Site icon Thumbsup

ตามไปดู ชาวเน็ตจีนตอบสนองวิดีโอโฆษณาออนไลน์อย่างไรบ้าง?

In this photo taken Tuesday, June 20, 2009, customers surf the Internet at an Internet cafe in Beijing, China. In a rare reversal, China's government gave in to domestic and international pressure and backed down from a rule that would have required personal computers sold in the country to have Internet-filtering software. Just hours before the rule was to have taken effect Wednesday, the government said it would postpone the requirement for the "Green Dam" software.  (AP Photo/Greg Baker)

การสำรวจล่าสุดในกลุ่มนักท่องอินเทอร์เน็ตจีนพบว่าผู้ชมวิดีโอออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่ปลื้มโฆษณา โดยมีเพียง 7% เท่านั้นที่คลิกบนโฆษณาเพราะสนใจสินค้า ขณะที่ 87% ของกลุ่มตัวอย่างเมินหนีโฆษณาด้วยการทำภารกิจอื่นแทน และบางคนตัดสินใจเปลี่ยนแพลตฟอร์มหรือบริการไปใช้ค่ายอื่นไปเลย

ความจริงนี้เป็นผลจากการศึกษาของบริษัท OMD China, AdMaster และ Mintel ที่ร่วมกันประเมินพฤติกรรมการชมวิดีโอโฆษณาออนไลน์ของชาวจีน ก่อนจะเผยแพร่ในชื่อโครงการ “Dive Video” จุดประสงค์ของโครงการนี้คือการบอกให้นักโฆษณาทราบถึงปัญหาที่ทำให้การลงโฆษณาในรูปแบบวิดีโอออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นปัญหาที่นักโฆษณาต้องใส่ใจมากกว่าตัวเลขกลุ่มตลาดที่มีการใช้งานบริการนั้น หรือสถิติ time spent ที่ให้ภาพลวงตาว่าโฆษณาจะมีโอกาสผ่านตาผู้ใช้นานเพียงใด

ข้อมูลจาก OMD ระบุว่า กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนที่ชมวิดีโอออนไลน์กำลังขยายตัวเกินหลัก 500 ล้านรายในปีนี้ เฉลี่ยแล้วชาวเน็ตจีนใช้เวลาชมวิดีโอออนไลน์ราว 80 นาทีต่อวัน คิดเป็น 16% ของระยะเวลาใช้งานอินเทอร์เน็ตรวม

แม้จะชมวิดีโอนานเช่นนี้ แต่การสำรวจพบว่าชาวเน็ตแดนมังกรค้นพบข้อมูลที่ตัวเองต้องการบนแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ใช่วิดีโอออนไลน์ โดย 41% บอกว่าพบจากการเสิร์ช และ 37% บอกว่าพบจากการบอกต่อแหล่งที่มาของข้อมูล

เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มผู้ชมวิดีโอออนไลน์จีน การสำรวจพบว่าส่วนใหญ่รู้อยู่ก่อนแล้วว่ากำลังชมอะไร (69% ของกลุ่มตัวอย่าง) โดยเกือบครึ่งเลือกชมวิดีโอจากบริการเดิมที่คุ้นเคยเป็นงานอดิเรก (41%)

แต่เมื่อวิดีโอที่ชมมีการแทรกโฆษณา ผู้ชมมีการทำพฤติกรรมที่ส่งผลในทางลบกับโฆษณามากถึง 87% พฤติกรรมแง่ลบนี้มีตั้งแต่การเดินไปห้องน้ำ, ทำงานอื่น, เดินไปที่อื่น, รับประทานขนม, ดื่มชากาแฟ, สูบบุหรี่, เปลี่ยนแพลตฟอร์มไปใช้บริการอื่น, เปิดเว็บไซต์อื่น และเล่นโทรศัพท์มือถือ

ราว 6% เท่านั้นที่ตอบสนองโฆษณาในรูปแบบวิดีโอออนไลน์แบบกลางๆ เช่น การรอให้โฆษณาเล่นจบ, การปิดลำโพงระหว่างโฆษณากำลังเล่น, การหลับตาเพื่อพักสายตา รวมถึงการชมโฆษณาไปเรื่อยจนกว่าจะจบ

มีเพียง 7% เท่านั้นที่ตอบสนองในทางบวก นั่นคือการคลิกที่โฆษณาหากสนใจในสินค้านั้น สัดส่วนน้อยนิดนี้สะท้อนว่านักการตลาดต้องพิจารณาการลงโฆษณาในรูปแบบวิดีโอออนไลน์ให้ดี เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคจีนอาจจะไม่แตกต่างจากผู้บริโภคไทยหรือประเทศอื่นเท่าใดนัก

ที่มา : CampaignAsia