Site icon Thumbsup

Pascal Hardy พร้อมเปิด “ฟาร์มดาดฟ้า” ใหญ่ที่สุดในโลกที่ปารีส

Pascal Hardy คือบุคคลสำคัญที่ทำให้โลกลุกขึ้นมาสนใจฟาร์มผักที่ปลูกบนดาดฟ้าของอาคาร เพราะฟาร์มดาดฟ้าของ Hardy ถูกยกให้เป็นฟาร์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่กรุงปารีสด้วยความยิ่งใหญ่ไม่ธรรมดา 150,000 ตารางฟุต

การทำฟาร์มบนดาดฟ้าอาคารขนาดใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในสหรัฐอเมริกาก็มีอุตสาหกรรมเรือนเพาะชำขนาด 75,000 ตารางฟุตที่ด้านบนของอาคารโรงงานทางใต้ของรัฐชิคาโกที่ให้ผลผลิตเป็นผักใบเขียวปริมาณ 10 ล้านหัวต่อปี ยังมีฟาร์มดาดฟ้าในบรูคลินที่มีสวนขนาด 55,000 ตารางฟุต และเรือนกระจกขนาด 5,000 ตารางฟุตสำหรับเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งหมดนี้ยิ่งใหญ่ไม่เท่าฟาร์มใหม่ในปารีสที่จะเปิดทำการเป็นรายล่าสุดด้วยขนาด 150,000 ตารางฟุต

Agropolis เป็นบริษัทเกษตรกรรมในเมืองที่มีสำนักงานในกรุงปารีส ฟาร์มดาดฟ้าขนาดยักษ์ถือกำเนินขึ้นเพราะ Agropolis ได้รับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบฟาร์ม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับโฉมศูนย์รวมความบันเทิงแห่งใหม่ในกรุงปารีส เมืองหลวงแดนน้ำหอม

ยิ่งใหญ่ยิ่งกำไร

Pascal Hardy ประธาน Agropolis กล่าวว่าขนาดของฟาร์มนั้นสะท้อนโอกาสเรื่องการทำกำไรของฟาร์มได้ เนื่องจากฟาร์มดาดฟ้าขนาดเล็กหรือขนาดกลางนั้นทำกำไรได้ยาก ซึ่งเป็นความเห็นที่สะท้อนว่า Hardy มั่นใจกับการแจ้งเกิดฟาร์มลอยฟ้าแห่งนี้มากเหลือเกิน

ข้อมูลจาก Hardy ชี้ว่าพืชในฟาร์มดาดฟ้าจะเติบโตแทงยอดไปในอากาศเช่นเดียวกับในฟาร์มดั้งเดิม แต่จะเป็นการแทงยอดในแนวราบเพราะเป็นการปลูกในชั้นหรือ tower ที่มีลักษณะคล้ายกับฟาร์มในร่ม ทำให้เกษตรสามารถปลูกผักได้มากขึ้นในพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากจะใช้หุ่นยนต์ ฟาร์มนี้ยังเป็นระบบ aeroponic ซึ่งไม่ใช้ดินในการปลูก แต่พืชจะเติบโตได้ผ่านสารอาหารที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์และใช้น้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

Hardy ยังเผยแนวคิดน่าสนใจของธุรกิจฟาร์มดาดฟ้าว่าตัวเขาเลือกพา Agropolis ให้แตกต่างจากบริษัทอื่นที่เริ่มดำเนินธุรกิจฟาร์มขนาดเล็กในดาดฟ้าอาคารหลายแห่งในปารีส และเมืองอื่นของฝรั่งเศส เนื่องจากหลายบริษัทพยายามปรับขนาดเพื่อดำเนินการเป็นฟาร์มในร่ม แต่ Agropolis เลือกที่จะดำเนินการเป็นฟาร์มภายนอก ซึ่งจะทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่า

ต้องคิดผสมผสาน

ประธาน Agropolis อธิบายว่าแม้การทำฟาร์มในร่มจะมีสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ทั้งการกำจัดอันตรายและความเสี่ยงอื่น แต่ฟาร์มในร่มจะต้องใช้ทรัพยากรมากมาย โดยเฉพาะพลังงานเพื่อให้ฟาร์มผลิตผักและผลไม้ได้ราบรื่น ดังนั้น Agropolis จึงตัดสินใจเลือกระบบที่มีประสิทธิภาพเช่นการใช้ระบบ tower ในการปลูกพืชแนวดิ่ง แต่นำมาประยุกต์ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ถูกควบคุมเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุน และเลี่ยงการสูญเสียทรัพยากรอื่นเพิ่มเติม

ตัวอย่างส่วนประกอบของฟาร์มในร่มที่เป็นต้นทุนหลักคือไฟ LED ซึ่งแม้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าหลอดไฟแบบเก่าที่ใช้ในกิจการฟาร์มในร่ม แต่ก็ยังคงใช้พลังงานสูงอยู่ดี

เช่นเดียวกับบริษัทฟาร์มดาดฟ้ารายอื่น Agropolis ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถแข่งขันกับการเกษตรแบบดั้งเดิมได้ดีเพียงใด ประเด็นนี้ Hardy บอกว่าผลผลิตจากฟาร์มดาดฟ้าจะมีราคาแพงกว่าพืชธรรมดา แต่จะราคาถูกกว่าพืชผักอินทรีย์ที่ปลูกในฟาร์มดั้งเดิม โดยคาดว่าฟาร์มจะเริ่มทำกำไรในปีแรก และผลผลิตจะถูกส่งตรงไปยังผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ผ่านบริการจัดส่งให้สมาชิก รวมถึงร้านค้าและร้านอาหารในท้องถิ่น ซึ่งจะลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่งได้

สิ่งที่เราสามารถสรุปได้จากข่าวนี้คือแนวโน้มของตลาดฟาร์มดาดฟ้าที่กำลังร้อนแรงในยุคดิจิทัล ฟาร์มลักษณะนี้จะทำให้ผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นมีโอกาสได้ทำสวนของตัวเอง ช่วยให้เมืองมีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยการผลิตอาหารในท้องถิ่นได้เอง แถมยังเพิ่มความเขียวขจีบนหลังคาอาคาร ให้เมืองรับมือกับการเพิ่มขึ้นของคลื่นความร้อนได้ดีขึ้น

ทั้งหมดนี้ Hardy ย้ำว่ามองเห็นโอกาสในการใช้ฟาร์มมาเป็นเครื่องมือเติมเต็มหลังคาบ้านที่ไม่ได้ถูกใช้งานทั่วเมืองใหญ่ ซึ่งกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทออกแบบระบบไฟ และรูปแบบการเพาะปลูกเพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่หลากหลาย.

ที่มา: : Fast Company