Site icon Thumbsup

ร้านพิซซาจุดกระแสโซเชียลน่าทึ่งเมื่อโป้ปเยือนอเมริกา

pizza-pope-hed-2015
#pizzapope คือหนึ่งใน hashtag ที่ถูกใช้งานร้อนแรงที่สุดบนโลกโซเชียลอเมริกันช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพพิซซ่าหน้าโป๊ปฟรานซิสถูกส่งต่อจนทำให้ชื่อร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งในนิวยอร์กถูกกล่าวขานไปทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนต่อเนื่องถึงสุดสัปดาห์ ถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจอีกทางจากการเสด็จเยือนอเมริกาครั้งแรกของโป๊ปฟรานซิสที่ไม่ธรรมดา

บริษัทโฆษณาดิจิทัล Amobee Brand Intelligence ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Adweek ว่าจำนวนข้อความ tweet ของชาวอเมริกันที่เกี่ยวกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสซึ่งอยู่ระหว่างการเสด็จเยือนอเมริกาครั้งแรกเป็นเวลา 6 วันตั้งแต่ 23 กันยายนที่ผ่านมานั้นมีมากกว่า 1.8 ล้านข้อความแล้ว ในจำนวนนี้รวมข้อความไม่น้อยที่ติดแท็ก #pizzapope พร้อมกับแสดงภาพพิซซ่าที่ร้าน Bleecker Street Pizza สร้างสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษจนกลายเป็นไวรัลในพริบตา

Bleecker Street Pizza เป็นร้านพิซซ่าในย่าน Greenwich Village เมืองนิวยอร์ก ปิ๊งไอเดียเสิร์ฟพิซซ่าหน้าโป๊ปออกมาเสิร์ฟลูกค้าในช่วงที่ผู้นำศาสนจักรคาทอลิกเสด็จเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ โดยชีสรีคอตต้า มอซซาเรลลา สัปปะรด พริกหวาน แตงกวาดองและมะเขือเทศถูกนำมาเรียงเป็นภาพเหมือนของโป๊ปอย่างสะดุดตา

แรงบันดาลใจของไอเดียนี้มาจากคำให้สัมภาษณ์ของบาทหลวง Father Hernan Peredes คุณพ่อซึ่งระบุกับสำนักข่าว FOX 5 News ใน New York City ว่าโป๊ปฟรานซิสตั้งใจจะลิ้มรสพิซซ่าสักชิ้นใน New York City ดังนั้น ผู้จัดการร้าน Tony Salihaj และทีมงานจึงตัดสินใจใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมง ในการปรุงพิซซ่าสุดพิเศษนี้

Salihaj ระบุว่าเวลานาน 5 ชั่วโมงทำให้เขาและทีมไม่สามารถผลิตพิซซ่าเพิ่มอีกแม้จะได้รับข้อเสนอเงินมากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ แถมยังมีคำสั่งให้ผลิตอีก 30 ชิ้น แต่ทั้งหมดก็คุ้มค่าเพราะชื่อของร้าน Bleecker Street Pizza และภาพพิซซ่านี้ขจรขจายเป็นไวรัลไปทั่วโลก

นอกจาก #pizzapope การสำรวจของ Amobee พบว่าการเยือนสหรัฐอเมริกาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสนั้นสร้างกระแสที่ไม่ธรรมดาบน Twitter โดยคำว่า ”Pope Francis” ถูกกล่าวถึงหรือ mention ในข้อความมากกว่า 177,633 tweet ขณะที่ #PopeInDC ถูกติดไปกับข้อความมากกว่า 117,765 ครั้ง (ข้อมูลถึง 13.00 น. วันศุกร์ที่ 25 กันยายนตามเวลาสหรัฐฯ)

สำหรับ #PopeInNYC ถูกติดในข้อความ 110,169 tweet โดยทั้งหมดมีการศึกษา sentiment พบว่าราว 21% กล่าวถึงในแง่บวก ขณะที่ 12% กล่าวถึงในแง่ลบ และ 67% เป็นกลาง

ที่มา : Time และ Adweek