Site icon Thumbsup

Exclusive Interview: ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กับ TARAD ภายใต้เงา Rakuten


ว่ากันว่าดีลการซื้อขายเว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุดในวงการอินเทอร์เน็ตไทยก็คือ ดีลระหว่าง ปรเมศวร์ มินศิริ แห่ง Sanook.com ที่ได้ขายให้กับกลุ่ม MIH เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา จากนั้นวงการอินเทอร์เน็ตไทยก็ไม่เคยมีดีลซื้อขายเว็บใหญ่เช่นนั้นอีกเลย จวบจนเมื่อ 30 กันยายน 2552 คือวันที่วงการอินเทอร์เน็ตไทยต้องบันทึกไว้ในความทรงจำอีกครั้ง เมื่อ Rakuten ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซแห่งแดนอาทิตย์อุทัยแถลงข่าวร่วมกับ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้ก่อตั้ง TARAD.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแนวหน้าของไทย ว่า Rakuten ได้เข้าถือหุ้น 67% ของ TARAD.com ด้วยเงิน 114 ล้านบาท (มูลค่าเงินเมื่อ 31 ธันวาคม 2552) วันนี้เขาจะมาให้สัมภาษณ์แบบเปิดอกถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่มาที่ไป คำถามที่หลายคนในแวดวงธุรกิจดิจิตอลอยากรู้ ระบบการทำงานของอีคอมเมิร์ซไทย ความผิดหวัง-ความล้มเหลว-ความสำเร็จที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ ที่ผ่านมามีคนติดต่อซื้อ TARAD กี่คน ใครบ้าง และอีกร้อยแปดพันคำถาม ตลอด 2 ชั่วโมงเต็ม กับ thumbsup… ที่นี่ที่เดียว

จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านไปทั้งหมด 1 ปี 6 เดือน “ภาวุธ” ยังคงถือบทบาทเป็นผู้บริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ TARAD.com เช่นเคย แม้ว่าเจ้าตัวจะออกตัวว่า “ผมไม่ได้ขาย เขาแค่มาถือหุ้นหลัก”? ทว่าทั้งหมดก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ โตชิยะ มัตสึโอะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจาก Rakuten ซึ่งภาวุธเผยรายละเอียดในการทำงานตรงนี้กับ thumbsup ว่า

“ทีมญี่ปุ่นจะเก่งเรื่อง Operation ภายใน ส่วนไดเร็กชั่นว่าจะไปทางไหน มีอะไรใหม่ๆ ก็จะยังมาจากผมทั้งหมด” ภาวุธกล่าวเป้ือนยิ้ม

ที่ผ่านมาเราแอบได้ยินข่าวลือเรื่องภาวุธจะไม่ทำ TARAD ต่ออยู่บ้าง ได้รับการทาบทามไปเป็นผู้บริหารค่ายอื่นบ้าง แต่ภาวุธปฎิเสธ พร้อมกับอธิบายว่า

“บางคนมองว่าตอนนี้ผมถือ 37% ต่อไปผมจะขายหุ้นทั้งหมดไหม? ?ต้องบอกเลยเลยว่าไม่ขายแน่ๆ เพราะผมจะอยู่ทำให้มันโต และโตทั้งอุตสาหกรรม (อีคอมเมิร์ซไทย) แต่คำถามที่หลายคนถามก็คือ เมื่อก่อนผมเป็น MD ตอนนี้การตัดสินใจลดลงไหม ลดลงเพราะเราไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เหมือนเดิมนะ มีบางอย่างเรื่องการเงิน ซึ่งการเงินเป็นสิ่งที่ผมเกลียดอยู่แล้ว วิธีการที่ดีที่สุดก็คือเราจ้างคนเก่งการเงินและบัญชีมาเลย มีมืออาชีพมาดูให้ แล้วผมเคยบอกมาเสมอว่าตัวเองชอบทำเว็บมาก ไม่อยากมานั่งทำ Day-to-day operation ตอนนี้คือ “บริหาร” และ “ทำเว็บ” ส่วนใหญ่งานที่ชอบทำก็คือ Business Development ไปคุยกับคนนู้น คนนี้สร้างอะไรใหม่ๆ อย่างเราไปคุยกับลูกค้าข้างนอกบอกว่า เราสามารถทำให้ยอดขายของธุรกิจคุณโตขึ้นได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ทำไมเค้าจะไม่เอา!”

