราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทเท่านั้น ซึ่งสำหรับร้านอาหารแล้ว ถือเป็นต้นทุนที่ไม่สูงมากจนเกินจะรับไหว

อีกสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจ คือ การขยายทีมงาน โดยในจุดนี้ คุณวริทธิ์ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาหนึ่งที่สำคัญของธุรกิจสตาร์ทอัป นั่นคือ สตาร์ทอัปเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างเติบโตไว และปัญหาด้านเงินทุนจะเข้ามาในช่วงปีที่ 1 – 2 ของการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่เงื่อนไขการกู้ของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปนั้นไม่รองรับในจุดนี้ เพราะในเอกสารการขอกู้มักระบุว่า ต้องประกอบธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปีแทบทั้งสิ้น จึงทำให้สตาร์ทอัปหลาย ๆ รายประสบปัญหาด้านการเงิน และต้องปิดกิจการไปในที่สุด

คุณวริทธิ์เล่าว่า ได้สินเชื่อ GSB SMEs StartUP จากธนาคารออมสินช่วยธุรกิจเอาไว้ได้ทันเวลา ซึ่งทางธนาคารก็ยินยอมอนุมัติสินเชื่อให้ แม้จะประกอบธุรกิจมาไม่ถึง 2 ปี จึงสามารถเพิ่มทีมงานจากที่ทำคนเดียวเป็น 6 คน และผลักดันจนปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 300 รายได้ในที่สุด

ในยุคที่ความรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ให้เท่าเทียมกันได้นั้น ก็ยังมีอีกหลายธุรกิจที่แม้จะเข้าถึงความรวดเร็วนั้นได้แล้ว แต่ก็ยังขาดเครื่องมือ เงินทุน หรือองค์ความรู้เพื่อเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจได้อยู่เช่นกัน ดังนั้นอาจเป็นการดีกว่า หากจะศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ เอาไว้เสมอ ซึ่งท่านที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ GSB MONEY TREND บล็อกด้านการเงินและการลงทุนจากธนาคารออมสิน

บทความนี้เป็น Advertorial