Site icon Thumbsup

เปิดเทรนด์บรรจุภัณฑ์ แข่งขันอย่างไรในวันที่ Niche โต – สินค้าพื้นฐานตก

 

 

ปี 2017 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าสนใจสำหรับทุกฝ่าย โดยปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยกระเตื้องขึ้นมามากนัก หลายธุรกิจในกลุ่มสินค้า FMCG พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคนั้นตกลงอย่างมาก ที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นสภาพที่ตลาดเกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งลูกค้า ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นการขยับตัวของแบรนด์ขึ้นไปเล่นในสินค้ากลุ่มพรีเมียมกันมากขึ้น และที่น่าสนใจคือมันไปรอด และเติบโตได้ดี 

ภาพเหล่านี้ทำให้แรงกดดันส่วนหนึ่งถูกผลักไปที่บรรจุภัณฑ์ หรือ Packaging ในฐานะที่เป็นปราการด่านสุดท้ายที่จะสื่อสารกับผู้บริโภค ณ ชั้นวางสินค้าได้ โดยเรามีโอกาสพูดคุยกับคุณรัตนศิริ ติลกสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบรษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ให้บริการครบวงจรด้านบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ออกมาบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่วงการบรรจุภัณฑ์ต้องนำเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ปีนี้เป็นปีที่เราสามารถแบ่งพฤติกรรมผู้บริโภคออกเป็นสองกลุ่มได้อย่างชัดเจน นั่นคือ ผู้บริโภคที่อาศัยในเมืองใหญ่ กับผู้บริโภคที่อาศัยในต่างจังหวัด โดยคนในเมืองจะมีพฤติกรรมไม่ต่างกับคนในเมืองใหญ่ทั่วโลก นั่นคือ ต้องเผชิญกับความรีบเร่งมากขึ้น ดังนั้น จะต้องการความสะดวกสบาย รวดเร็วเป็นอันดับต้น ๆ” 

“ดังนั้นคนกลุ่มนี้ เวลาซื้อสินค้าจะต้องการสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่สามารถ Identify ตัวสินค้าได้โดยง่าย เช่น ยี่ห้ออะไร คุณสมบัติเป็นอย่างไร (น้ำตาลน้อย โซเดียมต่ำ ฯลฯ) ก็ต้องระบุมาให้ชัด หรือมาในระยะหลังก็เริ่มเห็นบรรจุภัณฑ์แบบคลีน ๆ สะอาด ๆ มากขึ้น”

คุณรัตนศิริ ติลกสกุลชัย

“ส่วนผู้บริโภคต่างจังหวัดพบว่าช้อปถี่ขึ้น แต่มูลค่า Bucket size เล็กลง โดยคนต่างจังหวัดจะซื้อไซส์เล็กที่สามารถรับประทานหมดในครั้งเดียว แม้จะไม่ได้ช่วยให้เขาประหยัดมากขึ้น แต่เงินในกระเป๋าเขามีเท่านั้น ในขณะที่คนเมืองจะตรงกันข้าม คือคนเมืองไปซูเปอร์มาร์เก็ตน้อยครั้งลง ทว่า แต่ละครั้งที่ไปจะซื้อทีละเยอะ ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเงินในกระเป๋าอยู่นั่นเอง”

โดยคุณรัตนศิริชี้ว่า ปีนี้เป็นปีที่น่าสนใจ เพราะพฤติกรรมคนเมืองกับคนต่างจังหวัดแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยนี้ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าคนเมืองที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ยังมีไม่มากนัก

“เราได้เห็นสินค้าที่เล่นในกลุ่ม Niche เพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราพูดกันว่าเศรษฐกิจไม่ดี FMCG ตก แต่ที่โตดันเป็นสินค้ากลุ่มพรีเมียม เช่น นมธัญพืช นมอัลมอนด์”

จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่างกันนั้น แบรนด์สามารถนำมาสร้างจุดต่างให้กับบรรจุภัณฑ์ได้ด้วยเช่นกัน โดยคุณรัตนศิริเผยว่า มี 4 เทรนด์ที่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไม่ควรพลาด ได้แก่

นอกจากนี้ ในแง่ของเทคโนโลยีดิจิทัลก็สามารถช่วยแบรนด์ในการสื่อสารได้เช่นกัน ซึ่งช่องทางดิจิทัลที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้ ประกอบด้วย QR Code – Social Media

“ทุกวันนี้ ผู้บริโภคมองหาข้อมูลผลิตภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งโดยมากจะลิงค์ไปยัง Pantip.com เป็นหลัก ดังนั้น แบรนด์จะเริ่มมีการบรรจุ QR Code หรือเว็บไซต์สำหรับให้ข้อมูลลงในบรรจุภัณฑ์เพื่อดึงให้ผู้บริโภคเข้ามาหาแบรนด์ ส่วนแชนแนลอื่น ๆ ก็คือ LINE ที่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ผ่าน Official Account หรือ Social Media ต่าง ๆ ซึ่งถือว่าช่องทางดิจิทัลถือเป็นประตูให้ผู้บริโภคติดต่อเข้าหาแบรนด์เลยก็ว่าได้”

สำหรับความท้าทายใหม่ ๆ ของวงการบรรจุภัณฑ์ที่จะต้องเผชิญนั้น คุณรัตนศิริเผยว่า เป็นเรื่องของ E-Commerce ที่เริ่มเห็นสัญญาณดีบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว

“จากเดิมที่สินค้าขายได้บน E-Commerce คือสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง อุปกรณ์ไอที ตอนนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณว่า สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเริ่มขายได้ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก นมกล่อง ซึ่งความท้าทายของเราคือ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างไรให้สามารถตอบโจทย์ E-Commerce ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่สินค้าไม่เสียหาย”