หลังจากที่ชกหมัดตรงประเด็นไปช่วงแรกเกี่ยวกับดีลการซื้อขายที่หลายคนอยากรู้ เราก็เริ่มแปรประเด็นมาคุยกันสบายๆ แต่ออกรสออกชาติมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าในวันนี้ thumbsup บุกถึงถิ่นออฟฟิศใหม่ของ TARAD แล้ว เราจะ “รีด” ข้อมูลเกี่ยวกับ TARAD และ Rakuten มาให้มากที่สุด… มาดูกันคำต่อคำ



thumbsup: นี่ก็ปีครึ่งแล้ว ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง TARAD ขายให้ Rakuten แล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?
ภาวุธ: TARAD.com เติบโตกว่า 889% ในปี 2553 หลังจากที่ Rakuten เข้ามาถือหุ้น เดือนหนึ่งยอดขายเราโตขึ้นมาหลายล้าน จากเดิมไม่เคยรู้สักบาทเลยว่ามันขายได้เท่าไหร่ เพราะเมื่อก่อน TARAD.com ขายแต่เว็บไซต์สำเร็จรูปให้กับร้านค้า ซื้อขายกันเอง รายได้ของร้านค้าไม่ได้มาผ่าน TARAD แต่ปีที่ผ่านมาเงินทุกบาททุกสตางค์จะผ่านเราทำให้เรารู้ได้เลยว่าเงินผ่านเราเท่าไหร่

thumbsup: ฟังดูเป็นตัวเลขที่น่าตื่นเต้นดี แล้วทิศทางล่ะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม?
ภาวุธ: สิ่งที่เรากำลังจะทำก็ึคือการ “ปฎิวัติอีคอมเมิร์ซประเทศไทย” คำนี้เป็นคำที่ผมใช้สร้างกำลังใจและเป็นเป้าหมายของตัวเองและคนในองค์กร เพราะว่าการทำงานมันต้องมีเป้า แต่เป้านี้ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ธุรกิจโต แต่เป็นเป้าที่ตอบโจทย์ให้กับบ้านเมืองให้กับประเทศไทยด้วยเหมือนกัน เราก็เลยสร้างเป้าหมายขึ้นมาแล้วมันได้ผล เพราะการที่เราจะทำให้ประเทศชาติเปลี่ยนแปลง มันต้องมี Ambition ขึ้นมามากกว่าการที่เราบอกว่า เฮ้ย! ปีนี้เราจะโตเท่านี้นะ So what? มันไม่ได้มีความหมายอะไรเท่าไหร่กับการเติบโตของบริษัท

ฉะนั้นผมจึงบอกกับน้องๆ ในบริษัทมานานแล้วว่าว่า ทุกเมาส์ที่คุณคลิก งานทุกงานที่คุณทำ คุณมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการที่เปิดร้านค้ากับ TARAD.com มีรายได้มากขึ้น บางรายมีรายได้เดือนหนึ่งเพิ่มขึ้นเป็นแสนๆ บาท มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ฉะนั้นจงภูมิใจได้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและประเทศไทย ด้วยงานที่พวกเราทำร่วมกัน เมื่อเราสร้างผู้ประกอบการเหล่านี้ให้เพิ่มมากขึ้นเติบโตมากขึ้น สังคมไทยก็ยกระดับขึ้น ช่องว่างระหว่างคนต่างจังหวัดกับคนเมืองก็จะลดลงและเปลี่ยนไป TARAD จะเข้าไปเติมเต็มให้สังคมเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า

thumbsup: ทำให้สังคม และเศรษฐกิจเคลื่อนไปข้างหน้า? แต่เท่าที่เราดู TARAD มีลูกค้าอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่เป็นหลักเท่านั้น
ภาวุธ: ร้านค้าของ TARAD.com ประมาณ 60% อยู่ในกรุงเทพฯ นอกนั้นอยู่ต่างจังหวัด เช่น เพชรบุรี ขอนแก่น รวมถึงตอนนี้เรามีสาขาที่เชียงใหม่ด้วยอีกแห่ง ?TARAD เติมเต็มความต้องการ ผู้ซื้อมีทางเลือกซื้อมากขึ้น กับผู้ขายก็ขายได้มากขึ้นด้วยแนวความคิด “Shopping is entertainment” และ ?”Empower Merchant”

thumbsup: ฟังดูก็ไปได้ดี แล้วทำไมคุณถึงร่วมกับญี่ปุ่น?
ภาวุธ: คือเราทำมา 13 ปี? แต่อีคอมเมิร์ซไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่อย่างนี้มาเป็นสิบปีไม่เกิดธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ส่วนใหญ่ซื้อขายผ่านเว็บ แต่จ่ายเงินกลับโอนเงินผ่าน ATM เห็นแบบนี้แล้วอีคอมเมิร์ซไทยก็คงจะโตยาก พอดีช่วงนั้น Rakuten ติดต่อมาเราก็เข้าไปศึกษาดูก็พบว่า เฮ้ย! โมเดลทางธุรกิจของ Rakuten เหมือนเราเลยนี่หว่า แต่ทำไมเขาโตๆๆ รายได้เขามหาศาล รายได้ทั้งกลุ่มเค้าคือ 6 แสนกว่าล้านบาทต่อปี เฉพาะฝั่งอีคอมเมิร์ซปี 2552 ปาเข้าไปสี่แสนกว่าล้านบาท Rakuten เป็นธุรกิจเว็บไซต์ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นอันดับ top 10 ของโลกในแง่ Market Capital (ดูภาพด้านล่าง)

 

ฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าเราสนใจที่อยากได้โนฮาว และจะทำอย่างไรให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตได้ ?ตอนนั้นก็พยายามศึกษาโมเดลธุรกิจของเขา แต่เนื่องจากการให้บริการมันเป็นญี่ปุ่นหมด ทำให้เราไม่สามารถศึกษาได้ ก็เลยคิดว่า การร่วมทุนกับเขาน่าจะดีกว่า เพราะเราสามารถยกระดับธุรกิจเราเอง ธุรกิจการค้าออนไลน์ในไทย รวมถึงผู้ประกอบการออนไลน์ ?จนในที่สุดก็เลยตัดสินใจร่วมทุนกันในปลายปี 2552? และได้ศึกษาอะไรหลายๆ อย่างจาก Rakuten และปัจจุบันธุรกิจของ Rakuten ก็ได้ขยายจากญี่ปุ่น ไปไต้หวัน แล้วก็มาไทย ไปอเมริกาที่ Buy.com แล้วก็ไปฝรั่งเศส แล้วก็ไปเมืองจีน ร่วมกับ Baidu ?ดังนั้นตอนนี้ TARAD มีทางที่จะลิงก์ไปต่างประเทศล่ะ

thumbsup: แล้วพอ Rakuten เข้ามา มันเปลี่ยนระบบอะไรของ TARAD ไปบ้าง? มันน่าจะเป็นเอาระบบญี่ปุ่นมาครอบ
ภาวุธ: ปีที่แล้วผมก็มีโอกาสไปญี่ปุ่นเพื่อไปดูและศึกษาการทำงานของ Rakuten เราไปเรียนรู้วิธีการทำงาน และการทำธุรกิจของเขามา แต่สิ่งที่น่าภูมิใจอย่างหนึ่ง คือระบบและเทคโนโลยีทั้งหมด เราพัฒนาโดยคนไทยเองทั้งหมด คือเรียนรู้ของเขาแล้วนำมาปรับให้เป็นในรูปแบบของเราเองโดยคนไทย คิดโดยคนไทย เรามีระบบและเทคโนโลยีของเราเองมาก่อนหน้านี้แล้ว การพัฒนาและต่อยอดเราเลยใช้ของเราต่อ โดยใช้ความรู้จากทางญี่ปุ่นมาเสริม

thumbsup: ญี่ปุ่นไม่มีปัญหาที่เราไม่ใช้ระบบหลังบ้านของเขา?
ภาวุธ: ไม่มี คือก่อนหน้าที่ TARAD จะร่วมกับเขา ระบบและเทคโนโลยีของเราเดินมาไกลระดับหนึ่งแล้ว บางอย่างเรานำหน้าเขาด้วยซ้ำไป เคยลองเปรียบเทียบต้นทุนดูแล้วมันไม่คุ้มที่จะเปลี่ยนแพลตฟอร์ม

 

 

thumbsup: เห็นคุณเคยเขียนบล็อกว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงปฎิวัติอีคอมเมิร์ซ มันคืออะไร?
ภาวุธ: หลังจากร่วมทุนกับญี่ปุ่น ผมก็ประกาศว่าพวกเราจะ?”ปฏิวัติอีคอมเมิร์ซเมืองไทย” และหลังจากที่ TARAD.com ได้เปิดตัวโมเดลอีคอมเมิร์ซใหม่นี้ไป 4-5 เดือน ก็สามารถกระตุ้นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ?? รายอื่นๆ เริ่มมาดำเนินธุรกิจแนวทางเดียวกับ TARAD จากเดิมทุกคนไม่เคยมาดูโปรโมชั่นลดราคา ทุกคนก็กระโดดลงมาทำบ้าง คนก็เริ่มซื้อ และลองซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทุกคนหันมาทำตามกันหมด แต่เราถือธงนำไปก่อน ฉะนั้นการปฎิวัติกำลังเริ่มขึ้นแล้ว แต่การปฎิวัติทำคนเดียวไม่ได้หรอก ต้องไปด้วยกันทั้งอุตสาหกรรมและต้องอาศัยมวลชน แต่บางอย่างเราก็ต้องนำให้คนอื่นตาม พอทุกคนเปลี่ยนแปลง ทั้งอุตสาหกรรมก็ยกระดับตามไปด้วย

ตัวผมเองได้มีโอกาสคุยกับ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ผมบอกเลยว่า ตอนนี้พวกเราไม่ได้แข่งกับคนไทยด้วยกันเอง แต่เราต้องแข่งขันกับต่างชาติที่เข้ามาขายสินค้าผ่านเว็บ แล้วดึงเงินคนไทยให้ไปซื้อของจากเว็บต่างประเทศอย่างง่ายดาย สินค้าที่ควรจะซื้อกับผู้ประกอบการไทย ดันกลายไปซื้อของร้านค้าเมืองนอกแทน ดังนั้นเรามาช่วยกันทำให้อีคอมเมิร์ซเมืองไทยมันแข็งแรงกันดีกว่า เพราะยิ่งการค้าขายออนไลน์ของคนไทยแข็งแรง ธุรกิจร้านค้า SME ของไทยก็จะแข็งแรงไปด้วย

