Site icon Thumbsup

“กานต์ ฮุนตระกูล” ชวนภาคธุรกิจลงทุน R&D แนะเปิดใจรับ Open Innovation ช่วยได้

“กานต์ ตระกูลฮุน” ชี้ไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเพิ่มงบ R&D จึงจะช่วยเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้ พร้อมเผยตัวเลขงบประมาณ R&D ของประเทศเพื่อนบ้านเช่น เกาหลีใต้ ที่สูงถึง 3 – 4% ของ GDP ขณะที่ประเทศไทยมีงบด้าน R&D อยู่ที่ 0.62% ของ GDP เท่านั้น โดยทาง STI คาดการณ์ว่า ไทยมีแนวโน้มที่จะมีงบประมาณด้าน R&D แตะ 1% ของ GDP ภายในปี 2018 ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเลยทีเดียว

อาจเป็นตัวเลขจากหน่วยงานที่ผู้อ่าน Thumbsup หลายคนไม่คุ้นหู แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทพ.) หรือ STI เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน โดยเฉพาะในแง่ของการแข่งขันในยุค Digital Disruption

โดยข้อมูลจาก STI ระบุว่า ปัจจุบัน ความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศไทยจากการจัดอันดับ IMD ประจำปี 2017 อยู่ที่อันดับ 27 เรามีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำปี 2016 อยู่ที่ 0.62% (84,671 ล้านบาท) และเรามีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อประชากร 10,000 คน ประจำปี 2016 อยู่ที่ 13.6 คน โดยประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมายาวนานตั้งแต่ปี 1974 จนถึงปีปัจจุบันก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะหลุดพ้น และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีที่ 5,997 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 200,000 บาทเท่านั้น

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเกาหลีใต้กลับมีเศรษฐกิจเติบโตและสามารถก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปแล้วตั้งแต่ปี 2006 จนปัจจุบัน เกาหลีใต้จัดเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชากรมีรายได้ต่อหัวที่ 28,166 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 930,000 บาท ซึ่งมากกว่าไทยเกือบ 4 เท่าตัว

จุดต่างของสองประเทศอาจดูได้จากกราฟนี้ (อ้างอิงจากงาน CEO Innovation 2017)

นั่นจึงทำให้คุณกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าภาคเอกชน คณะทำงานการยกระดับนวัตกรรมและ Digitalization โครงการสานพลังประชารัฐ และ Board of Trustee TMA เผยอย่างตรงไปตรงมาว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้าน R&D ให้มากกว่านี้จึงจะสามารถแข่งขันและสร้างโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

แต่ความสำคัญของแนวคิดในการทำ R&D ยุคใหม่ไม่ใช่การสร้างทุกอย่างตามลำพัง ในจุดนี้คุณกานต์มองว่า โลกภายนอกมีหน่วยงานมากมายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่มีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเพื่อคิดค้นนวัตกรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารูปแบบที่ผ่านมาของการทำ R&D ยังอยู่ในลักษณะของตัวใครตัวมัน หรือเมื่อทำแล้วก็ไม่มีการแบ่งปัน ทำให้นวัตกรรมบางอย่างถูกวางทิ้งไว้บนหิ้ง ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ดังนั้น การจับมือกัน รวมถึงการมีพื้นที่ให้แต่ละคนได้พูดคุยกันว่าตนเองมีอะไร และขาดอะไร ใครจะมาเติมเต็มได้จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการสร้างงาน R&D ยุคใหม่ และนั่นจึงเป็นที่มาของการเชิญผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศาสตราจารย์ ดร. Henry Chesbrough เจ้าของแนวคิด Open Innovation อีกทั้งยังเป็นผู้อำนวยการของ Center of Open Innovation มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกามาให้ความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว โดยมองว่า Open Innovation เป็นแนวคิดที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกได้

ศาสตราจารย์ ดร. Henry Chesbrough

โดย ดร. Henry เผยว่า แนวคิด Open Innovation นั้นเชื่อในการร่วมมือกัน และแชร์ข้อมูลระหว่างกัน โดยสามารถทำได้ทั้งการนำความรู้จากภายนอกเข้ามาพัฒนาองค์กร รวมถึงการแชร์ในสิ่งที่องค์กรเรามีอยู่ออกไปสู่โลกภายนอก

อย่างไรก็ดี การแชร์องค์ความรู้ระหว่างกันนั้นก็มีศิลปะในการแชร์อยู่เช่นกัน โดยดร. Henry ยกตัวอย่างการแชร์องค์ความรู้ของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ที่สามารถแยกได้เป็นสองบริบท บริบทแรกสำหรับแชร์สู่สาธารณะ เช่นการออกมาเผยถึงคุณสมบัติใหม่ของแอปพลิเคชัน กับอีกบริบทหนึ่งคือการแชร์ในระดับไพรเวท ที่จะลงลึก และเน้นให้ผู้เกี่ยวข้องกับโปรเจ็คได้มีความเข้าใจตรงกัน

ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของ Open Innovation นั้นคือ การเกิดขึ้นของ Platform to Connect ที่เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับช่วยให้ภาคธุรกิจ (แม้จะมาจากหลายภาคส่วน) สามารถเชื่อมต่อกันได้

เทรนด์ที่สองที่ ดร. Henry มองเห็นคือ การที่บริษัทขนาดใหญ่จะลงมาร่วมมือกับ Startup มากขึ้น และสุดท้ายคือการเกิด Open Innovation ในภาคสังคม เช่น นำเทคโนโลยีไปช่วยภาคการเกษตร และทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ส่วนบริษัทเทคโนโลยีก็ได้รับองค์ความรู้กลับไปพัฒนาต่อนั่นเอง

แต่นอกจากเรื่องของความร่วมมือด้าน Open Innovation แล้ว ทิศทางและมาตรการของรัฐบาลในการส่งเสริมด้าน R&D ให้กับภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างการสนับสนุนในด้านนี้เช่น เงินทุนสำหรับสตาร์ทอัป, Competitiveness Fund, BOI Privileges สำหรับ R&D, Food Innopolis เป็นต้น โดยคาดว่าการสนับสนุนนี้จะมีมูลค่าเท่ากับ 1.5% ของ GDP ในปี 2564 เลยทีเดียว

ในวันที่ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มจากต่างชาติเข้ามาพยายามบอกว่า แพลตฟอร์มของตนเองนั้นคือหนทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้ก้าวสู่ตลาดโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติมากจนเกินไป ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่อาจถึงเวลาที่ธุรกิจไทยจะเริ่มสร้างความแข็งแกร่งจากภายในด้วยการลงทุนด้าน R&D กันแล้วอย่างจริงจัง