Site icon Thumbsup

พักยก “OTT” คนโฆษณาเตรียมตัวสู่ “ประชาพิจารณ์”

เชื่อว่าเวลานี้หลายคน โดยเฉพาะวงการเอเจนซี และเหล่า Content Creator คงได้หายใจทั่วท้องกันขึ้นมาบ้างแล้ว จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ได้มีมติยกเลิกการกำกับ OTT (Over-the-Top) รวมถึงการยกเลิกการลงทะเบียน OTT ของผู้ให้บริการทั้งหมดที่ได้ลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้ 

การออกมาประกาศดังกล่าวส่งผลให้ จากเดิมที่เคยกำหนดเดดไลน์ให้ Facebook และ YouTube ต้องมาลงทะเบียน OTT ภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 ถือเป็นอันยกเลิก ซึ่งมีผลให้ความตึงเครียดในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลคลายลงอย่างมาก ภายใต้สถานการณ์แห่งความโล่งอกนี้ ดร.ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ได้ให้ความเห็นว่า “ผมดีใจกับการตัดสินใจของ กสทช. ในวันนี้ และเชื่อว่าทั้งอุตสาหกรรมก็คงเกิดความรู้สึกดีใจที่ได้เห็นการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม OTT ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนมีเวลาคุยกันมากขึ้น”

ดร.ศุภชัย ปาจริยานนท์ (ขอบคุณภาพจาก Techsauce)

อย่างไรก็ดี นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการ OTT เพื่อเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ภายใน 30 วัน และหลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการของการทำประชาพิจารณ์ต่อไป ในจุดนี้ ดร.ศุภชัยกล่าวว่า “ผลของการประชุมบอร์ดที่ออกมาทำให้ทุกฝ่ายโล่งใจ แต่ไม่ใช่โล่งใจแล้วไม่ทำอะไรต่อ เพราะการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะเกิดขึ้นนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกภาคส่วนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ก่อนจะนำไปสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมมากกว่า”

ก้าวต่อไปของ OTT

โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ก็คือ กสทช. ได้มอบหมายให้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการ OTT จัดทำร่างหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการ OTT เสนอต่อที่ประชุม กสทช. ภายใน 30 วัน เพื่อให้ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนทำประชาพิจารณ์ ตามขั้นตอนของกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน จากนั้นค่อยกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กสทช.  เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

ในจุดนี้ ดร.ศุภชัย ให้ความเห็นว่า เผยว่า “หน้าที่ของสมาคมฯ เราอยากให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต ดังนั้นทางสมาคมฯ เองเราก็เหมือนเป็นตัวกลาง ที่จะคุยกับทั้งภาครัฐและเจ้าของแพลตฟอร์ม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนกัน ใครอยากได้อะไร ก็พูดคุยกัน จะได้เข้าใจตรงกัน และนั่นน่าจะเป็นผลดีต่อทั้งประเทศด้วย”

ด้านตัวแทนจาก Google Thailand เผยกับทางทีมงาน Thumbsup ว่า ไม่มีความเห็นใด ๆ ต่อกรณีดังกล่าว ขณะที่แหล่งข่าวในวงการเอเจนซีของทีมงาน Thumbsup รายหนึ่งได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า “รู้สึกวางใจในระดับหนึ่ง ว่าอย่างน้อยผู้มีอำนาจก็ไม่ได้ผลีผลามในการออกคำสั่ง และเกิดกระบวนการของการรับฟังความคิดเห็น แต่ก็ต้องจับตามองในส่วนของกระบวนการทำประชาพิจารณ์ด้วยว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมากน้อยเพียงไร ซึ่งหากมีการเข้าร่วมจากทุกภาคส่วนจริง ก็จะมั่นใจขึ้นมาสัก  50% ว่าผลลัพธ์น่าจะออกมาด้วยดี แต่ทั้งหมดนี้ต้องบอกเลยว่า ไม่สามารถวางใจได้มากนัก ขอเรียกว่าอยู่ในระยะของการจับตามองดีกว่า”