อย่างบางคนบอกภูมิใจซื้อหนังสือ Amazon? ถูกจังเลย แต่หากมามองดูอีกมุม ประเทศชาติและธุรกิจร้านหนังสือในประเทศเราไม่ได้อะไรเลย ดังน้ันการทำให้ธุรกิจขนาดเล็กของไทยโตในช่องทางออนไลน์จะช่วยปกป้องและ ทำให้ผู้ประกอบการมีช่องทางขายกับคนไทยด้วยกันเองมากขึ้น ?คนไทยก็จะซื้อของคนไทยด้วยกันเองมากขึ้น ลดการจ่ายเงินออกไปยังต่างประเทศด้วยเช่นกัน รวมถึง TARAD.com ที่จะพาผู้ ประกอบการไทยออกไปค้าขายกับต่างประเทศ ผ่าน Rakuten ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ไปจีน ไปอเมริกามีหมด นี่คือสาเหตุหลักที่เราร่วมกับ Rakuten ตอนนี้หน้าที่เราคือต้องให้คนประเทศอื่นๆ หันมาซื้อสินค้าเมืองไทย

thumbsup: แล้วการปฎิวัตินี่คุณได้แจกแจงรายละเอียดออกมาอย่างไร?
ภาวุธ: เราจะปฏิวัติิจาก 2 มุม คือ มุมผู้ซื้อ และมุมผู้ขาย เริ่มจากมุมผู้ขาย… เมื่อก่อน TARAD.com จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้เปิดร้านค้ากันเองมาสิบกว่าปี มีช่วยบ้างคืออบรม แต่หลังจากเปิดร้านค้าแล้ว ผู้ค้าและผู้ซื้อก็ทำการซื้อขายกันเองแต่เงินไม่ได้ผ่านเรา มีหลายร้านค้าที่ขายได้ดี แต่ก็มีหลายร้านค้าที่ขายไม่ดี ?แต่หลังจาก TARAD ร่วมกับทางญี่ปุ่น เราก็ได้เปิดระบบอีคอมเมิร์ซรูปแบบใหม่ ที่ชื่อว่า “Premium Mall” ขึ้นมา มันมีจุดเด่นคือ มีระบบผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับผู้ที่เปิดร้านขายของ มีระบบคุ้มครองผู้ซื้อ ระบบช่วยเหลือการค้า อันนี้คือโมเดลที่เรานำมาจาก Rakuten

ในมุมผู้ซื้อ ช้อปปิ้งคือความบันเทิง คนส่วนใหญ่ไม่กล้าซื้อของออนไลน์เพราะไม่มั่นใจ เราเลยบอกกับผู้ซื้อว่าเรามาด้วย Buyer protection ถ้าซื้อแล้วไม่ได้ของ TARAD ยินดีคืนเงินให้คุณเลยสูงสุด?50,000 บาท? มีบริษัทหลายแห่งที่มาเปิดร้านขายสินค้ากับเราแล้วยอดขายโตเป็น 1,000% เช่นร้านขายนาฬิกาแห่งหนึ่ง จากเดือนนึงรายได้เดือนละไม่กี่หมื่นบาท จนเป็นเกือบล้านบาทต่อเดือน นี่ทำคนเดียวนะ ต่อมาคือซื้อง่ายจ่ายสบาย TARAD ก็เลยบอกว่า Premium Mall ซื้ออะไรเกิน 3,000 ผ่อนได้หมดทุกชิ้น เช่น อยากซื้อสมาร์ทโฟน HTC Mozart 17,900 บาท ผ่อนได้ 10 เดือน ดอกเบี้ย 0.8% บางครั้งมี 0% ด้วย และนอกจากนี้ยังสามารถชำระผ่าน Counter service โอนเงิน บัตรเครดิต Paypal, Paysbuy, mPay คือซื้อได้ง่าย

 

 

thumbsup: ย้อนกลับมามุมผู้ขายหน่อย ทำไมร้านค้าถึงขายได้ดี?
ภาวุธ: รูปแบบการขายของออนไลน์ของคนไทยเมื่อก่อน ส่วนใหญ่จะแค่นำสินค้ามาแสดงไว้ที่หน้าเว็บไซต์เท่านั้น ไม่มีการทำโปรโมชั่นหรือส่วนลดอะไรเลยทำให้ไม่มียอดขายเกิดขึ้น ?ซึ่งจริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่ที่ซื้อของ เพราะมีโปรโมชั่นส่วนลด เช่น ช้อปที่นี่ลดทั้งมอล ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง ลด 50% น้ำหอม เอาร้านค้ามาขายแข่งกันแบบแบตเทิ้ลเซลส์ คือ เราจะมีการจัดโปรโมชั่นอยู่ตลอด เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าอยากจะซื้อ รวมถึงการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องอเพื่อดึงคนเข้ามาซื้อสินค้า เช่น การอีเมลไปหาลูกค้า เพื่อทำให้คนเข้าเว็บมากขึ้น ยอดขายเพิ่ม ผู้ซื้อเพิ่ม คนคอยตามโปรโมชั่น เราก็เริ่มเอา Wellcome Tablet A800 มาทำโปร มีคนซื้อแล้วบอกว่าช่วยจัดทุกๆ เดือนนะ มีบางร้านเคยมีหน้าร้านมีปัญหากับพื้นที่ในห้าง เลยยกเลิกหน้าร้านในห้างแล้วย้ายมาเปิดหน้าร้านออนไลน์กับ TARAD.com ?ผลปรากฏว่าไม่กี่เดือนยอดขายหน้าร้านออนไลน์ขายได้ดีกว่าตอนมีหน้าร้านในห้างอีก นี่คือยุคของอีคอมเมิร์ซมาถึงแล้ว

