Site icon Thumbsup

รู้มานานแล้ว! แต่ตอนนี้มีผลวิจัยมายืนยัน หมกมุ่นโซเชียลทำให้นอนน้อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

การวิจัยล่าสุดจาก University of California ระบุว่า อาการนอนไม่พอของคนสมัยนี้มีความเชื่อมโยงกับจำนวนเวลาที่ใช้ไปกับโลกออนไลน์ และ Facebook ก็คือหนึ่งในตัวการสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย 

ผลการวิจัยพบว่า มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการอดนอน อารมณ์ฉุนเฉียว ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง และตัวแปรเหล่านี้จะเป็นไปตามจำนวนเวลาที่ใช้ไปกับ Facebook

นักวิจัยยังพบว่า การนอนไม่พอจะนำไปสู่การไม่มีสมาธิที่จะโฟกัสกับเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อความสนใจของกลุ่มตัวอย่างต้องถูกตัดสลับไปมาระหว่างแอปพลิเคชั่นและหน้าจอคอมพิวเตอร์

“เมื่อคุณนอนน้อย ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่ความสนใจของคุณจะถูกรบกวนได้ง่าย และเมื่อคุณถูกรบกวน คุณก็เลือกที่จะเข้าไปอยู่ในโลกของ Facebook เพราะมันง่าย และคุณก็เหนื่อยแล้วที่จะทำอะไรยากๆ กว่านั้น” Gloria Mark หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

การวิจัยนี้มีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 76 คน โดยนักวิจัยทำการติดตามพฤติกรรมของพวกเขาอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ไอเดียตั้งต้นคือการหาคำตอบว่า จำนวนชั่วโมงของการนอนหลับ กับจำนวนเวลาที่เราใช้อินเทอร์เน็ต มีความสัมพันธ์กันอย่างไร อะไรคือตัวแปรต้น

และด้วยซอฟต์แวร์ที่ทีมใช้เพื่อการติดตามกลุ่มตัวอย่าง ทำให้ทราบพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เพื่อที่จะทราบว่า พวกเขาคุยโทรศัพท์บ่อยแค่ไหน ส่งข้อความอย่างไร และใช้แอปพลิเคชั่นอะไร โดยมีเซนเซอร์เป็นการวัดพฤติกรรม กิจกรรม และระดับความเครียดของกลุ่มตัวอย่าง

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างจะต้องทำแบบสอบถามทุกๆ เช้า เพื่อรายงานความคืบหน้าในการนอนหลับเมื่อคืน รวมทั้งทำแบบสอบถามในตอนเย็น เพื่อรายงานเรื่องราวตลอดทั้งวัน รวมไปถึงการสัมภาษณ์ด้วย

ส่วนข้อมูลอื่นๆ นักวิจัยทำการรวบรวมโดยการถามกลุ่มตัวอย่างในระหว่างสัปดาห์ ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับสภาวะอารมณ์ การมีส่วนร่วมกับงาน และความยากลำบากที่พบระหว่างการทำงาน การวิจัยชิ้นนี้ยังโฟกัสไปที่สภาวะอดนอนสะสม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่ร่างกายต้องการกับระยะเวลาที่ได้นอนจริงๆ

ผลกระทบจากเทคโนโลยีที่มีต่อการนอนหลับถูกนำมาใช้เป็นไอเดียนการทำวิจัยหลายๆ ชิ้น ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ยังคงส่งข้อความแชทหลังจากปิดไฟห้องนอนแล้ว มักจะนอนหลับได้น้อย และมีผลการเรียนที่แย่กว่ากลุ่มตัวอย่างที่เปิดไฟแชท

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า การปิดไฟจะทำให้แสงสีน้ำเงินแพร่กระจายออกจากสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตโดยที่มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ ซึ่งจะส่งผลต่อเมลาโทนิน หรือก็คือฮอร์โมนที่ทำให้ง่วงนอน ส่งผลให้คุณภาพในการนอนหลับลดลง

ที่มา : Yahoo! Tech