Site icon Thumbsup

ภาพรวม “มาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินของไทย”

เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งใหญ่ส่งท้ายเดือนสิงหาคม นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กับการแถลงข่าวการผลักดันระบบการชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐานมาใช้ในการชำระเงินในประเทศไทย คาดพร้อมใช้ได้ทั่วไปในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ 

โดยภายในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น คับคั่งไปด้วยตัวแทนจากผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรอย่าง American Express, JCB International, VISA, Mastercard และ UnionPay รวมถึงธนาคารต่าง ๆ ที่มาเปิดบูธสาธิตรูปแบบการรับชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐานของตนเองกันอย่างคึกคัก ไม่เว้นกระทั่งกลุ่ม Non-Bank เช่น Rabbit LINE PAY, mPay ฯลฯ ที่ต่างมาร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน

ในการพัฒนาบริการชำระเงินด้วย QR Code นี้ ธปท. ได้เปิดให้ธนาคารและผู้ให้บริการเสนอโครงการเข้าพิจารณาใน Regulatory Sandbox เพื่อทดสอบให้มั่นใจในความถูกต้องของการทำรายการ และการดูแลผู้ใช้บริการ ซึ่งมีธนาคาร 2 แห่งอยู่ระหว่างการทดสอบแล้ว ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ และมีอีก 6 แห่งที่อยู่ระหว่างยื่นคำขอเข้าโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน ธนาคารธนชาติ และธนาคารทหารไทย

สำหรับข้อดีของการมี QR Code มาตรฐานเพื่อการชำระเงินนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยว่ามี 4 ประการ นั่นคือ

  1. เป็นมาตรฐานเดียวกันกับมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงและใช้งานร่วมกันได้ ทั้งรายการชำระเงินจากในประเทศและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ร้านค้าในไทยมี QR code เดียวก็สามารถรับชำระเงินจากลูกค้าชาวจีนได้ เช่นนี้เป็นต้น
  2. QR Code มาตรฐานช่วยเพิ่มช่องทางการรับเงินที่มีต้นทุนต่ำและสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งบางส่วนในอดีตอาจไม่มีทุนทรัพย์มากพอจะซื้อเครื่องรูดบัตรมารับชำระเงินจากลูกค้า
  3. เพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงิน เพราะเจ้าของบัตรไม่ต้องให้บัตรหรือข้อมูลบนบัตรแก่ร้านค้า และระบบงานที่รองรับเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงมีความปลอดภัย
  4. สามารถนำไปต่อยอดได้มากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงประกอบการขอสินเชื่อ เพราะสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มอนุญาตให้ใช้ข้อมูลการชำระเงินเป็นข้อมูลอ้างอิงแทนสินทรัพย์ในการขอสินเชื่อได้แล้ว ซึ่งในจุดนี้ SME จะได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ต้องวิ่งหาหลักประกันเพียงอย่างเดียว

เปิดตัว “สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย”

ภายในงานเดียวกันยังได้มีการแถลงข่าวเปิดตัว “สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย” (Thailand EPayment Trade AssociationTEPA) อย่างเป็นทางการ หลังจากได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้ามาตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา 

โดยวัตถุประสงค์ของ TEPA เพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ตลอดจนเจรจาทำความตกลงในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกซึ่ง ณ ปัจจุบัน ทางสมาคมมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 16ราย ทั้งบริษัทที่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงบัตรโดยสาร eMoney ซึ่งประกอบไปด้วย:

1. บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด
2. บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด
3. บริษัท เพย์สบาย จำกัด
4. บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด
5. บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด
6. บริษัท ทีทูพี จำกัด
7. บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
8. บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด
9. บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)​
10. บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด
11. บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด
12. บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด
13. บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน)
14. บริษัท บลูเพย์ จำกัด
15. บริษัท โอมิเซะ จำกัด​
16. บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ TEPA จะเข้ามาช่วยให้ความรู้กับผู้บริโภคไทยและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคอยกำกับดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางธนาคารแห่งประเทศไทยและนโยบายภาครัฐ และจะคอยเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมธุรกิจชาวไทยด้วยอีกทั้งการอยู่ในรูปของสมาคมก็จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจในการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับผู้บริโภคไทยมากขึ้นด้วย