thumbsup: เห็นว่ามีการกระตุ้นด้วยระบบสะสมแต้มคล้ายๆ บัตรเครดิตด้วย?
ภาวุธ: เมื่อลูกค้าซื้อสินค้ากับ Premium Mall ก็จะได้แต้มสะสม โดยซื้อร้อยนึงได้ 1 แต้ม หรือ ทุก 1% ของการสั่งซื้อคุณจะได้แต้ม 1 แต้มเท่ากับ 1 บาท เท่ากับว่า ถ้าซื้อหมื่นนึงไปซื้อของใน TARAD จะได้เงินคืนกลับมา 100 บาท อย่างผมเองยังซื้อสินค้าใหญ่อย่าง ซื้อทีวี ตู้เย็น ในเว็บด้วยตัวเอง เราใช้เองแล้วมันก็เวิร์ค ?สินค้าหลายๆ ตัวมาน่าซื้อมาก เพราะมันถูกว่าและมีหลากหลายจริงๆ

thumbsup: ขายของเก่งจริงๆ นี่คือคุณกำลังจะบอกว่าถ้ามาขายกับ TARAD ยอดเพิ่มแน่นอน?
ภาวุธ: คือเราการันตีให้ แต่ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองด้วย ถ้าถ้าหากว่าทำตามที่เราแนะนำอย่างเคร่งครัด ยอดขายสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วแน่นอน และในฝั่งผู้ซื้อ เราจะปฎิวัติผู้ซื้อตรงที่ร้านค้าที่เราเลือกมาอย่างดี ของก๊อบเราไม่มี ถ้ามีเราเตะ (ผู้ประกอบการที่โกง) ออกเลย ฝั่ง Merchant เราจะมีที่ปรึกษาให้หนึ่งคน เป็น E-Commerce Consultant (ECC) คนๆ นี้จะเป็นที่ปรึกษา จะวิเคราะห์ให้คุณหมดเลย อยากได้ยอดขายเท่านี้ ต้องทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ลงโฆษณาไปเรื่อยๆ แล้วเผื่อจะได้ตามเป้าที่ฝันไว้ เราเป็นคนสร้างโอกาสให้ลูกค้า แต่จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน อยากได้เท่าไหร่ ต้องลงมือทำอะไรบ้าง ในส่วนของผู้ซื้อก็เช่นกัน ถ้าซื้อแล้วไม่ได้ของเราการันตีจ่ายเงินให้เลย แถมช่องทางการจ่ายเงิน 7 ช่องทางทำได้สะดวกสบายมากขึ้นแล้ว โปรโมชั่นลดกระจุย นี่ทำให้คนกล้าซื้อมากขึ้นตัวเลขถึงขึ้นเยอะ

thumbsup: คล้ายๆ กับคณิตกรในบริษัทประกัน
ภาวุธ: ใช่เลย นี่คือสิ่งที่อยู่ในหัวชาว TARAD ทุกคนมีเป้าหมายสูงสุดคือ ทำอย่างไรให้ร้านค้าขายได้มากที่สุด และ “เปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วยอีคอมเมิร์ซ” ใน ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา?เรากล้าบอกว่าเราสามารถทำให้คนไทยซื้อของออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตโตเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนคนส่วนใหญ่เลือกการโอนเงินผ่านธนาคารเป็นหลัก นี่เป็นอีกก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทย และการปฏิวัติประเทศไทยด้วยอีคอมเมิร์ซ

thumbsup: ไม่มี Rakuten คุณจะเปลี่ยนเมืองไทยได้ไหม?
ภาวุธ: “ได้ แต่ช้า” คือการที่ Rakuten เข้ามาทำให้เราคิดได้ ไม่งั้นเราคงไม่กล้าเปลี่ยนไปคิดว่าเราจะไปเก็บรายได้จากร้านค้า เราก็จะคิดว่าคนไทยไม่กล้าจ่ายเงินออนไลน์หรอกจริงไหม เราถูกปลูกฝังกันมาว่า เฮ้ย! ทำไงให้เขาโอนเงินมาก็พอ คือเหมือนกับเราต้องบิดทัศนคติเรา ท้ายสุดมันทำได้ มี Rakuten เข้ามา มันก็เปลี่ยนไปเลย รู้เลยว่าเราจะไปยังไงต่อ Go for it

thumbsup: ไม่เสียใจเหรอที่เขาเปลีี่ยนแค่ทัศนคติเอง ของอย่างนี้มันเปลี่ยนได้เลย ไม่ต้องขายก็ได้?
ภาวุธ: การที่คนเราจะเปลี่ยนทัศนคติมันยากนะ จากเดิมที่เราเชื่ออย่างนี้มาตลอด เชื่อเรื่องการโอนเงิน แต่พอ Rakuten เข้ามาทำให้เราเชื่อได้ว่ายังไงโมเดลบริการมันมาแน่นอน ถ้า TARAD ไม่เปลี่ยนวันนั้นก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

 

หลังจากที่คุยกันเรื่องปฎิวัติวงการอีคอมเมิร์ซ ตามที่เจ้าตัวพยายามจะบอกกับทุกๆ คนเหลือเกิน เราก็หยุดพักกันสักครู่ ผมเดินแวะไปคิดประเด็นต่อ ส่วนภาวุธก็หยุดเดินไปคุยงานกับทีมงานใน TARAD และสิ่งหนึ่งที่แวบผ่านเข้ามาในหัวก็คือ ThaiSecondhand.com เว็บไซต์แห่งแรกที่เป็นตลาดสินค้ามือสอง จนในยุคเมื่อสิบปีที่แล้วมีคนหลายคนเรียกเขาว่า “ป้อม มือสอง” ตามชื่อเว็บไซต์นั้น… และจากตรงนี้ล่ะ ที่เราพยายามจะเจาะลึกเข้าไปในใจของ “ภาวุธ” ให้เปิดเผยเรื่องที่เขาไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน และก็สำเร็จ…

thumbsup: เคยนึกไหมว่าจากสมัยเด็กๆ ทำ ThaiSecondhand.com เคยคิดว่าจะถึงขนาดนี้ไหม?
ภาวุธ: ไม่เคย มาได้ขนาดนี้ก็บุญแล้ว แต่พอมาถึงขนาดนี้แล้ว มันก็ต้องไปไกลกว่านี้

thumbsup: อะไรที่เปลี่ยนคุณมาได้ขนาดนี้
ภาวุธ: มันเป็นจังหวะชีวิต จริงๆ การเริ่มต้นเปิด ThaiSecondhand.com, การได้ไปเรียนปริญญาโทอีคอมเมิร์ซ เพราะเพื่อนบอกให้ไป เราก็ลองไปสมัครเล่นๆ วันนั้นก็เมาไปสอบ เราเด็กสถาปัตย์อ่านไม่รู้เรื่อง ดันสอบติดก็ต้องเรียน เป็นจังหวะชีวิต และมันเป็นความชอบของเรา หรือการได้เข้าไปเข้าร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กับ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย? มันเป็นจังหวะชีวิตที่น่าเหลือเชื่อนะ

thumbsup: ถามจริงๆ เถอะ ที่ผ่านมาก่อนเจอ Rakuten มีคนอยากซื้อ TARAD กี่คน
ภาวุธ: เป็นสิบๆ มีตั้งแต่ดีลกันครั้งแรกเมืองนอกก็จะมีจากสิงคโปร์ เป็น Angel fund เข้ามา จากญี่ปุ่นก็มีโนโมมูระ จาฟโก มีกลุ่มชิน 2 สองรอบ มีกลุ่มสามารถ กลุ่มฟรีวิล กลุ่ม CP ทิสโก้ ดีลมาหมดแล้ว แต่ละครั้งที่ดีลเข้ามาทำให้เราเก่งขึ้น ทำให้เรารู้ว่าไอ้เว็บไซต์ที่เราทำเล่นๆ อยู่เนี่ยสามารถทำให้กลายเป็นธุรกิจได้ อย่างตอนร่วมทุนกับกลุ่มโมโน (เจ้าของ Mthai.com? และ 3BB) ซึ่งทำให้เรามีกำลังใจอย่างมากในการที่ทำให้เราก้าวเดินไปข้างหน้า เพราะเขาสนับสนุนด้านการเงิน และเปิดโอกาสให้เราทำอย่างเต็มที่ คือไม่มายุ่งกับเราเลย

 

 

thumbsup: แล้วตอนนั้นคิดมูลค่าจริงๆ ของ TARAD อยู่ทีเท่าไหร่
ภาวุธ: บอกไม่ได้ คือธุรกิจออนไลน์เป็นอะไรที่ประเมินค่าลำบากมาก ตอนนี้เรามี asset เยอะแยะไปหมด มีร้านค้า มีเรื่อง Brand ยังไม่มีใครออกมาทำตรงนี้ชัดเจน ดังนั้นที่พอทำได้คือในแง่ของ Business performance ไม่รวมถึงเรื่อง goodwill และ intangible asset จะว่าไปมันก็ไม่แฟร์กับธุรกิจออนไลน์ เพราะมันไม่ทำเงินน่ะ แต่มันได้ awareness ไม่งั้นคนไม่ลงทุนกับ Facebook, Twitter หรอก ยังไม่ต้องทำเงินมากมายก็ได้ แต่เมืองไทยไม่ใช่ ต้องดูกันที่ Business performance เป็นหลัก คือคุณทำเงินได้เท่าไหร่แล้วเอา convert กลับมาเป็นการประเมินค่า

thumbsup: คุณรู้สึกยังไงกับที่เว็บข่าวต่างๆ เล่นประเด็นข่าวเว็บไซต์เมืองนอกกันส่วนใหญ่
ภาวุธ: รู้สึกเสียใจ รู้สึกเจ็บใจน่ะ

thumbsup: ทำไม?
ภาวุธ: เมืองไทยก็มีข่าวเว็บไซต์ไทยให้เล่น แต่นักข่าวก็ไม่ค่อยลงข่าวเว็บไซต์ไทยเลย เราพูดถึงนักข่าวออฟไลน์ด้วยนะ คือคนทำเว็บเมืองไทยทำการตลาดและ PR กันไม่เป็น รวมถึงการทำเว็บไซต์ด้วย สิบปีก่อนทำเว็บกันยังไง ตอนนี้ก็ยังทำกันอย่างนั้น ทำคนเดียวโตคนเดียว หรือแค่กลุ่มเล็กๆ ไม่รู้จักขยาย และทำกันเป็นธุรกิจจริงๆ จัง หาคนเก่งๆ มาช่วยและลงทุน ลองดูสิเดี๋ยวนี้?เว็บไซต์ดังๆ หรือคนทำงานด้านออนไลน์ดังๆ เมื่อก่อนมีข่าวเต็มไปหมด ?ตอนนี้ไม่มีพื้นที่ข่าวแล้ว ทำไมไม่ออกมาให้ข่าว? ทำไมไม่ทำการตลาด? ทำไมไม่สร้างแบรนด์กันล่ะ?

แต่สำหรับเราไม่สน ?ตอนนี้ TARAD ปล่อยข่าวตลอดเลย ตอนนี้ทำอะไรต้องมีข่าว ร่วมกับ KBank ก็ปล่อยข่าวเลย หรือ?ล่าสุด เปิดตัว TARAD on Facebook แล้วเราทำข่าวออกไปง่ายๆ แต่เนื่องจากสิ่งที่เราพูดไปมันอยู่ในกระแสพอดีอย่าง Facebook ?สื่อต่างๆ ก็สนใจและก็ช่วยกันลงเต็มไปหมดเลย ทำให้ TARAD มีพื้นที่ข่าวอยู่ตลอดเวลา มันเกิดจากตัวเราเองด้วยและจังหวะของการนำเสนอข่าว?ทีมงานผมเคยเจอพี่ดนัย จันทร์เจ้าฉาย (ผู้บริหาร DC Consultant) ถามว่าเรามีใช้ทีมพีอาร์ที่ไหนอยู่ เก่งมาก เพราะมีข่าวอยู่บนหน้าสื่อตลอด เราก็ตอบไปว่า เราไม่มี เราทำกันเอง

thumbsup: งั้นเวลาคุณไปพูดเกี่ยวกับ Social Commerce ตามงานต่างๆ คุณก็มุ่งเน้นเรื่องพีอาร์มากกว่าจะบอกว่าคุณเป็น Social Business แล้ว?
ภาวุธ: (เงียบไป) เราไปแล้วระดับหนึ่ง… แต่บางอย่างเราต้องเอาภาพนำไปก่อน เช่น TARAD on Facebook ทำรายได้ให้เราได้หรือยัง? จริงๆ ยังหรอก แต่เป็นการลองก่อน?คือคนทำเว็บมันต้องมองออก มีพีอาร์สิงในตัวด้วย มีวิญญาณพีอาร์หน่อย บางทีเป็นข่าวได้ดีมากเลยนะ คือนักข่าวเขาอยากได้ข่าวอยู่แล้ว เราแค่ต้องเขียนให้เป็น ถ้าเรามีประเด็นดีๆ เช่น “Social Network” กำลังมา??หรืออย่างเทคโนโลยี Augmented Reality ของ TARAD เราก็ทำเป็นคนแรกๆ ลองดูถ้าคุณลองเปิดแอพพลิเคชั่น Layar บน iPhone หรือ Android ?จะเห็นเลย TARAD เริ่มทำคนแรก

ปรากฏว่าพอเราเริ่นต้นทำอะไรใหม่ๆ คนแรกๆ หลังจากนั้นไม่นาน เราก็พบว่า ชาวบ้านหรือคนอื่นๆ ก็เริ่มทำตาม คนไทยแปลกน่ะ ต้องมีคนเริ่มอะไรใหม่ๆ ก่อน แล้วคนอื่นๆ ถึงจะเริ่มกล้าเดินตาม เป็นประเภท “มึงมีกูมี” ?เราก็เลยคุยกับในทีมว่าต่อไปนี้ เราจะเป็นผู้นำเทรนด์ของเทคโนโลยี เทคโนโลยีใหม่ๆ ?TARAD จะเริ่มเข้าไปศึกษาและทำมันออกมา ทำให้คนอื่นๆ เห็นว่า “มันทำได้ ไม่ยาก” เพื่อให้คนอื่นๆ เกิดแนวความคิดในการพัฒนาเช่นเดียวกัน และเมื่อคนไทยก้าวตามเทคโนโลยีใหม่ๆ กันมากๆ การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีก็จะเติบโตขึ้น ประเทศไทยก็เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน เราทำเรื่องนี้มากันมาสักพักหนึ่งแล้วล่ะ นี่คือส่วนหนึ่งของการปฎิวัติด้านเทคโนโลยีของอีคอมเมิร์ซอย่างหนึ่ง

thumbsup: คุณเห็นด้วยไหมว่าคำว่า “Social Commerce” เท่กว่า “E-Commerce”?
ภาวุธ: เห็นด้วยถ้าในเชิงข่าวนะ ถ้าตอนนี้พูด Social Commerce ไปมันทำให้หนังสือน่าอ่าน มันอยู่ในกระแส มากกว่าคำว่า E-Commerce มันทำให้คุณค่าในพื้นที่เขาเพิ่มขึ้น อย่างเราเขียนวิเคราะห์เรื่อง? E-Commerce สักเรื่องนึง เขียนจบแล้วยังต้องมาเติมคำว่า “Social” เข้าไปสักคำนึง กลัวมันไม่ได้ลง เพราะเราลงไปในหน้า Social Network? ของกรุงเทพธุรกิจ ก็เลยต้องมี? “Social” สักคำนึง

thumbsup: เห็นว่านอกจาก TARAD แล้วคุณก็ยังมีอีกบริษัทนึง
ภาวุธ: ใช่ครับ ก่อนหน้านี้ในบริษัท TARAD.com มีหลายหน่วยงานภายในมาก แต่หลังจากร่วมกับ Rakuten ก็เลยต้องแยกหน่วงงานที่เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ กับส่วนที่ไม่เกี่ยวออกมาแยกไปเป็นอีกบริษัท ที่ชื่อว่า “TARAD Solution” ทำงานด้านการตลาดออนไลน์ให้กับธุรกิจองค์กรต่างๆ โดยให้คุณเอ็ม (ภรรยาของภาวุธ) ช่วยดูแลและบริหาร ซึงอีกบริษัทนี้เราเป็นเจ้าของ 100% เป้าหมายคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจไทย ในการนำการตลาดออนไลน์มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับธุรกิจ

thumbsup: หมายความว่าต่อไปคุณจะขาย 37% ที่เหลือ?
ภาวุธ: ไม่หรอก อย่างที่บอกไปตอนแรกคือเราจะทำให้มันโต เป้าเราคือเข้าตลาดหลักทรัพย์เหมือนเดิม

thumbsup: ทำไมต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่เข้ามันก็เติบโตได้
ภาวุธ: มันฝังอยู่ในหัวว่า “อยากเข้า” มันเป็นเหตุผลนี้เลย เพราะสมัยก่อนดอทคอมบูมมาก เราก็ฝันนะ อยากได้ Venture Capital? จนวันนึง เราทำทุกอย่างจนได้เงินมาจากกลุ่ม Mono Technology 3 ล้าน ได้มาแล้ว เหมือนเราทำบรรลุเป้าหมายแล้ว ความท้ายทายมันก็หายไป มันก็ไปเรื่อยๆ ไม่ท้ายทาย เราเลยมาตั้งเป้าให้กับตัวเองใหม ว่าจะก้าวต่อไปถึงตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้าเราไม่มีเป้าหมาย ?Passion? เราก็จะหายไป อย่างตอนนี้เราก็มีเป้าใหม่ว่า “เราจะเปลี่ยนประเทศไทย” เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน เปลี่ยนโมเดลอีคอมเมิร์ซจากแพลตฟอร์มเป็นบริการ ซึ่งอีคอมเมิร์ซเรามีทุกอย่าง มันเป็นมากกว่าหน้าร้าน เป็นมากกว่าแค่แพลตฟอร์ม เราต่างจากชาวบ้านเขาเยอะ

. . . . .

เวลาล่วงเลยผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง ผมนั่งคุยกับภาวุธต่อถึงหลายประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตไทย เรื่องการลงทุนในธุรกิจนี้ (ที่เขาไปลงทุนไว้ในหลายๆ เว็บไซต์) รวมถึงเรื่องประเด็นอื่นๆ ประปราย ทำให้ผมได้รู้จักธุรกิจที่เขาทำตลอดจนสิ่งที่เขาคิด และกำลังจะเดินหน้าทำให้ TARAD.com เดินหน้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ – โกอินเตอร์ พาผู้ประกอบการไทยบุกตลาดโลก

“เรายังมีอะไรต้องทำอีกเยอะ อีคอมเมิร์ซไทยยังต้องโตอีกมาก” คือคำพูดท้ายสุดของวันนี้ที่ภาวุธฝากไว้กับวงการอีคอมเมิร์ซไทย